สมดุลต้นทุนและคุณค่า กรณีศึกษาจากภัยเปียกน้ำ

สมดุลต้นทุนและคุณค่า กรณีศึกษาจากภัยเปียกน้ำ

เมื่อคราวที่ผ่านมาได้เขียนถึงเรื่องสมดุลบริบทในการพัฒนาโครงการ โดยเสนอความสำคัญ รวมถึงพิจารณาบริบทที่เกี่ยวข้องในมิติต่างๆ

ให้ครบถ้วนและรอบด้าน คราวนี้ก็ยังคงเป็นมุมคิดจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากธรรมชาติอยู่ เนื่องจากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเราเจอกับฝนฟ้าคะนองกันแทบทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย เช่น น้ำรั่วเข้าทางหลังคา หน้าต่าง ประตู และช่องเปิดต่างๆ ภายในบ้าน นอกจากสร้างความไม่สะดวกสบายให้แก่ผู้อยู่อาศัยแล้ว ยังสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการ เป็นภาระของผู้ให้ประกันภัยและวนกลับมาเป็นรายจ่ายทางอ้อมให้ผู้ซื้อผู้อาศัยอีกด้วย ภัยลักษณะนี้มีชื่อเรียกในภาษาการประกันภัยว่า “ภัยเปียกน้ำ” 

หากมองบ้านหรือห้องชุดเป็นกล่องหนึ่งใบ จะมีโอกาสที่เจอกับภัยเปียกน้ำจากภายนอกได้ 6 ด้าน คือ ด้านบนหนึ่ง ด้านล่างหนึ่ง และด้านข้างสี่ด้าน หากรวมงานระบบท่อน้ำและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำภายในอาคารด้วยอีกหนึ่งข้อ จะทำให้มีโอกาสที่จะเกิดภัยเปียกน้ำได้ 7 ด้านด้วยกัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการประกันภัยเปียกน้ำสำหรับเจ้าของร่วมมากนัก โดยปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าของร่วมในการแบกความเสี่ยงในเรื่องภัยเปียกน้ำเอง 

จากข้อมูลการเคลมประกันภัยสำหรับอาคารชุดในภาพรวมช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าเป็นการเคลมประกันภัยจากภัยเปียกน้ำสูงถึงประมาณ 75% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝน (มิ.ย.-ต.ค.) จะมีปริมาณการเคลมประกันมากขึ้นกว่าช่วงอื่นๆ ของปี ลักษณะของความเสียหายสามารถจำแนกออกได้เป็น 5 ประการ คือ น้ำซึมจากผนังอาคาร (35%) จากสายน้ำดี สายชำระและอุปกรณ์ภายในห้องชุด ( 25%) จากหน้าต่าง และช่องเปิด (15%) จากท่อน้ำในพื้นที่ส่วนกลาง (10%) ส่วนที่เหลือเป็นผลมาจากสาเหตุอื่นๆ 

ในสภาพการแข่งขันธุรกิจการพัฒนาอสังหาฯที่ดุเดือด ผู้ประกอบการต้องเลือกตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นหลายรายการทิ้งไป เช่น เลือกตัดบัวหน้าต่างเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเลือกระบบประตู-หน้าต่างราคาประหยัดทดแทน แต่ไม่ได้คำนึงถึงการทดสอบระบบหน้าต่าง (Performance Test) ในการกันฝน และเลือกวิธีเพิ่มความเร็วในการผลิตและติดตั้งโดยเพิ่มจำนวนช่างและทำงานผลัดกลางคืนโดยไม่ได้สนใจคุณภาพฝีมือ เลือกทำงานที่ไซท์โดยไม่ได้จัดพื้นที่ให้เหมาะสม เลือกวัสดุที่ดูงดงามสำหรับการส่งมอบงานให้เสร็จในระยะสั้นเท่าระยะประกัน มากกว่าการเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ทนทาน และง่ายต่อการดูแลรักษาในระยะยาวนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสูตรสำเร็จของความเสียหายแก่ผู้บริโภคในระยะยาว และส่งผลสะท้อนกลับมาถึงชื่อเสียงและธุรกิจของผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นด้วยเช่นเดียวกัน 

การตัดสินใจเลือกโซลูชั่นของการพัฒนาโครงการอสังหาฯนั้นไม่เหมือนกับผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นรายชิ้นเมื่อผิดพลาดและเสียหาย แต่โครงการอสังหาริมทรัพย์นั้นมีความถาวร มีผลผูกพันยาวนาน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ง่ายนัก และการปรับปรุงแก้ไขจะก่อให้เกิดความเสียหายแทบเท่ากับหรือมากกว่าการผลิตใหม่ เช่นภัยเปียกน้ำที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น 

ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาเลือกโซลูชั่นให้รอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบทั้งต่อตนเอง ผู้บริโภค ผู้มีส่วนได้เสีย สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเชิงการป้องกันความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงคำนึงถึงสมดุลต้นทุนและคุณค่า (Cost-Value Tradeoff) ที่ไม่ใช่เพียงแค่มุมมองของตนเองเท่านั้น จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน