Robinhood กับเป้าหมาย Amazon แห่งโลกการลงทุน

Robinhood กับเป้าหมาย Amazon แห่งโลกการลงทุน

Robinhood มองไปถึงการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่รวบรวมโปรดักท์ทางการเงินการลงทุนไว้ทั้งหมดภายในแพลตฟอร์มเดียว

ไม่นานมานี้ Co-Founders ของ Robinhood ซึ่งเป็นฟินเทคสายInvestment ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่าธุรกิจ 5,600 ล้านเหรียญ มีฐานประจำการอยู่ที่แคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดตัว In-House Clearing Service ของตัวเองขึ้น เพื่อรองรับการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับ Third Party อื่น (ทั่วไปแล้วฟินเทคสายการลงทุนมักทำงานร่วมกับโบรกเกอร์ค้าหุ้น) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังเพิ่มความคล่องตัวในการสร้างโปรดักท์ใหม่ๆในอนาคต

เป้าหมายระยะยาวของ Robinhood นอกเหนือจากการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ยังมองไปถึงการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่รวบรวมโปรดักท์ทางการเงินการลงทุนไว้ทั้งหมดภายในแพลตฟอร์มเดียว อ้างอิงจากคำพูดของ Co-Founders ในอนาคต Robinhood จะก้าวขึ้นมาเป็นAmazon ของโลกการลงทุน หมายความว่าต่อไปใครที่ต้องการมองหาโปรดักท์ทางการเงินก็จะต้องวิ่งเข้าหา Robinhood

ก่อนอื่นขอเล่าถึงรูปแบบธุรกิจของ Robinhood ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นที่สามารถซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อเมริกาได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ถือเป็นการ Disrupt อุตสาหกรรมโบรกเกอร์อย่างแท้จริงเพราะรายได้หลักของนายหน้าค้าหุ้นนั่นคือส่วนแบ่งค่าคอมมิชชั่นจากการซื้อขายนั่นเอง 

คำถามคือแล้วบริษัทฯมีรายได้มาจากทางไหน? จริงๆแล้ว Robinhood มีส่วนแบ่งรายได้มาจากส่วนต่างของ Spread ราคาหุ้น หากไม่เข้าใจลองนึกภาพตามว่าเวลาที่จะซื้อขายหุ้นจะมีราคาเสนอซื้อและเสนอขายอยู่สองฝั่งซึ่งส่วนใหญ่จะมีส่วนต่างราคาที่ไม่มากนัก ผู้ใช้งาน Robinhood อาจจะต้องเสียส่วนต่างราคาไปเพื่อแลกกับการไม่เสียค่าธรรมเนียมซื้อขาย 

รูปแบบดังกล่าวอาจไม่สะดวกสำหรับผู้ที่ซื้อขายเร็วและจบในวันหรือ Daytrade เพราะส่วนต่างราคาเสียเปรียบ แต่สำหรับผู้ที่ซื้อขายไม่บ่อยมากนักอาจแฮปปี้กับแนวทางดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทฯยังมีรายได้อื่นจากการปล่อยกู้ Margin Trading ให้กับลูกค้า โดยเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนแต่สามารถเพิ่มวงเงินในการซื้อขายได้มากกว่าปกติ รูปแบบธุรกิจดังกล่าวเป็นต้นแบบให้ฟินเทคด้านการลงทุนอื่นๆนำมาใช้ตามอย่างในฮ่องกงก็มี 8 Securities  สิงคโปร์มี Bamboo แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง Goldman Sack ยังกระโดดเข้ามาร่วมวงในธุรกิจค่าธรรมเนียมซื้อขาย0% 

เดือนมิถุนายนปีนี้เอง Robinhood ยังได้ยื่นเรื่องขอไลเซ่นส์การเป็นธนาคารพาณิชย์กับทางการสหรัฐฯ และมีจำนวนลูกค้าแตะ 6 ล้านรายไปแล้ว ความสำเร็จของ Robinhood ที่มาได้ถึงจุดนี้เป็นเพราะได้ผ่านการ Raise Fund นับครั้งไม่ถ้วน เพราะเป็นการยากที่บริษัทฯจะมีรายได้จากกลยุทธ์ค่าธรรมเนียม 0% ไม่นับแรงเสียดสีจากผู้ที่อยู่ในธุรกิจดั้งเดิมซึ่งเคยเป็นเสือนอนกินมาก่อน 

ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มองว่ารูปแบบธุรกิจดังกล่าวไม่ง่ายที่จะเกิดในประเทศที่ไม่เปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันที่เสรีรวมถึงการกำกับดูแลของ Regulator ที่ต่างกันออกไป 

หาก Robinhood ในหนังสือคือความหวังของชาวเมือง Notting Forest ในการสู้เพื่อความยุติธรรม Robinhood ในโลกการลงทุนก็คือแรงบันดาลใจและต้นแบบของฟินเทคด้านการลงทุนทั่วโลก ที่หวังว่าโปรดักท์การลงทุนจะได้รับการยอมรับในระดับแมสได้เช่นกัน