แก้คอร์รัปชัน: ยากเป็นง่าย ถ้าประชาชนร่วมมือ

แก้คอร์รัปชัน: ยากเป็นง่าย ถ้าประชาชนร่วมมือ

2 อาทิตย์ก่อน ผมเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกลุ่มสยามแล็บ

เรื่องการศึกษาการต่อต้านการทุจริต รับฟังการบรรยายจาก ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่มองย้อนอดีตว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นและความพยายามแก้ไขปัญหาได้อยู่กับสังคมโลกมาช้านาน บันทึกครั้งแรกก็เมื่อ 1,700 ปีก่อนคริสตกาล ในกฎหมาย Hammurabi Code ที่พูดถึงคอร์รัปชั่นและการเอาผิดลงโทษ ที่อินเดีย ในเอกสารอรรถศาสตร์ Arthashastra ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นศาสตร์การปกครองประเทศ ก็พูดถึงความท้าทายที่จะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานให้พระเจ้าแผ่นดิน มีหน้าที่เป็นผู้รับใช้แผ่นดิน ฉกฉวยสมบัติรัฐเป็นของตัวเอง เปรียบเหมือนมีน้ำผึ้งมาแตะที่ปลายลิ้นก็ยากที่จะไม่ยอมลิ้มรสดู

ในบางเรื่อง เช่น การให้ของขวัญ การตอบแทนบุญคุณด้วยสินน้ำใจ ก็ยากที่จะบอกอันไหนเป็นสินบน ที่ตั้งใจโกง อันไหนเป็นสินน้ำใจที่บริสุทธิ์ เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำไม่สามารถบอกได้ว่า ได้กลืนกินน้ำเข้าไปบ้างหรือไม่

ปัจจุบัน คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมโลก ล่าสุดองค์กรเพื่อความโปร่งใส รายงานว่า ไม่มีประเทศใดปลอดจากคอร์รัปชั่น แต่ก็มีประเทศจำนวนมากที่สามารถควบคุมปัญหาได้ มีคอร์รัปชั่นน้อยจนเป็นที่ยอมรับ เช่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย และก็มีประเทศจำนวนมากที่ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรง รวมถึงไทย ประเทศ 2 กลุ่มนี้ ชัดเจนว่า ประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นน้อยจะไปได้ดีกว่าในแง่การพัฒนาประเทศ ขณะที่ประเทศที่มีคอร์รัปชันมาก จะมีปัญหาไม่สามารถนำประเทศไปสู่ระดับที่สูงขึ้น เพราะมีคอร์รัปชันเป็นต้นทุนที่ฉุดรั้งความก้าวหน้า ไม่ใช่ความรู้ความสามารถของคนในสังคม แต่เป็นพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันที่คนในสังคมยอมให้เกิดขึ้น ไม่ร่วมกันแก้ปัญหา

มี 2 สาเหตุที่ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นแก้ยาก สาเหตุแรก การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ ไม่จริงจัง ซึ่งมาจากเจ้าหน้าที่รัฐที่รับใช้แผ่นดินกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคอร์รัปชั่นเสียเอง คือ หาประโยชน์จากการทำหน้าที่ ยอมให้การทุจริต การทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น ทั้งที่โดยหน้าที่ต้องห้ามปราม จับกุม ควรทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินแต่กลับไม่ทำ ยอมให้สิ่งที่ไม่ดีต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อแลกกับประโยชน์ที่ตนเองได้ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงนักการเมืองไม่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม คอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นได้ง่าย จนกลายเป็นธุรกิจ เป็นวิธีหาเลี้ยงชีพ คือ บริษัทเอกชนจับมือข้าราชการและนักการเมืองที่ทุจริต ใช้อำนาจตามหน้าที่ ทำนโยบาย หรือจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อฉ้อโกงทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง เกิดขึ้นให้เห็นอยู่เสมอ เช่น ในการให้สัมปทาน และการออกแบบนโยบายที่เอื้อต่อกลุ่มธุรกิจที่เป็นพวกพ้อง

อีกเหตุผลหนึ่ง คือ สังคมเองอ่อนแอ ยอมให้ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงขึ้นต่อหน้าต่อตา ไม่ยอมแก้ไขจนกลายเป็นพฤติกรรมร่วมของสังคม ที่สังคมดูเหมือนจะยอมรับและพร้อมอยู่กับปัญหา เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาคอร์รัปชั่นก็ยิ่งรุนแรงเพราะคนที่กล้าโกงจะได้เปรียบ สามารถใช้สินบนซื้อความผิด ซื้อความได้เปรียบทางธุรกิจ ซื้อความสะดวกสบายในการติดต่อราชการ ยิ่งในบ้านเราที่ระบบอุปถัมภ์มีอิทธิพลสูง สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงและแก้ยาก เพราะคนพร้อมจะช่วยกันทำความผิด พร้อมช่วยคนผิดให้พ้นผิด และที่แย่ที่สุด คือ พร้อมสรรเสริญคนผิด เพียงเพราะเขารวย ไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความร่ำรวย ยอมรับนับถือ จนกลายเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม ทำให้คนยิ่งกล้าทำผิดเพราะนอกจากจะรวยแล้ว ไม่ถูกจับแล้ว ยังมีคนสรรเสริญ มีหน้ามีตาในสังคม ในสังคมไทยเรื่องนี้ชัดเจน และเป็นความอ่อนแอ ทำให้คอร์รัปชั่นกลายเป็นบันไดไต่เต้าให้กับคน จากที่ไม่มีอะไรเลย กลายเป็นคนที่สังคมรู้จัก ร่ำรวย มีตำแหน่ง แม้จะโกงบ้านโกงเมือง

แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

การแก้คอร์รัปชั่น ต้องเริ่มที่การเปลี่ยนความเชื่อ(mind set) ของคนในประเทศว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้นแก้ไขได้ ถ้าจุดนี้ไม่มี ทุกคนก็จะไม่เชื่อว่า คอร์รัปชั่นแก้ได้ จึงไม่ยอมแก้กัน ไม่ยอมทำอะไร ปัญหาก็เลยยิ่งรุนแรง กลายเป็นปัญหาที่แม้ทุกคนไม่ชอบ ก็มีอยู่ในสังคม เพราะไม่มีใครคิดจะแก้ไข

ยิ่งถ้าดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ ในสังคมที่แก้ไขปัญหาได้ ลดทอนความรุนแรงได้ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียคล้ายๆ เรา และเคยมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงมาก่อน ยิ่งชัดเจนว่า ถ้าจะทำกันจริงจัง ปัญหาน่าจะลดทอนได้ และเงื่อนไขสำคัญที่ถอดเป็นบทเรียนของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันให้สำเร็จก็คือ

หนึ่ง ต้องมีผู้นำที่กล้าแก้ปัญหา เพราะถ้าผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศไม่จริงจัง ไม่เอาด้วย ทำพอเป็นพิธี หรือร่วมทุจริต ร่วมคอร์รัปชั่น การแก้ไขปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ในเกือบทุกประเทศที่แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้ ก็มาจากผู้นำไม่เอาจริง ไม่ได้เป็นผู้นำประเทศจริง เป็นแค่ในตำแหน่ง แต่อยู่ในอิทธิพลของกลุ่มคนหรือกลุ่มธุรกิจที่คอร์รัปชั่น ไม่สามารถทำอะไรได้ กลายเป็นเครื่องมือหรือหุ่นเชิดให้กับคนเหล่านี้

สอง ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็ง ไม่เอาด้วยกับคอร์รัปชั่น เพราะภาครัฐไม่พร้อมแก้ไขปัญหา ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมจึงต้องผลักดันให้ประเทศมีระบบการทำธุรกิจ ที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น และการทำนโยบายสาธารณะมีกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และประชาชนมีสิทธิมีเสียงที่จะให้ความเห็นและเปิดโปงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เหล่านี้ คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในสังคมที่ต้องการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเอง ต้องมาจากการผลักดันของสังคม คือ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม

สาม คนในสังคมไม่ว่าจะในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนต้องพร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นตัวอย่าง ไม่ยอมให้พฤติกรรมคอร์รัปชั่นมาเป็นใหญ่ในสังคม ยิ่งในสังคมที่ระบบอุปถัมภ์มีอิทธิพลสูง คนในสังคมอาจเกรงใจ หรือนับถือคนที่โกง ที่ทุจริต เพียงเพราะเขาให้ประโยชน์บางอย่างแก่ตนเป็นการส่วนตัว เช่น แบ่งปันให้ ช่วยทำบุญ ให้ความช่วยเหลือ กลายเป็นบุญคุณจนมองคนที่ทุจริตคอร์รัปชันเป็นคนดี นำไปสู่การสรรเสริญเยินยอ จนสังคมเกิดความสับสน และมีคำถามว่า คนโกงแต่เป็นคนดีมีหรือไม่

ความเห็นของผมในเรื่องนี้ คือ คนโกงก็คือคนโกง คนดีก็คือคนดี ต้องแยกกัน ไม่สามารถรวมหรือหักลบกันได้ เหมือนคนที่รวยจากการทำบาป แล้วนำเงินไปบริจาค ทำบุญช่วยเหลือผู้คนมากมายเพื่อหวังล้างบาป สร้างภาพ สร้างบุญคุณ โดยหวังใช้ปกป้องความผิดของตน เหล่านี้ไม่ใช่การทำบุญ เพราะตามหลักพุทธศาสนา การทำบุญ คือ 1.) ผู้ให้ ต้องให้ด้วยความจริงใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน 2.) ผู้รับต้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้รับ เพื่อนำทานเหล่านี้ไปสร้างประโยชน์ที่ถูกต้อง และ 3.) ทานที่ให้ต้องเป็นทานบริสุทธิ์ ไม่ใช่มาจากการเอาเปรียบสังคม ทำความผิด ฉ้อโกง หรือทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าสังคมให้ความสำคัญกับหลักเหล่านี้ คนที่ทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะไม่มีที่ยืนในสังคม เพราะคนไม่ยอมรับ รู้ทัน และจะอยู่ในสังคมได้ยาก

นี่คือพลังของสังคมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ขอฝากเป็นข้อคิดไว้