'บล็อกเชน-เอไอ' ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ช่วยบริหารจัดการพลังงาน

'บล็อกเชน-เอไอ' ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ช่วยบริหารจัดการพลังงาน

แวดวงธุรกิจพลังงานต่างก้าวไปข้างหน้าจนถึงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ออกแบบภายใต้แนวคิดระบบโครงข่ายอัจฉริยะ

หากเราจะพูดถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวทันการปรับตัวในยุค 4.0 แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่มาแรงมากในช่วงเวลานี้คงหนีไม่พ้น “บล็อกเชน” ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภท 

สำหรับหัวข้อในวันนี้จะขอพูดถึงรากฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ได้มีการนำบล็อกเชนเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว นั่นก็คือการสร้างระบบการบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้า (Energy Management System) ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจนั่นเอง

ปัจจุบันนี้ แวดวงธุรกิจพลังงานต่างก้าวไปข้างหน้าจนถึงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ออกแบบภายใต้แนวคิดระบบโครงข่ายอัจฉริยะสำหรับส่งกระแสไฟฟ้าแบบครบวงจร หรือ สมาร์ทกริด (Smart Grid) โดยเริ่มต้นจากการนำข้อมูลตลอดทั้งห่วงโซ่ของระบบไฟฟ้าตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจ่ายกระแสไฟฟ้า สู่ปลายทางขึ้นไปเก็บไว้บนบล็อกเชน ช่วยยกระดับการจัดการข้อมูลที่ควบคุมด้วยระบบสัญญาอัจฉริยะ ที่เป็นการบันทึกข้อตกลงทางธุรกิจให้สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ปราศจากการควบคุมจากคนกลาง จึงทำให้การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนเป็นไปได้อย่างอิสระ ข้อมูลมีความปลอดภัย โปร่งใสและตรวจสอบได้

ดิจิทัลแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้งานระบบทั้งภาคที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบการผลิต-จ่ายกระแสไฟฟ้าและปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ตามจริง รวมถึงความสามารถในการรวมพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้า สู่การสร้างทางเลือกในการใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากต้นกำเนิดต่างๆ ทั้งระบบสายส่งจากการไฟฟ้า (grid) และพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริหารต้นทุนการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ยิ่งไปกว่านั้น บล็อกเชนยังสามารถรองรับการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (energy trading) ที่เสนอประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ (seamless experience) สู่การตลาดรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนบทบาทของ “Consumer” มาเป็น “Prosumer” ด้วยระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ที่ทุกฝ่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ผลิต (producer) และผู้บริโภค (consumer) ไปพร้อมกัน ผู้ใช้ระบบจะสามารถทำการซื้อขายไฟฟ้ากันเองในระดับบ้านพักอาศัย อาคารพาณิชย์ หรือจะขยายสู่ระดับอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โรงงาน และพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมได้เช่นกัน โดยในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันจะใช้ Token และ Smart Contract คอยควบคุมทุกทรานเซคชั่นที่เกิดขึ้นให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสูงสุดอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มขีดความสามารถของระบบด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาใช้ประมวลผลทุกข้อมูลที่เกิดขึ้น ช่วยให้ลูกค้าระดับองค์กรหรือเจ้าของธุรกิจสามารถ

ประเมินพฤติกรรมและทิศทางการใช้ไฟฟ้า (Load Forecasting) และคาดการณ์ปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิตต่างๆ ในอนาคตได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและหา insight ในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการสร้างแผนธุรกิจใหม่ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้เช่นกัน

การผสานเทคโนโลยีล้ำสมัยทั้งบล็อกเชนและเอไอเข้าด้วยกันจะช่วยให้ผู้ใช้งานระบบสามารถมองเห็นการดำเนินงานด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าตามจริงในพื้นที่ปฏิบัติงานของตนสนับสนุนการสร้างต้นทุนที่แข่งขันได้ทางธุรกิจ รวมถึงเพิ่มความพร้อมในการติดตั้งระบบแบตเตอรี่เพื่อเป็นโซลูชั่นในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในอนาคตและลดปัญหาความไม่เสถียรในการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ สู่การควบคุมและสร้างจุดสมดุลระหว่างอัตราการผลิตและอุปสงค์ของความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าทุกระดับในปลายทาง รวมถึงช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ท้ายที่สุดนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินงานด้วยระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มคือทุกขั้นตอนล้วนต้องเกิดข้อมูลจำนวนมากไหลเข้าสู่ระบบบล็อกเชน ในการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือบุคลากรที่สามารถรองรับการทำงานในส่วนนี้ ที่จะสามารถใช้ระบบและดึงข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้นั่นเอง ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่องค์กรจะสามารถเดินหน้าสู่ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และเป้าหมายการก้าวสู่สมาร์ทซิตี้ตามวาระของไทยแลนด์ 4.0 คงอยู่ไม่ไกลอย่างแน่นอน