ระบบสุขภาพ กับนวัตกรรมการบริการ

ระบบสุขภาพ กับนวัตกรรมการบริการ

ในปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคเรื้อรังมากขึ้นทุกปี โดยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ

ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เป็นกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก และของประเทศไทย

จากข้อมูลระยะเวลารอรับบริการของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่คลินิกโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียเวลาค่อนข้างมากไปกับการรอคอยพบแพทย์ ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในระดับต่ำหรือไม่พึงพอใจต่อการบริการที่ได้รับ 

ปัจจุบันร้านขายยาหรือเภสัชกรใกล้บ้านมีบทบาทสำคัญต่อการรักษาของผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น โดยมีการเยี่ยมบ้านโดยเภสัชกรหรือการที่มีเภสัชกรร่วมอยู่ในทีม เยี่ยมบ้านนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะการช่วยลดปัญหาการใช้ยาและทำให้ผลลัพธ์ทางคลินิกดีขึ้น

ระบบคลินิกเติมยาโดยเภสัชกรร้านยา หรือโครงการนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วย โดยร้านยาคุณภาพและร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ เป็นโครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแกนนำเครือข่ายร้านยาคุณภาพในจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่นและโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 เพื่อร่วมกันจัดทำระบบเติมยาให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และศูนย์แพทย์ชุมชนของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น 

โดยเภสัชกรจากเครือข่ายร้านยาคุณภาพและร้านยาที่มีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาที่เปิดทำการในจังหวัดขอนแก่น ที่มีการพัฒนาขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 20 ร้านยา มีวัตถุประสงค์พัฒนาระบบบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาบทบาทของเภสัชกรร้านยาให้มีส่วนร่วมในการดูแลประชาชนด้านยาและสุขภาพ เนื่องจากร้านยาเป็นบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และกระจายอยู่ทั่วไปในชุมชน หากระบบสาธารณสุขของประเทศไทยสามารถดึงเภสัชกรร้านยาเข้ามามีส่วนร่วมได้ก็จะช่วยเติมเต็มระบบสุขภาพของประเทศได้

โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งระบบเติมยาในเครือข่ายร้านยานี้ขึ้นมาเพื่อ

  1. เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็วและทั่วถึง
  2. เพื่อลดภาระงานบริการของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลขอนแก่น ส่งผลให้บริการมีคุณภาพมากขึ้น
  3. เพื่อเพิ่มบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรชุมชนในการดูแลประชาชนในเรื่องของการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม และพัฒนาไปสู่การเป็นเภสัชกรประจำครอบครัวของประชาชน

ในส่วนของรูปแบบการให้บริการระบบคลินิกเติมยาโดยเภสัชกรร้านยาจะมีรูปแบบการให้บริการอยู่สองช่วงคือ การนัดรับยาครั้งแรก และการนัดรับยาครั้งต่อไป ในการนัดรับยาครั้งแรกนั้น เมื่อแพทย์ทำการตรวจรักษาผู้ป่วย และพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการในคลินิกเติมยาโดยเภสัชกร แพทย์จะระบุในเวชระเบียนผู้ป่วยและใบสั่งยาผู้ป่วยนอก เภสัชกรจะทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยและข้อมูลการสั่งยา ในขั้นตอนนี้เภสัชกรจะทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยเพิ่มประเมินสภาวะต่างๆ ได้แก่ อาการข้างเคียงจากยา อาการแพ้ยา ความร่วมมือในการใช้ยารวมทั้งประสิทธิภาพของยาเพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยาและให้ความรู้เรื่องยาแก่ผู้ป่วย จากนั้นให้ผู้ป่วยรับยาในครั้งแรกที่ห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลขอนแก่นหรือศูนย์แพทย์ชุมชน และนัดผู้ป่วยเติมยาในครั้งถัดไปที่สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่ายร้านยาคุณภาพตามรายชื่อที่ระบุไว้ พร้อมให้ใบสั่งยาสำหรับเติมยาที่ร้านยา

สำหรับรูปแบบการให้บริการในการนัดรับยาครั้งถัดไป เมื่อผู้ป่วยมาพบเภสัชกรที่สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนและเครือข่ายร้านยาคุณภาพตามรายชื่อที่ระบุไว้เพื่อเติมยาในครั้งถัดไป เภสัชกรจะสัมภาษณ์ผู้ป่วยเกี่ยวกับสภาวะโรคและการใช้ยา เพื่อประเมินอาการ ประสิทธิภาพของการรักษา กรณีที่เภสัชกรทำการประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจร่างกายหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการใดๆ เภสัชกรจะส่งต่อผู้ป่วยให้แพทย์ หรือขอคำปรึกษาจากแพทย์ในการแก้ไขปัญหา โดยการปรับยา หยุดยา หรือเปลี่ยนการรักษา รวมถึงการสั่งตรวจค่าทางห้องปฏิบัติการ กรณีที่เห็นว่าจำเป็นซึ่งเภสัชกรสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อแพทย์ได้เห็นชอบกับวิธีการนั้นๆ แล้วเท่านั้น กรณีผู้ป่วยมีอาการคงที่ก็จะทำการจ่ายยาเดิมให้ผู้ป่วยรวมทั้งให้คำแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วยและออกบัตรนัดรับยาในครั้งต่อไป

ภายหลังดำเนินโครงการนำร่องประมาณ 1 ปี ปรากฏว่าประชาชนต่างพึงพอใจต่อระบบการเติมยานี้มาก เพราะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะอาการคงที่แต่ต้องรับยาต่อเนื่อง ณ จุดใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลทุกเดือน แต่จะไปเฉพาะตามแพทย์นัดตรวจติดตามอาการ 3-6 เดือนเท่านั้น

กรณีศึกษาระบบคลินิกเติมยาโดยเภสัชกรร้านยา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นสะท้อนให้เห็นถึง นวัตกรรมในการบริการด้านระบบสุขภาพที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน มีรูปแบบหลักการที่เห็นได้ชัดไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อเอื้อต่อพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยผลของการดำเนินงานพบว่าทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดความหนาแน่นของการให้บริการ ช่วยลดต้นทุนการเดินทาง สร้างคุณค่าให้กับการบริหารที่รวดเร็วและสะดวกต่อผู้ป่วยมากขึ้น

--------------------------

เครดิตกรณีศึกษาโดย คุณรชต มุขรัตนมณีศรี นักศึกษาหลักสูตร 4+1 (ตรีควบโท) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล