ฉลอง 40 ปี เศรษฐกิจจีน และ 2 คำถามเศรษฐกิจไทย

ฉลอง 40 ปี เศรษฐกิจจีน และ 2 คำถามเศรษฐกิจไทย

2 อาทิตย์ก่อน ผมไปร่วมเป็นวิทยากรงานสัมนาระดับสูง ฉลอง 40 ปี ความสำเร็จของจีนในการปฏิรูปและเปิดเสรีเศรษฐกิจ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

จัดโดยสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ประเทศอาเซียน +3 กระทรวงการคลังจีน และธนาคารกลางจีน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าแบงก์ชาติจีน กล่าวเปิดงาน

งานสัมนาพูดถึงความสำเร็จของจีนในการพัฒนาประเทศ 40 ปีที่ผ่านมา (ปี1978 – 2018) ที่จีนเปลี่ยนจากประเทศกำลังพัฒนา รายได้ต่ำ มาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ และความเป็นอยู่ของคนจีนที่มีมากถึง 1.3 พันล้านคนก็ดีขึ้นถ้วนหน้า รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เท่า จากประมาณ 200 ดอลลาห์สหรัฐต่อคนต่อปี ในปี 1978 เป็น 8,000 ดอลลาห์สหรัฐต่อคนต่อปี อัตราความยากจนลดลงจาก 97.5% คือ คนจีน 97 คนใน 100 คน มีความเป็นอยู่ในระดับยากจน ลดเหลือเพียง 3.1% ในปี 2018 ถือเป็นความสำเร็จที่มหัศจรรย์ และสร้างผลเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

งานสัมนาระดมนักวิชาการจีนและต่างประเทศมาให้ความเห็น ระดมสมอง เพื่อการวางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป ให้จีนก้าวไปสู่ประเทศรายได้ระดับสูง รวมถึงศึกษาผลกระทบของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของจีน ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซีย ซึ่งผมได้ถูกเชิญมาให้ความเห็นในประเด็นหลังนี้ว่า ผลต่อประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ฉลอง 40 ปี เศรษฐกิจจีน และ 2 คำถามเศรษฐกิจไทย

วันนี้ จึงอยากแชร์ความเห็นของผมที่ให้ไว้ในงานสัมนาให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

ความสำเร็จของจีนในการพัฒนาประเทศ ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่ามหัศจรรย์และเหนือความคาดหมาย เพราะ 1.) เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตในระดับที่สูงได้ต่อเนื่อง 2.) สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องโดยไม่มีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แม้จะมีแรงกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่เกิดขึ้นหลายครั้ง 3.) ประชาชนได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจแบบทั่วหน้า สะท้อนจากอัตราความยากจนที่ลดลง คำถามจึงตามมาว่า จีนทำได้อย่างไร อะไรคือ ปัจจัยความสำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในเงื่อนไขที่จีนต้องละทิ้งระบบสังคมนิยมเดิม มาใช้ระบบเสรีนิยม หรือกลไกตลาดในการพัฒนาประเทศ

เท่าที่พิจารณาจากข้อมูลในงานสัมนา ประมวลได้ว่า ปัจจัยความสำเร็จของจีนที่สำคัญน่าจะมาจาก

หนึ่ง ความสำเร็จในการเปลี่ยนความคิด หรือแนวคิด(mindset) ของคนจีนทั่วประเทศให้ออกจากความคิดเดิมของการจัดสรรสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามระบบสังคมนิยม ที่จะแบ่งปันตามความจำเป็นของแต่ละคน ที่จะค่อนข้างเท่าเทียมกัน มาเป็นการจัดสรรประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามกลไกตลาด ที่จะไม่เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ และวิริยะอุตสาหะของแต่ละคน ถือเป็นการปลดปล่อยความคิดเดิมที่คนทั่วประเทศต้องเห็นด้วยและพร้อมปรับตัว ซึ่งก็นำมาสู่การสร้างโมเมนตัมให้กับการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างที่เกิดขึ้น

สอง ศึกษาความเป็นจริงของเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง(Seeking Truth) ให้เข้าใจสถานการณ์ของประเทศอย่างถูกต้อง เข้าใจการทำงานของระบบทุนนิยม นำไปสู่การเปิดเสรีและการนำกลไกตลาดมาใช้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากเล็กไปใหญ่ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ทดลอง ค่อยๆ ขยายจนระบบเศรษฐกิจทั้งระบบหลุดออกจากการวางแผนจากส่วนกลางของระบบสังคมนิยม เข้าสู่ระบบตลาดอย่างสมบูรณ์

สาม ความสำเร็จของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจจีน ในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์เทคโนโลยีต่างประเทศ พูดได้ว่า จีนเป็นประเทศระดับต้นในโลกที่สามารถดูดซับและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ดีที่สุด สามารถนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ร่วมกับต้นทุนแรงงานที่ต่ำจนเกิดประสิทธิภาพและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ขณะที่ภาครัฐสนับสนุนโดยการออกกฎ ระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจของภาคเอกชน สนับสนุนโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและมีตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ทั้งในภาคเศรษฐกิจและสังคม เช่น ผลิตภาพของการผลิต(productivity) มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้จีนสามารถติดตามและปรับนโยบายการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นขั้นตอนตามความเป็นจริง

ที่สำคัญ ความสำเร็จของการพัฒนามีให้เห็นในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นความทันสมัยของภาคอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา ความเป็นอยู่ของประชาชน และความยิ่งใหญ่ของบริษัทธุรกิจจีน ล่าสุด ในรายชื่อบริษัทใหญ่ที่สุดของโลก จัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บ(Forbes) 5 อันดับแรก มีบริษัทจีนติดอันดับถึง 3 บริษัท คือ State Grid, Sinopec และ China National Petroleum

การเติบโตและความสำเร็จของจีนได้ส่งผลอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงภูมิภาคอาเซียน ต่อคำถามว่า ประเทศไทยถูกกระทบอย่างไรจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีน และไทยกำลังเตรียมตัวอย่างไรสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงมองเห็นโอกาสอะไรบ้างที่เศรษฐกิจภูมิภาคจะได้ประโยชน์จากการรวมตัวในอนาคต คำตอบของผมคือ การเติบโตของจีนได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจภูมิภาคใน 3 ด้าน

ประการแรก ด้านการสร้างโอกาส ที่ทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียนเติบโตมาก ได้ประโยชน์จากตลาดหรือกำลังซื้อของจีนที่ใหญ่ และจากความใหญ่ของอาเซียนที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ตัวอย่างเช่น จีน ปัจจุบันเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย นักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทย ส่วนใหญ่ขณะนี้คือนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่บริษัทไทยก็มีสัดส่วนสำคัญในห่วงโซ่การผลิตของจีนที่ส่งสินค้าไปขายทั่วโลก รวมถึงไทยก็ได้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงของจีน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ นี่คือประโยชน์ที่ได้

ด้านที่ 2 จีนก็ได้ประโยชน์เช่นกันกับการค้าขายและการลงทุนกับประเทศในอาเซียน นับเป็นประโยชน์ร่วมกันที่การส่งออกและการนำเข้าของจีนก็ขยายตัวมากในตลาดอาเซียน ปัจจุบัน ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกับจีนมากที่สุด ถึงแม้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในภาพรวมจะเกินดุล นี่คือประโยชน์ที่จีนได้

ด้านที่ 3 การเติบใหญ่ของจีน ทำให้สถานะและการยอมรับเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียในเวทีเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้นและเริ่มมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายในระดับสากลได้มากกว่าในอดีต รวมถึงมีการจัดตั้งกลไกการเงินที่จะสอดส่องดูแลและป้องกันวิกฤติทางการเงินไม่ให้เกิดขึ้นในภูมิภาค เช่น CMIM ที่เป็นความร่วมมือระหว่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ที่ปัจจุบันถือเป็นเครือข่ายสำคัญของกลไกการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก

สำหรับประเทศไทย ด้านการพัฒนาประเทศ ความท้าทายจากนี้ไป คือ การสร้างเศรษฐกิจให้มีความสามารถในการแข่งขัน มีความสามารถด้านนวัตกรรมที่จะสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ และสิ่งที่ต้องผลักดัน ในแง่นโยบาย คือ 1.) ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และความสามารถในการแข่งขัน 2.)ทำให้กระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้คนในประเทศสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้นเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ 3.) เตรียมตั้งรับกับปัญหาคนสูงวัยที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญ 4.) รับมือกระแสปั่นป่วนของเทคโนโลยี(Disruption) เพื่อการเติบโตที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจ และ5.) ปรับปรุงระบบราชการให้มีความเข้มแข็งเชิงสถาบัน โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล ที่นำไปสู่การดำเนินนโยบายสาธารณะที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลก็ตระหนักในความท้าทายเหล่านี้ และได้วางนโยบายประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เป็นแนวทางและกรอบในการกำหนดนโยบายและพัฒนาประเทศ และที่ต้องตระหนักคือ ความท้าทายทั้งในเรื่องผลิตภาพการผลิตและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เป็นความท้าทายที่ทุกประเทศในเอเชียกำลังเผชิญ ซึ่งการก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้จะได้ประโยชน์ ถ้าการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคสามารถทำได้มากกว่าและลึกกว่าที่ผ่านมา เช่น ด้านเทคโนโลยี การลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน และแนวปฏิบัติของภาคเอกชนในการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งทั้งหมดจะช่วยลดต้นทุน สร้างประสิทธิภาพ และปูทางเศรษฐกิจภูมิภาคไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

นี่คือความเห็นที่ผมฝากไว้กับที่ประชุม