ต้องรู้เท่าทันอะไรในยุคหน้า

ต้องรู้เท่าทันอะไรในยุคหน้า

ไม่เพียงแต่ทักษะใหม่ที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิต “อยู่รอด อยู่ดี” ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้เท่านั้น

ความรู้ก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ที่อยู่นอกเหนือด้านเทคนิค วิชาการ เพราะมนุษย์ยังคงเป็น สัตว์สังคม ที่จำเป็นต้องใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในการดำเนินชีวิต

ผู้เขียนขอเรียกลักษณะของการมีความรู้ที่จำเป็นดังกล่าวว่า “รู้เท่าทัน” เพราะมันสื่อถึงการไล่ให้ทัน คนไทยที่ต้องการ “อยู่รอด อยู่ดี” จำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันในเรื่องต่างๆ อย่างน้อย 5 ประการดังต่อไปนี้

1.) รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดเดาไม่ได้ นักคิดจำนวนมากแบ่งลักษณะของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีแตกต่างกันออกไป ผู้เขียนขอใช้การแบ่งเป็น 5 เรื่องดังนี้ (ก) AI (ปัญญาประดิษฐ์) (ข) Algorithm (ค) IoT (ง) 5G (จ) Quantum Computing ซึ่งหมายถึงวิธีการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ไม่ให้การโค๊ดข้อมูลในระบบ 0 และ 1 ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบบใหม่จะทำให้สามารถทำงานได้เร็วกว่า หลากหลายกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าอีกอย่างมหาศาล เชื่อว่าจะเริ่มมีการใช้ในปี2022 เป็นต้นไป

ถ้าเราไม่รู้เท่าทันก็มิได้เห็นความจำเป็นในการปรับตัวจนอาจตกงาน รู้สึกต่ำต้อยเพราะตามโลกไม่ทัน เนื่องจากจะมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ในชีวิตอีกอย่างมากมาย

2.) รู้เท่าทันชีวิต  ชีวิตมนุษย์นั้นเปราะบางมากยิ่งขึ้นในโลกสมัยใหม่ ชีวิตที่เป็นปกติมีความสุขอาจยุ่งยากได้ เช่น (ก)ถูกปลดจากงานเพราะเทคโนโลยีมาแทนที่ (ข)เกิดความเดือดร้อนในชีวิตจากการโพสต์เพียงข้อความเดียวในโซเชียลมีเดีย (ค)ตกอยู่ในกับดักของการชักหน้าไม่ถึงหลัง ถึงจะมีเงินไม่น้อยแต่ก็เป็นหนี้ไม่รู้จบ จนรายได้ไม่พอรายจ่ายเพราะถูกปลุกเร้าให้บริโภคโดยสื่อหลากหลายชนิดอยู่ตลอดเวลา (โทรทัศน์เคเบิลที่รับทางจานดาวเทียมซึ่งคนไทยจำนวนมากใช้เกือบทุกช่องที่มีอยู่นับร้อย มีแต่โฆษณาสินค้าเกือบตลอดเวลา)

ทุกคนมีชีวิตเดียว อายุ 18 หรือ 25 หรือ 40 เพียงครั้งเดียว จึงจำเป็นต้องทะนุถนอมอย่างยิ่ง การตัดสินใจผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจทนทุกข์ทรมานตลอดชีวิตได้(ลองถามเพื่อนที่มีคู่ชีวิตผิดพลาดดูก็ได้) สร้อยคอทองคำมีค่าไม่กี่หมื่นบาทยังดูแลรักษาทะนุถนอมเป็นอย่างดี ชีวิตของเรามีค่ามากมายที่ตีเป็นเงินไม่ได้ (ลองประเมินง่ายๆ ว่ายอมรับเงินเท่าใดแลกกับการตัดมือข้างเดียวก็คงพอเห็นภาพ นี่เป็นเพียงมือข้างเดียวมิใช่ชีวิต) แล้วจะไม่ใส่ใจเป็นพิเศษได้อย่างไร

3.) รู้เท่าทันใจตนเอง  นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมทดลองและให้ข้อสังเกตมากมายในปัจจุบันว่า มนุษย์มิได้เป็นคนมีเหตุมีผลจนตัดสินใจได้ถูกต้อง หากมีความเอนเอียงในหัวใจอย่างมาก อีกทั้งมีความสามารถในการปรับตัวได้สูงจนทำให้อาจเกิดปัญหาได้

ไม่มีสถานการณ์ใดที่มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการตัดสินใจ มนุษย์จำเป็นต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลที่พอมีบางครั้งก็มีมากพอควร บางครั้งก็มีน้อย และตรงจุดนี้แหละที่ความเอนเอียงเข้ามาครอบงำ เช่น ชอบที่จะตัดสินใจแบบที่เรียกว่า Confirmation Bias กล่าวคือมีข้อสรุปอยู่แล้วในใจว่า จะตัดสินใจอย่างไร เพียงแต่ต้องการข้อมูลเพื่อมาสนับสนุนการตัดสินใจของตนเองเพื่อความสบายใจ(พาคู่รักไปหาพระเพื่อถามว่าเป็นเนื้อคู่กันหรือไม่ คงมีพระน้อยรูปที่จะกล้าตอบว่าไม่ใช่ การพาไปก็คือการตัดสินใจแล้ว เพียงแต่อยากได้ยินคำตอบที่ถูกใจจากพระ) คนส่วนใหญ่มักขอคำแนะนำเพื่อการตัดสินใจในทำนองนี้ มีน้อยคนที่ขอคำแนะนำจากหลายคน หลายความเห็น เพื่อนำมาไตร่ตรองและตัดสินใจ การตัดสินใจในระดับชาติชนิดคอขาดบาดตายในลักษณะConfirmation Biasเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างมาก

การปรับตัวได้ดีของมนุษย์เป็นเรื่องดีหากเกี่ยวกับการสูญเสีย แต่ที่ต้องระวังก็คือเรื่องการบริโภค มนุษย์นั้นเมื่อได้ของถูกใจใหม่ ความพอใจและความสุขก็จะพลุ่งขึ้น แต่ไม่ช้าก็จะกลับมาสู่ระดับปกติตามสัญชาตญาณการปรับตัว หากไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ก็จะต้องแสวงหาของใหม่จากการบริโภคอย่างไม่รู้จบจนเข้าสู่วงจรเป็นหนี้(ถ้าใช้บัตรเครดิตก็จะเข้าลักษณะมีบัตรรูปแพะและแกะ กล่าวคือจับมันชนกันไปเรื่อยอย่างไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างใด)

สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ มนุษย์เลือกที่จะรับรู้รับทราบตามที่ตนเองเชื่อและต้องการ กล่าวคือเราจะรักจะชอบใครหรือสิ่งใดเป็นการเลือกของเรา ศาสนาของเราถูกต้องและดีเสมอ(ที่จริงพ่อแม่เลือกศาสนาให้เรา) ลูกเราน่ารักกว่าใคร ตัวเราเองไม่มีอะไรบกพร่อง หลวงพ่อที่เรานับถือสุดยอดที่สุดไม่มีอะไรบกพร่อง ยามรักเขาทำอะไรก็ดีและถูกหมด ฯลฯ เราจะรับฟังเรียนรู้แต่เฉพาะสิ่งที่สนับสนุนความเชื่อและความชอบของเรา อะไรที่ตรงข้ามเราก็โยนทิ้ง ดังนั้นเมื่อจุดอ่อนของมนุษย์เป็นเช่นนี้ เราจึงต้องรู้อย่างเท่าทัน

4.) รู้เท่าทันมนุษย์ด้วยกัน  การศึกษาไทยสอน “วิชา" หนักหน่วงแต่สอน “ชีวิต” ไม่มากเด็กจำนวนมากจึงดำรงชีวิตและดำเนินชีวิตไม่เก่งรู้ว่า คนอาเซียนแต่ละประเทศมีดอกไม้ สีประจำชาติและธงชาติอย่างไร แต่มีความสามารถในการคิดและแก้ไขปัญหาไม่สูงจนทำให้หลายคนไม่รู้เท่าทันเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่รู้จักคบเพื่อน อ่านคนไม่ออก และบ่อยครั้ง อ่านตนเองไม่ออก ไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไรเพราะชีวิตอยู่ในการเรียนมากจนมิได้เรียนรู้ชีวิต

พ่อแม่จำนวนมากก็มิได้ให้ลูกมีโอกาสเรียนรู้ชีวิต เข้าใจว่าเรียน“วิชา”สำคัญกว่าอยู่บ้านโดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆในการช่วยการอยู่ร่วมกันของครอบครัว(ลูกไม่ต้องทำอะไร ไม่ว่าซักผ้า ทำงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ทำมาหากินก็ไม่ต้องให้เรียนสูงที่สุด มีเวลาแต่เรียนอย่างเดียว ซึ่งแท้จริงลูกก็ใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการเล่นเกมส์หรือเล่นโซเชียลมีเดียอย่างไร้สาระ) ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กอยู่ในโลกที่ไม่เป็นจริง ไม่เข้าใจชีวิตจริงของความสัมพันธ์ของมนุษย์และที่สำคัญที่สุดก็คือ“อ่านคน”ไม่เป็นจนไม่รู้เท่าทันคนอื่น ถูกชักนำ ถูกหลอก ไม่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนอื่นและของสถานการณ์จนมีปัญหาเมื่อออกไปทำงานเพราะไม่เคยฝึกฝนเรื่องการ“อ่านคน”มาก่อน

5.) รู้เท่าทันการต้องมีคุณค่าของมนุษย์ (human values)ในโลกที่ซับซ้อนและสับสนอีกทั้งชีวิตก็เปราะบาง สิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ “อยู่รอด อยู่ดี” ได้ก็คือการมีคุณธรรมประจำใจ การชื่นชมศรัทธาความดี ความงามและความจริง ถ้าไม่มีหลักการที่มั่นคงประจำใจ เปรียบเสมือนมวยหลัก(ตรงข้ามก็คือมวยวัดที่ชกไปอย่างไม่มีความรู้และหลักที่ต้องจำ รับรองถูกน๊อกเสมอ) ไม่ช้าไม่นานความเดือดร้อนต้องมาเยือนชีวิตจนหาความสุขและความก้าวหน้าในชีวิตได้ยากแต่

ถึงแม้จะมีหลักชัยที่ดีแล้ว (ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม)แต่ระหว่างการเดินทางก็จำต้องมีหลักการปฏิบัติประกอบด้วยเช่น การมีcivility (การมีมารยาท มีความสุภาพอ่อนโยน ให้เกียรติคนอื่น) การมีวาจาสุภาพไม่ก้าวร้าวมีความเห็นอกเห็นใจอย่างมีเมตตาความเป็นมิตร การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ มีความรู้สึกร่วมเห็นอกเห็นใจผู้อื่น(empathy) การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น การมีจิตอาสาจิตสาธารณะฯลฯ

การที่มนุษย์มีชีวิตเดียว อยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎศีลธรรมของสังคม อีกทั้งต้องดิ้นรนทำมาหากินเพื่อดำรงชีวิต ฯลฯ จึงทำให้การ“อยู่รอดอยู่ดี”มิใช่เรื่องง่ายแต่ก็มิใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วถ้าใคร่ครวญนำไปปฏิบัติและมีหลักการในชีวิต ที่ดี