ถึงผิดก็ฟินได้…Sandbox แบบฟินแลนด์

ถึงผิดก็ฟินได้…Sandbox แบบฟินแลนด์

ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องเสียหายเสมอไป ถ้าหากการผิดพลาดนั้นทำให้เราได้เรียนรู้ แก้ไข จนในบางครั้ง “ความผิดพลาด” คือหนทางที่นำไปสู่ “ความสำเร็จ

ทำไมความผิดพลาดถึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ก็เพราะในบางครั้งสิ่งที่คิดหรือทำครั้งแรกอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นการยอมให้เกิดการผิดพลาด หรือการสร้าง “วัฒนธรรมการทดลอง” ขึ้นมาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เรากำลังค้นหา “ไอเดียและนวัตกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง”

ในโลกปัจจุบันที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เราจะพบเห็นไอเดียและนวัตกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจจำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เศรษฐกิจแบ่งปัน โดรน รถยนต์ไร้คนขับ บล็อกเชน เงินดิจิทัลหรือแนวคิดและนโยบายใหม่ๆ เช่น นโยบายรายได้ขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง (Universal Basic Income) นโยบายเครดิตทางสังคม (Social Credit System) นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนบริการระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Services) เป็นต้น

หลายครั้ง เราอยากให้นวัตกรรม บริการ และนโยบายที่น่าสนใจต่างๆ สามารถนำมาใช้ในประเทศ แต่เรามักไม่มั่นใจจริงๆ ว่าผลกระทบทางบวกและทางลบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในระบบทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ดังนั้นหลายประเทศจึงมีการทดลองเพื่อทดสอบนวัตกรรมนโยบายต่างๆ ก่อนที่จะมีประกาศใช้เป็นนโยบายจริง เราได้เห็นตัวอย่างการสร้างแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ขึ้นมาในหลายประเทศ แซนด์บ็อกซ์เปรียบเสมือนกระบะทรายในสนามเด็กเล่น เด็กๆ สามารถเล่นได้อย่างเต็มที่ อิสระ ไม่ต้องกลัวล้ม หรือกลัวผิดพลาด ดังนั้นแซนด์บ็อกซ์จึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ยอมให้เกิดการผิดพลาดในการทดลองเพื่อทดสอบ โดยกรณีตัวอย่างที่เราพบว่าน่าสนใจมาก คือ “Place to Experiment” ของประเทศฟินแลนด์

“Place to Experiment” หรือ “Kokeilun Paikka” เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลของฟินแลนด์ ที่มีเป้าหมายหลักในการสนับสนุน วัฒนธรรมการทดลองที่เปิดกว้างเพื่อค้นหา นวัตกรรมใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายและบริการสาธารณะของภาครัฐ  แพลตฟอร์มนี้เปรียบเสมือนชุมชนรวมคนที่หลากหลายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นวัตกรและผู้ประกอบการทางสังคม รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนกัน เกิดพันธมิตรและสร้างเครือข่าย โดย “Place to Experiment” ได้เปิดรับแนวคิดของประชาชนในวงกว้างและชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมค้นหาและสร้างข้อเสนอนวัตกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศ โดยมีการให้คำแนะนำและคำปรึกษา ตลอดจนมีแหล่งเงินทุนสำหรับนวัตกร และโครงการสนับสนุนการทดลองเพื่อทดสอบแนวคิดอีกด้วย

ตัวอย่างโครงการทดลองนโยบายของรัฐที่น่าสนใจ เช่น การทดลองนโยบายรายได้ขั้นพื้นฐานทั่วถึง (Universal Basic Income: UBI) ซึ่งเป็นแนวคิดที่กำลังมีการถกเถียงกันในสากลโดยเฉพาะกรณีอนาคตที่หุ่นยนต์อาจจะส่งผลให้คนต้องว่างงานมากขึ้น ฟินแลนด์ถือเป็นประเทศแรกที่ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาทดลองใช้จริง โดยได้ทดลองกับผู้ว่างงาน 2,000 คน อายุระหว่าง 25-58 ปี ซึ่งผู้ว่างงานเหล่านี้จะได้รับเงิน 560 ยูโรต่อเดือน โดยไม่มีเงื่อนไข นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2017 เป็นเวลา 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบนโยบายรายได้ขั้นพื้นฐาน (UBI) ว่าจะสามารถช่วยลดความยากจนทางรายได้และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้หรือไม่ รวมถึงการแก้ไขความล่าช้าของระบบราชการในการให้สวัสดิการทางสังคม และการพัฒนาระบบแรงจูงใจในการทำงานของผู้รับรายได้ขั้นพื้นฐานเพื่อให้ระบบรัฐสวัสดิการของประเทศสามารถยั่งยืนได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังมีการทดลองเพื่อปรับปรุงบริการภาครัฐในระดับท้องถิ่น เช่น การทดลองนโยบายเทศบาลดิจิทัล (Digital municipality trial) เพื่อส่งเสริมให้กระบวนการและบริการของเทศบาลท้องถิ่นให้มีลักษณะเปิดกว้าง มองไปข้างหน้า โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ การทดลองระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาบริการธุรกิจและการจ้างงาน (Regional Trials in employment and business services) โดยมีการทดลองจำนวนมากในระดับภูมิภาคเพื่อปรับปรุงระบบและขั้นตอนการบริหารระหว่างหน่วยงานและการให้บริการประชาชนในด้านธุรกิจและการจ้างงาน

เราได้ศึกษาและเรียนรู้จาก “Place to Experiment” ฟินแลนด์ เห็นถึงจุดเด่นที่น่าสนใจ 2 ประการ คือ

ประการแรก ฟินแลนด์ให้ความสำคัญและสนับสนุน วัฒนธรรมการทดลองและเน้นการแก้ปัญหา หาทางออกด้วยนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงบริการสาธารณะที่ดี ตอบโจทย์ประชาชน แพลตฟอร์ม “Place to Experiment” นี้ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมโครงการริเริ่มที่เป็นประโยชน์ สนับสนุนแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ โดยให้การสนับสนุนการทดลองขนาดเล็กๆ ที่ริเริ่มโดยประชาชนเอง รวมถึงสนับสนุนการระดมทุนขนาดใหญ่

ประการที่สอง แพลตฟอร์มนี้ส่งเสริมความคิดริเริ่มของผู้คน และใช้แนวทางการขับเคลื่อนด้วยพลเมือง (citizen-driven) เป็นหลัก  จึงช่วยพัฒนาความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน โดยฟินแลนด์ได้เปลี่ยนวิธีการในการพัฒนาบริการภาครัฐจากขั้นตอนกระบวนการแบบสั่งการจากศูนย์กลาง (top-down) มาเป็นการสร้างความร่วมมือกัน (collaboration) มากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยที่ผ่านมากระบวนการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐของฟินแลนด์ก็ได้เริ่มอาศัยพลังความคิดหรือการระดมทุนจากประชาชนในวงกว้างเข้ามาใช้มากขึ้น

การมีส่วนร่วมของประชาชน คนในชุมชนสามารถร่วมเสนอ พัฒนาไอเดียของตน รวมทั้งมีโอกาสเข้ามาร่วมทดลองทดสอบใน “แพลตฟอร์มกลางที่เปิดกว้าง” เพื่อร่วมสร้าง “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในการยกระดับคุณภาพของนโยบายและบริการสาธารณะ  เพราะถ้าประเทศไทยจะขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม เราก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมวัฒนธรรมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการเรียนรู้จากการทดลองและการทดสอบเพื่อสร้างนวัตกรรมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างแท้จริง

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ และประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation