ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง? (3)

ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง? (3)

ในคราวที่แล้ว เราได้ศึกษาร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่เกี่ยวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายดังกล่าว ในส่วนของสถาบันการเงิน

ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ซึ่งถูกกฎหมายฟอกเงินกำหนดหน้าที่ให้ตรวจสอบลูกค้า จัดเก็บข้อมูลและรายงานธุรกรรมต่างๆ ที่เข้าข่ายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นการฟอกเงินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) สำหรับฉบับนี้เราจะมาศึกษาผลกระทบในส่วนของตัวผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินกันว่า มีใครที่จะถูกจับเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฟอกเงินเพิ่มเติมบ้าง

กฎหมายฟอกเงินกำหนดนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” เอาไว้ในมาตรา 3 ซึ่งความผิดมูลฐานนี่เอง ที่จะเป็นที่มาของความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายฟอกเงิน กล่าวคือ ผู้ใดที่โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพเงิน หรือทรัพย์สิน รวมทั้งดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงินหรือทรัพย์สินนั้น ก็จะมีความผิดฐานฟอกเงิน เช่น ผู้ใดนำเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดไปแปลงสภาพโดยการซื้อรถยนต์หรู หรือผู้ใดค้ามนุษย์แล้วนำเงินที่ได้มาจากการค้ามนุษย์นั้นไปลงทุนเปิดบริษัทเพื่อทำการค้าที่ถูกกฎหมาย เช่น โรงแรม หรือรีสอร์ท บังหน้า ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน

ซึ่งความผิดฐานค้ายาเสพติด หรือค้ามนุษย์นี่เอง ที่เป็นที่มาของการฟอกเงินเรียกว่า ความผิดมูลฐาน โดยความผิดมูลฐานนี้ ตามกฎหมายฟอกเงินฉบับแรกเริ่มมีเพียง 7 ฐานความผิด ต่อมาได้มีการขยายขอบเขตของความผิดมูลฐานให้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบันมี 21 ฐานความผิด และตามร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ มีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมความผิดมูลฐานให้เป็น 26 ฐานความผิด โดยมีทั้งการปรับแก้ของเก่าและเพิ่มของใหม่ สรุปได้ดังนี้

(1) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเฉพาะที่เกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร การหลีกเลี่ยงภาษีอากร การหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด การรับซื้อหรือรับไว้ซึ่งของลักลอบหนีศุลกากร การสำแดงไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์ และความผิดเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร

(2) ความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะกรณีที่มุ่งหมายเพื่อกระทำการอันเป็นความผิดที่มีกฎหมายกำหนดโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่สี่ปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

(3) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารราชการ

(4) ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

(5) ความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

(6) ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและความผิดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(7) ความผิดเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

(8) ความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

จากนิยามของความผิดมูลฐานที่มีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ประเด็นที่เป็นที่น่าจับตามองก็คือ หากมีการแก้กฎหมายตามที่เสนอจริง ประชาชนผู้เสียภาษีตลอดจนผู้ที่ประกอบธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งบริษัทในลักษณะที่หลีกเลี่ยง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะต้องระมัดระวังในการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรและศุลกากร และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหากมีการเลี่ยงหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีอำนาจที่จะไปยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เช่น จ่ายภาษีไม่ครบถ้วนหรือสำแดงไม่ครบถ้วน หรือตั้งบริษัทโดยใช้นอมินีแทนคนต่างด้าว ซึ่งอาจจะหมายถึงทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วยก็ได้ ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่รัฐมีนโยบายกำหนดขึ้นมาเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมเข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ของ ปปง. บังคับใช้กฎหมายฟอกเงินที่จะมีการแก้ไขนี้อย่างเอาจริงเอาจัง ก็น่าจะช่วยลดแรงจูงใจการกระทำความผิดตามกฎหมายต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย

พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

โดย... วิภานันท์ ประสมปลื้ม