ผู้ตัดสินกีฬาปัญญาประดิษฐ์

ผู้ตัดสินกีฬาปัญญาประดิษฐ์

กระแสของ AI (Artificial Intelligence) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “ปัญญาประดิษฐ์” กำลังเป็นที่สนใจในวงกว้าง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทุกที เริ่มตั้งแต่ระบบปฏิบัติการในโทรศัพท์มือถือ และกระจายตัวไปในวงการต่างๆ ไม่ว่าจะด้านการลงทุนที่ใช้ AIในการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนและช่วยในการตัดสินใจ วงการแพทย์ที่เริ่มใช้ AIในการผ่าตัดผู้ป่วยในบางกรณี วงการอุตสาหกรรมซึ่งได้นำ AI มาแทนที่มนุษย์ในกระบวนการผลิตสินค้า และในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะเริ่มเห็นรถยนต์ที่วิ่งบนถนนได้โดยไร้คนขับ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า AI นั้นได้ขยายตัวไปในทุกวงการ เนื่องจากความสามารถที่ไร้ขีดจำกัดและเชื่อว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับวงการกีฬาก็เริ่มมีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ อย่างเช่นในกีฬาเบสบอลมีการนำ AI มาช่วยวิเคราะห์อัตราการและทิศทางการขว้างลูกของผู้เล่นแต่ละคน เพื่อคำนวณรูปแบบการขว้างในครั้งต่อๆ ไป กีฬาอเมริกันฟุตบอลใช้การติดตั้งตัวส่งสัญญาณบอกตำแหน่งของผู้เล่นเพื่อวิเคราะห์ทิศทางในการวิ่งให้สอดคล้องกับแนวทางในการขว้างลูก กีฬาบาสเก็ตบอล ใช้ AI มาเป็นผู้ช่วยผู้ตัดสินในกรณีที่ลูกออกนอกสนาม ซึ่งผู้ตัดสินมนุษย์มองไม่ทัน และกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งใช้ AI มาเป็นตัวกำหนดการให้คะแนนจากการยิงลูกเข้าประตูที่มีความรวดเร็วอย่างมาก

หากจะลองคิดต่อไปว่า ถ้าในอนาคตอันใกล้นี้ AI ได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจนสามารถเป็นผู้ตัดสินกีฬาได้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องมีผู้ตัดสินมนุษย์ในสนามอีกต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) ที่เกิดขึ้นได้เสมอ ในขณะที่ AI สามารถตัดสินได้ตามกฎกติกาอย่างแม่นยำ เช่นนี้แล้วในแง่กฎหมายจะเกิดผลอย่างไร หรือจะมีปัญหาอย่างใดหรือไม่?

ปัญหาประการแรก ถ้าหากมีการนำ AI มาใช้เป็นผู้ตัดสินกีฬาแทนมนุษย์ก็คือ ผลการตัดสินจะมีผลสมบูรณ์เพียงใด เนื่องจากผู้ตัดสินกีฬาจะต้องมีกระบวนการคัดสรรให้เป็นไปตามข้อบังคับของสหพันธ์กีฬาชนิดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติหรือนานาชาติก็ตาม เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตตัดสินกีฬา รวมทั้งกีฬาโอลิมปิกก็ได้มีการกำหนดข้อบังคับไว้ใน Olympic Charter ให้ผู้ตัดสินกีฬาจะต้องเป็นสมาชิกของสหพันธ์กีฬาที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและมีใบอนุญาตการเป็นผู้ตัดสินกีฬานั้นด้วย ส่วนประเทศไทยนั้นปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานของผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินกีฬาให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น

ถ้ามีการนำ AI มาใช้ในการตัดสินกีฬาเกิดขึ้นจริง สิ่งที่น่าคิดประเด็นแรกคือจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานหรือออกใบอนุญาตให้ AI หรือไม่ ส่วนประเด็นต่อมาก็คือ ผลการตัดสินไม่ว่าจะในระหว่างหรือภายหลังการแข่งขันจะมีความถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎกติกาจริงหรือไม่ และเมื่อไม่พอใจในคำตัดสินของ AI จะมีวิธีการดำเนินการเช่นไร AI จะถูกฟ้องได้หรือไม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ถ้าวิเคราะห์ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบทางกฎหมายกีฬา ที่รองรับให้ AI ทำหน้าที่ผู้ตัดสินกีฬาได้ ทั้งนี้ หากจะพิจารณาตามความหมายทั่วไปของคำว่า “ผู้ตัดสินกีฬา” (Referee) ซึ่งหมายถึงผู้ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการในการเฝ้าดูกีฬาอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างถูกต้องและเป็นผู้ตัดสินเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเล่นกีฬาตั้งแต่ต้นจนจบเกมการแข่งขัน ก็อาจเป็นไปได้ว่า AI สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้

แต่เมื่อพิจารณาตามร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา มาตรา 4 บทนิยามศัพท์ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ตัดสินกีฬา” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการตัดสินกีฬาให้เป็นไปตามกฎและกติกาการแข่งขันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละชนิดกีฬาซึ่งได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.นี้ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในที่นี้จึงหมายถึงบุคคลที่ต้องมีสภาพบุคคลตามกฎหมาย ประกอบกับมาตรา 21 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาหรือผู้ตัดสินกีฬาให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงเห็นได้ว่าโดยสภาพแล้ว AI ไม่อาจจะเป็นผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตได้

โดยมาตราที่สำคัญที่เป็นตัวกำหนดอย่างชัดเจนว่า AI ไม่สามารถเป็นผู้ตัดสินกีฬาได้โดยสิ้นเชิง คือมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี (2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาวิชาที่คณะกรรมการกำหนดหรือผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร หรือมีประสบการณ์ ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (3) ผ่านการทดสอบหรือมีความรู้ความสามารถที่เทียบได้กับการผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (4) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหายซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในการเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (5) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (6) ไม่เป็นโรคอันเป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาหรือผู้ตัดสินกีฬาตามที่คณะกรรมการกำหนด (7) ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตในประเภทนั้นมาแล้วยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันยื่นขอรับใบอนุญาต

จากการพิจารณาร่างกฎหมายข้างต้น อาจสรุปได้ว่า ในช่วงเวลาอันใกล้นี้น่าจะยังไม่อาจเห็น AI ทำหน้าที่ในการตัดสินกีฬาในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดี ก็เป็นที่น่าขบคิดว่า จากกระแสความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จะนำมาสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการนำ AI มาใช้ในการตัดสินกีฬาในที่สุด จึงน่าจะเป็นการดีที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันขบคิดในเรื่องนี้แต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาวงการกีฬาของไทยในอนาคตต่อไป.

โดย... 

พรพล เทศทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์