Robo-advisor แบบไทย ๆ กับ '5 ขั้นมั่นใจลงทุน' โดย ก.ล.ต.

Robo-advisor แบบไทย ๆ กับ '5 ขั้นมั่นใจลงทุน' โดย ก.ล.ต.

การให้คำแนะนำด้านการลงทุนแบบ Asset Allocation จะใช้ช่องทางที่ปรึกษาการลงทุนเป็นหลัก

คราวที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับ Robo-advisor ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้าน Fintech ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในแวดวงตลาดทุนทั่วโลก วันนี้ผมจะขอพูดถึงวิวัฒนาการของ Robo-advisor ในประเทศไทยให้ฟังนะครับ ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นกำเนิดและเป็นผู้นำด้าน Robo-advisor นั้น ขั้นตอนการเปิดบัญชี การแนะนำ Asset Allocation ตลอดจนการเริ่มต้นลงทุน การรายงานผลและการปรับน้ำหนักการลงทุน เป็น กระบวนการที่ทำผ่านช่องทาง Online ทั้งหมด (ผู้ใช้งานทำด้วยตัวเองผ่านทาง Mobile Application หรือ Website ได้ทันที) และทุกขั้นตอนเป็นการทำงานแบบอัตโนมัติด้วย Robot (เป็นที่มาของคำว่า Robo-advisor) โดยสินค้าทางการเงินหลักที่ใช้จัดพอร์ตแบบ Asset Allocation คือกองทุนประเภท ETF (Exchange Traded Funds) แต่สำหรับในประเทศไทยนั้น ETF ยังไม่มีความหลากหลายเพียงพอ ทำให้ไม่สามารจัดพอร์ต ETF ให้ครอบคลุมแต่ละสินทรัพย์ภายใต้ Asset Allocation Model ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น Robo-advisor และการลงทุนแบบ Asset Allocation ในประเทศไทยจึงนิยมใช้กองทุนรวม (Mutual Funds) เป็นตัวหลักในการจัดพอร์ต 

ช่วงเวลาก่อนนี้ การให้คำแนะนำด้านการลงทุนแบบ Asset Allocation จะใช้ช่องทางที่ปรึกษาการลงทุนเป็นหลัก ซึ่งบริการแบบนี้จะกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำอย่างน้อยประมาณ 10 ล้านบาท เนื่องจากการใช้ที่ปรึกษาที่เป็นมนุษย์คอยนัดหมายและพูดคุยกับลูกค้าแต่ละคนนั้น มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงและดูแลลูกค้าได้ในจำนวนจำกัด ส่งผลให้คนทั่วไปที่อยากเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินที่มีอยู่ไม่มากนัก ต้องเรียนรู้และหาช่องทางการลงทุนด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้เองเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วจึงเริ่มมีบริการซื้อขายกองทุนรวมแบบ Online ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลรายละเอียดของแต่ละกองทุนใน Website เพื่อเลือกกองทุนรวมที่น่าสนใจ รวมทั้งกำหนดสัดส่วนในการลงทุนและทำรายการซื้อขายกองทุนด้วยตัวเอง โดยที่วิธีการนี้จะเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับประชากรของประเทศทั้งหมด 66 ล้านคน ต่อมาเมื่อ Robo-advisor เริ่มมีกระแสความนิยมในต่างประเทศ ผู้ให้บริการซื้อขายกองทุนรวมในประเทศไทยก็เริ่มให้ความสำคัญกับการจัดพอร์ตแบบ Asset Allocation มากขึ้น โดยผู้ลงทุนสามารถดูพอร์ตที่ผู้ให้บริการแนะนำและเลือกลงทุนตามได้ แต่ส่วนมากต้องทำรายการซื้อขายกองทุนแต่ละรายการด้วยตัวเอง และติดตามผลการลงทุนด้วยตัวเอง รวมทั้งขั้นตอนการเปิดบัญชียังคงมีความยุ่งยากเรื่องเอกสาร ทำให้จำนวนผู้ใช้งานมีไม่มากเท่าที่ควร

จนล่าสุดเมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ริเริ่มโครงการ '5 ขั้นมั่นใจลงทุน' (www.5ขั้นมั่นใจลงทุน.com) เพื่อเป็นตัวช่วยสำคัญให้ประชาชนทั่วไปสามารถเริ่มต้นลงทุนได้อย่างมั่นใจ กระแสเรื่องการลงทุนแบบ Asset Allocation ก็เป็นที่พูดถึงมากขึ้นในแวดวงตลาดทุน โดยมีสถาบันการเงินแนวหน้าของไทยเข้าร่วมโครงการอย่างพร้อมหน้า ทุกรายต่างจัดให้มีแนวทางการให้บริการที่สอดคล้องกับโครงการดังกล่าว ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน

ได้แก่ 1) การวิเคราะห์ความต้องการของผู้ลงทุน 2) การกำหนดสัดส่วนเงินลงทุน 3) การเลือกลงทุนตามเป้าหมาย 4) การติดตามและปรับกลยุทธ์ และ 5) การรายงานสถานะการลงทุน ภายใต้โครงการนี้ มีกลุ่มสถาบันการเงินที่ใช้ Mobile Application และ Website เป็นช่องทางหลักในการให้บริการ โดยที่บางรายมีบริการ Robo-advisor ซึ่งมีระดับของบริการเทียบได้กับของประเทศสหรัฐอเมริกา และบางรายมีแผนงานชัดเจนที่จะพัฒนากระบวนการให้เข้าใกล้ความเป็น Robo-advisor มากขึ้น

ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีนี้ ประชาชนทั่วไปจะมีช่องทางที่หลากหลายในการเริ่มต้นลงทุนแบบง่าย ๆ ด้วยเงินน้อย ๆ ซึ่งจัดเป็นการลงทุนแบบระยะยาว สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) พอดี โดยในตอนหน้า ผมจะขอเล่าในรายละเอียดของ Robo-advisor แบบไทย ๆ และทิศทางการพัฒนาในอนาคตให้ฟังนะครับ