ผลิตภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ผลิตภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

จากแนวคิดประเทศไทย 4.0 ที่แนะนำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ด้วยการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี

ร่วมกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งบ้านเราไปไกลถึงขั้นมีโครงการส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์แขนกล iะบบอัตโนมัติเข้ามายกระดับการผลิต อย่างไรก็ดีมีการศึกษาพบว่าในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ผลิตภาพมีการเจริญเติบโตสูงขึ้นนั้น ในระดับเศรษฐกิจมหภาคกลับมิได้เป็นไปตามที่คาดหวัง (เกิด Productivity Paradox) โดยผู้เขียนจะสรุปย่อบางประเด็นจากเอกสารอ้างอิง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลให้ท่านทั้งหลายช่วยกันคิดต่อ เพราะชุดคำถามที่ตามมาคือ อะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้ผลิตภาพในระดับมหภาคยังไม่เติบโต แล้วนานเท่าไหร่หลังจากการลงทุนในดิจิทัลเทคโนโลยีที่จะส่งผลให้ผลิตภาพเติบโตเพิ่มขึ้น มีหนทางเร่งให้ได้ผลเร็วขึ้นหรือไม่ เป็นต้น

จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ประมาณพ.ศ. 2548 เป็นต้นมา การเจริญเติบโตของผลิตภาพมีแนวโน้มที่ลดลงโดยตลอด ทั้งในระบบเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นเช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น ตลอดจนประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างจีน อินเดีย บราซิล และเม็กซิโก โดยภาพรวมของโลกมีการเติบโตของผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) ลดลงจากปีละ 2.6% (ในช่วงปีพ.ศ. 2539-2549) เหลือปีละ 2.4% (ช่วงปีพ.ศ. 2550-2557) หากดูการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) ในช่วงเวลาเดียวกันยิ่งอาการหนัก คือลดลงจากปีละ 1.3% ลงมาเหลือเพียงปีละ 0.3% เท่านั้น สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2551-2552 และวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปปีพ.ศ. 2554-2555 ประกอบกับประเทศเศรษฐกิจใหม่ก็มีนโยบายและมาตรการกำกับดูแลที่เข้มข้น เพื่อป้องกันผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของผลิตภาพเช่นกัน ดังนั้นโจทย์ในการจะทำให้ GDP กลับมาเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องทำให้อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น อย่างน้อยก็ต้องให้สามารถชดเชยการชะลอตัวของอุปทานแรงงานอันเกิดจากจำนวนประชากรวัยทำงานลดลงได้ ฯลฯ

ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบสำหรับดิจิทัลเทคโนโลยีได้แก่ 1) ราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นคอมพิวเตอร์ และโปรแกรม 2)รูปแบบการลงทุนที่เปลี่ยนจากสินทรัพย์ดิจิทัลไปเป็นบริการดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น (จากระบบ Cloud) และ 3) บทบาทสำคัญของสินทรัพย์ฐานความรู้ (knowledge-based assets) สำหรับข้อ 1 และ 2 ในบริบทของไทยเราอาจไม่ค่อยมีผลต่อผลิตภาพมากนัก เพราะเราไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีสัดส่วนสูงอย่างมีนัยสำคัญต่อ GDP ของประเทศ จึงขอข้ามไปขยายความต่อเฉพาะข้อ 3 เท่านั้น โดย “สินทรัพย์ฐานความรู้” ที่สำคัญคือ สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible capital) อันเกิดจากการลงทุนใน software การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ลงไปในตัวสินค้าและบริการ รวมไปถึงสมรรถนะขององค์กรที่เกิดจากการให้ความรู้และการฝึกฝน ฝึกอบรมพนักงานให้มีขีดความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันสมัย (digital transformation) เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผลิตภาพไม่เติบตามต้องการ แม้ว่าส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจจะเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง แต่เศรษฐกิจก็ไม่โตอย่างที่คิด ย่อยลงมาถึงในระดับอุตสาหกรรม และระดับองค์กรก็ยังไม่เห็นผลกระทบของดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีต่อยอดขายและกำไรเท่าที่ควร เอกสารอ้างอิงได้อธิบายว่า จากรูปแบบวงจรชีวิตของนวัตกรรมรวมถึงประสบการณ์ในอดีต พบว่าการแพร่ของนวัตกรรมจะมี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการติดตั้ง (Installation Phase) และขั้นตอนการใช้งาน (Deployment Phase) ในขั้นตอนการติดตั้ง จะมีกลุ่มผู้นำ (first movers) ที่บุกเบิกนำนวัตกรรมอย่างดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของกลุ่มผู้นำที่จะประสบผลสำเร็จ และหากผ่านมาถึงช่วงปลายของระยะติดตั้งก็มักจะเข้าสู่ระยะ frenzy (บ้าคลั่ง) เพราะแทบจะทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจก็ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีกันหมด สภาพการแข่งขันในบริบทดังกล่าวจะชักนำไปสู่การลดราคาสินค้าและบริการ ทำให้ตลาดก็จะหดตัวลง เพราะราคาที่ลดลงและมีผู้เล่นบางรายที่ต้องล้มหายออกจากระบบเศรษฐกิจไป วงจรการแพร่ของนวัตกรรมก็จะหมุนกลับเข้าสู่การค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ อีก เพื่อมาสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านใหม่ หรืออาจหมุนไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งก็เป็นได้ ในเอกสารอ้างอิงนั้นเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการติดตั้งเท่านั้น จึงส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจยังไม่สามารถได้ประโยชน์ในการเพิ่มผลิตภาพตามที่คาดหวัง

ข้อแนะนำจากเอกสารอ้างอิงคือ 1)นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนให้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ 2)ใช้การลงทุนในบริการดิจิทัลแทนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้องค์กรเกิดความยืดหยุ่น สามารถนำเสนอสินค้าและบริการใหม่สู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่สามารถสร้างตลาดใหม่หรือสร้างอุปสงค์ใหม่ ๆ ในระบบเศรษฐกิจขึ้นมาได้ 3) เร่งสร้างสินทรัพย์ฐานความรู้ โดยเฉพาะด้านบุคลากร เพื่อให้มีขีดความสามารถและสมรรถนะในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งข้อนี้น่าจะเป็นจุดสลบ เป็นความท้าทายข้อใหญ่ของไทยเรา ตัวอย่างที่ชัดเจนตอนนี้ก็คือ อุปสรรคในการนำ big data analytics มาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเทคโนโลยีนี้ต้องใช้พนักงานที่มีขีดความสามารถและสมรรถนะของดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเพียงพอ มีทักษะในการวิเคราะห์และนำเสนอผลการวิเคราะห์ให้เกิดความเข้าใจจนสามารถนำไปใช้งานได้จริง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการกำกับดูแลและรักษาข้อมูล การปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันสมัยอีกด้วยฯลฯ

การลงทุนพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งยวด หากเราไม่สามารถทำจุดนี้ได้ การลงทุนทั้งในภาครัฐอย่างโครงการรัฐบาลดิจิทัล 3-4 หมื่นล้านบาท หรือในภาคเอกชนอีกนับแสนล้านบาท แทบจะไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ไม่สามารถสร้างผลให้ผลิตภาพของประเทศให้เติบโตได้ แล้วอาจจะเกิดโครงการแบบเสาโฮปเวลที่ใช้งานไม่ได้อีกมากมายเป็นอนุสรณ์ ประการสำคัญ ดิจิทัลเทคโนโลยีเกือบทั้งหมดเราซื้อเขามาทั้งนั้น แทบจะไม่มีส่วนไหนที่เราผลิตได้เองเลย อย่างไรก็ดีในเอกสารอ้างอิงยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากที่ไม่สามารถนำมาอธิบายแบบสั้น ๆ ณ ที่นี้ได้ จึงอยากชวนท่านทั้งหลายไปอ่านเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง:

Bart van Ark, (2016), The Productivity Paradox of the New Digital Economy, International Productivity Monitor, 31, 3-18

โดย... 

ดร.ทนุสิทธิ์ สกุณวัฒน์

[email protected]