ใครไม่แคร์ โมดีแคร์: โครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ใครไม่แคร์ โมดีแคร์:  โครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยหลายฉบับได้รายงานข่าวโครงการโมดีแคร์ ซึ่งเป็นโครงการประกันสุขภาพของอินเดีย

ที่ได้รับการกล่าวขานว่าใหญ่ที่สุดในโลก จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะมาทำความรู้จักกับโครงการประกันสุขภาพนี้ให้มากขึ้น

ทำไมโมดี(ต้อง)แคร์...

แม้จะมีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีโมดีริเริ่มนโยบายนี้เพื่อหวังผลด้านประชานิยมและซื้อใจคนจนอย่างชัดเจน เพราะอินเดียกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า (พ.ศ.2562) และคนจนที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการจะเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ที่สำคัญ แต่ก็ถือได้ว่าการพัฒนาระบบประกันสุขภาพของอินเดียในเวลานี้ถือเป็นการกระทำที่ถูกที่ถูกเวลา เพราะกว่า 70 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราช รัฐบาลอินเดียได้ใช้งบประมาณไปเพื่อการสาธารณสุขเพียงแค่ประมาณร้อยละ 1.25 ของ GDP เท่านั้น และกว่าร้อยละ 80 ของประชาชนอินเดียก็ดำเนินชีวิตอยู่โดยไร้หลักประกันสุขภาพ ... จึงถึงเวลาแล้วที่นายกโมดีต้องหันมาแคร์เรื่องการสาธารณสุขอย่างจริงจัง

โมดีแคร์อย่างไร...

“โมดีแคร์” หรือชื่อทางการคือ Ayushman Bharat-Pradhan Mantra Jan Arogya Yojana  ประกาศขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2561 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าหมายเพื่อดูแลครอบครัวผู้ยากไร้ประมาณ 100 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 500 ล้านคน ทั้งในชนบทและชุมชนเมือง จึงถือเป็นโครงการประกันสุขภาพโดยรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะคัดเลือกครอบครัวผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากฐานข้อมูลสำมะโนประชากรด้านสังคม เศรษฐกิจ และวรรณะ (Socio Economic Caste Census (SECC) ของอินเดีย การประกันสุขภาพครั้งนี้จะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลขั้นทุติยภูมิ และตติยภูมิ (ไม่ครอบคลุมขั้นพื้นฐาน) โดยแต่ละครอบครัวจะได้รับโควต้าการรักษาพยาบาลปีละ 6,770 ดอลลาร์สหรัฐ และผู้ได้รับสิทธิ์จะสามารถใช้บริการได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้ทั่วประเทศ มีแพคเกจการรักษาพยาบาลในโครงการรวมประมาณ 1,350 แพคเกจจาก 23 สาขาการรักษาโรค และสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมการผ่าตัด การรักษาพยาบาล ค่ายาและค่าวินิจฉัยโรคด้วย

ไทยเห็นอะไรจากโมดีแคร์...

แม้ว่าจะเรียกเสียงฮือฮาว่าเป็นโครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในความเป็นจริงตัวเลขงบประมาณ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับคน 500 ล้านคนนั้นถือว่าไม่มาก ยิ่งเมื่อเทียบกับไทยแล้ว พบว่าในปี 2561 ไทยจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึงประมาณ 3,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับประชากรทั้งประเทศประมาณ 70 ล้านคน นอกจากนี้ โครงการโมดีแคร์ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการสาธารณสุขทั่วโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไทยมองเห็นจากข่าวนี้ คือความพยายามในการก้าวไปข้างหน้าของอินเดียอย่างต่อเนื่องในด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เราอาจเคยได้ยินชื่อเสียงในการพัฒนาเทคโนโลยี และการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจของอินเดีย แต่การจัดทำโครงการประกันสุขภาพครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความคืบหน้าในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดช่องว่างทางสังคมที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถมองเห็นโอกาสทางธุรกิจด้านการบริการด้านสุขภาพที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ และโอกาสด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยสามารถเข้าไปลงทุนได้ ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2022 อินเดียจะต้องกลายเป็นอินเดียใหม่ หรือ New India ในทุกแง่มุม ความต้องการการพัฒนาของอินเดียจึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้ามาเรียนรู้และฉกฉวยโอกาสให้ทันท่วงที และไม่ล้าหลังไปกว่านักลงทุนชาติอื่น ๆ

...อินเดียในบางมุมอาจยังก้าวเดินช้า แต่ก็ก้าวเดินอย่างสม่ำเสมอ โครงการ “โมดีแคร์” จึงอาจเป็นเรื่องที่สะกิดให้นักธุรกิจไทยหันมาแคร์อินเดียมากขึ้น ... หากท่านแคร์อินเดียและกำลังมองหาที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลียินดีเป็นตัวช่วยที่สำคัญของท่านนะคะ

โดย... 

เชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์

เลขานุการโท-ฝ่ายเศรษฐกิจ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี