สุดยอดโปรเจคนวัตกรรม ในธุรกิจธนาคาร (1)

สุดยอดโปรเจคนวัตกรรม ในธุรกิจธนาคาร (1)

เมื่อเร็วๆ นี้ เว็ปไซต์ thefinancialbrand.com ได้นำเสนอรายชื่อ 10 สุดยอดนวัตกรรมสำหรับธุรกิจธนาคารต่างๆ

ซึ่งเป็นผลมาจากความคิดริเริ่มระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการธนาคาร 2 แห่ง คือ European Financial Management Association หรือ EFMA และ Bank Administration Instituteหรือ BAIร่วมกันจัดขึ้น

เพื่อต้อองการจะทราบว่า ธนาคารใดในโลก ที่ได้ชื่อว่าเป็นธนาคารที่สร้างนวัตกรรมได้ดีที่สุด และทิศทางของการพัฒนานวัตกรรมสำหรับธุรกิจการธนาคารเป็นไปอย่างไร

ธุรกิจการธนาคาร ถือได้ว่าเป็นธุรกิจการให้บริการ ซึ่งกระบวนการและวิธีการในการสร้างนวัตกรรมจะแตกต่างไปจากธุรกิจการผลิตที่มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เนื่องจากธรรมชาติของธุรกิจมีความแตกต่างกันอย่างมาก

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากการให้บริการ มักจะจับต้องไม่ได้ไม่เหมือนกับสินค้าที่เกิดจากการผลิตในโรงงาน การให้บริการมักจะเกิดขึ้นในขณะที่ผู้ให้บริการและลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันโดยตรง ในขณะที่ภาคธุรกิจการผลิต ผู้ผลิต กับผู้บริโภค อาจไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงก็ได้

ในการคัดเลือกสุดยอดนวัตกรรมสำหรับธุรกิจการธนาคารในปี 2017 ที่ผ่านมา มีสถาบันการเงิน 183 แห่งจาก 59 ประเภท ร่วมส่งผลงานนวัตกรรมรวม 467 เรื่องเพื่อการพิจารณา โดยทางผู้จัด ได้แบ่งประเภทของการสร้างสรรค์นวัตกรรมออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่

(1) ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีนวัตกรรมยอดเยี่ยม ได้แก่ แอพพลิเคชั่นสำหรับการบริการทางการเงินให้กับเกษตรกร ของ DenisBank (ประเทศตุรกี) ที่พัฒนาขึ้นโดยยึดวงจรชีวิตปกติประจำวันของเกษตรกรเป็นพื้นฐานในการให้บริการ ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ที่โดดเด่นนอกเหนือไปจากแอพพลิเคชั่นที่ธนาคารต่างๆ พัฒนาขึ้นทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการจัดการพื้นที่เกษตร แนะนำพืชหมุนเวียนที่เหมาะสมกับฤดูกาล วิธีการให้น้ำและสารอาหารที่ถูกต้องกับพืชที่ปลูก รวมถึงการบริหารจัดการเครื่องจักรการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่นอกวงความชำนาญของธนาคารโดยสิ้นเชิง

(2) Phygital Distribution ยอดเยี่ยม ซึ่งหมายถึงการประยุกต์ใช้ช่องทางการให้บริการทางกายภาพ (Physical) ร่วมกับการให้บริการด้านดิจิทัล (Digital) อย่างสร้างสรรค์ เป็นของ Idea Bank (ประเทศโปแลนด์) ที่ได้เปิดสาขาย่อยโดยเหมาตู้โบกี้ของขบวนรถไฟที่นักธุรกิจมักจะใช้ในการเดินทาง โดยให้บริการแบบ co-working space ที่ผู้ถือตั๋วโดยสารทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการต่างๆ ได้ เช่น มุมกาแฟ จุดชาร์ตแบตมือถือ ไวไฟ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ และสาสมารถใช้บริการทางการเงินของธนาคารได้ โดยผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าของธนาคาร จะได้รับสิทธิ์การใช้บริการเป็นพิเศษกว่าผู้โดยสารทั่วไป ซึ่งนอกจากสร้างความประทับใจให้กับผู้มาใช้บริการและยังสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมให้กับธนาคารอีกด้วย

(3) นวัตกรรมการตลาดดิจิทัลยอดเยี่ยม เป็นของ DBS Bank (ประเทศสิงคโปร์) สำหรับการจัดทำมินิซีรีย์ 7 ตอน ชื่อ DBS Sparks ที่ดำเนินเรื่องราวของการให้บริการของธนาคารโดยใช้พนักงานตัวจริงของธนาคารร่วมกับลูกค้าเอสเอ็มอีตัวจริง นำเรื่องจริงมาถ่ายทอดเกี่ยวกับความรู้ด้านการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับลูกค้าในธุรกิจต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มของยูทูป ซึ่งทำให้ผู้ชมได้รับสาระและข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ลึกซึ้งกว่าการสื่อสารผ่านช่องทางการโฆษณาแบบปกติ และยังสามารถเข้าถึงผู้ชมได้อย่างกว้างขวางกว่า 100 ล้านวิว ทำให้กับธนาคาร DBS ได้ลูกค้าในกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินกับธนาคาร เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์หรือไม่กล้าเข้าติดต่อกับธนาคาร ซึ่งยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากธนาคาร DBS มีสาขากระจายอยู่ตามประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสาขาในประเทศจีน อีกด้วย

(4) นวัตกรรมด้าน การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data), การวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตกเป็นของธนาคาร Sberbank (ประเทศรัสเซีย) จากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาให้ข้อมูลและข้อแนะนำให้กับลูกค้าในระบบออนไลน์แบงกิ้งของธนาคาร เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของตนเอง ทั้งในด้านการออม การสร้างวินัยทางการเงิน และการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นไปที่การมองโอกาสในอนาคต ซึ่งแตกต่างจากการใช้สถิติในอดีตมาวิเคราะห์ โดยลูกค้าสามารถโต้ตอบหรือปรึกษาข้อแนะนำได้แบบสดๆ กับปัญญาประดิษฐ์ บทสนทนาโต้ตอบของลูกค้า ยังทำให้ธนาคารสามารถนำมาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย

(5) นวัตกรรมด้านการสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์กับลูกค้า ธนาคาร KBC Bank (ประเทศเบลเยี่ยม) นำเสนอบริการ “My car” ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนมาสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันการทุจริตตลอดกระบวนการซื้อรถยนต์ของลูกค้า โดยครอบคลุมตั้งแต่ลูกค้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ ไปจนถึงการได้เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสมบูรณ์ อำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่บริษัทผู้ขายรถ การขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการ บริษัทประกันภัย และกระบวนการให้สินเชื่อ การชำระค่างวด ตลอดจนถึงข้อมูลการเข้าบริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อต่อในกรณีต้องการขายรถคันเดิม การใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน จะทำให้กระบวนการต่างๆ เชื่อมโยงกันได้อย่างรวดเร็วและไม่สามารถทำให้เกิดการหลอกลวงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในกระบวนการซื้อขายรถยนต์ด้วยวิธีการปกติ

สำหรับนวัตกรรมอื่นๆ ที่เหลือ คงจะต้องยกยอดไปเล่าในบทความตอนหน้า

เนื่องจากเนื้อที่หมดพอดีครับ!