ประเทศผมมีปาฏิหาริย์

ประเทศผมมีปาฏิหาริย์

การที่เพลงแร็ปแค่เพลงเดียวสามารถจุดกระแสให้ชาวโลกออนไลน์บ้านเราอารมณ์วูบไหวได้ขนาดนี้ เป็นอาการที่น่าเป็นห่วง เพราะอีกไม่กี่เดือน

หลังจากนี้จะมีการเลือกตั้งแล้ว ช่วงเวลาหาเสียงจะเปลี่ยนโลกออนไลน์ให้กลายเป็นสมรภูมิสงคราม มันเป็นช่วงเวลาของการมองข้ามจุดร่วม และตีแผ่จุดต่าง ซึ่งปลายทางของการทำแบบนี้คือการตอกลิ่มลงไปให้คนไทยแตกแยกกันมากกว่าเดิม

ในกรณีของเพลงแร็ปเพลงนี้ ความเห็นต่างที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสดีของประเทศไทย ด้านหนึ่งเราก็ได้เห็นคนออกมาพูดในเรื่องซึ่งอยู่ในใจคนหลายคน แต่ไม่ได้พูดออกมา อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เรารู้ว่า แม้บ้านเมืองเราจะไม่ได้สมบูรณ์พร้อม แต่คนที่รักประเทศไทยก็มีอยู่เยอะมาก ประเทศที่มีคนรักเยอะแบบนี้จะไม่ถูกทำลายลงเพราะเพลงแค่เพลงเดียวแน่นอน

หากจะอธิบายปรากฎการณ์อารมณ์หวือหวาของพลเมืองออนไลน์ในบ้าน ก็ต้องทำความเข้าใจกับของคนในชาติอย่างลึกซึ้ง ตามแนวคิดฮอฟสตีดซึ่งเป็นนักวิชาการด้านการจัดการข้ามวัฒนธรรม ระบุว่าวัฒนธรรมแบ่งได้เป็น 6 มิติ คือ

1) ระดับการยอมรับความเหลื่อมล้ำของอำนาจ ประเทศไหนที่มีระดับการยอมรับในเรื่องนี้สูง คนในประเทศจะมองว่าการสั่งการจากบนลงล่าง มีเจ้านายก็ต้องมีลูกน้อง

2) ระดับความเป็นปัจเจกนิยมหรือการสนใจตัวเอง คนในประเทศที่มีความเป็นปัจเจกนิยมสูงมักชอบทำงานคนเดียว คิดเอง ทำเอง และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม หรือการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน

3) ระดับความเป็นชาย สังคมที่มีระดับความเป็นชายสูง ให้ความสำคัญกับการแข่งขันและชัยชนะมากกว่าผลประโยชน์ร่วมกันของทุกคน

4) การหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน  เมื่อไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็จะหาทางสร้างลดความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของวัฒนธรรมที่เน้นการทำงานเป็นระบบ หรือพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ได้

5) การมองการณ์ไกล โดยยึดเอาผลประโยชน์ระยะยาวมาเป็นหลักในการตัดสินใจ

6) การแสดงออกทางอารมณ์ ประชาชนของประเทศที่ระดับวัฒนธรรมด้านนี้สูงจะเป็นคนที่รู้จักควบคุมตัวเอง มีวิจารณญาณในการแสดงความเห็นและแสดงออกในเรื่องต่างๆ

ประเทศผมมีปาฏิหาริย์

ที่มา: https://www.hofstede-insights.com

แผนภูมิแท่งที่แสดงไว้ มีระดับคะแนนวัฒนธรรมทั้ง 6 มิติ (คะแนนเต็ม 100) ของ 3 ประเทศ คือ จีน ไทย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเห็นได้ว่า คนไทยยังยอมรับเรื่องความเหลื่อมล้ำของอำนาจ ยังมีนายใหญ่มีลูกน้อง (มิติที่ 1) มีความเป็นพวกพ้องสูง (มิติที่ 2) ไม่ได้ต้องการแข่งขันฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย (มิติที่ 3) ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง (มิติที่ 4) ขาดการมองการณ์ไกล (มิติที่ 5) และมีระดับการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ในระดับปานกลาง (มิติที่ 6)

ถ้าเปรียบเทียบกับจีนและสหรัฐแล้ว วัฒนธรรมของเราอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นจีนและเป็นอเมริกัน หรือเป็นตะวันออกปนตะวันตก ความผสมปนเปกันแบบนี้แหละที่ทำให้เราอ่อนไหวต่อเรื่องราวต่างๆ มาก จนบางครั้งก็มากจนเกินไป

การยอมรับความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ทำให้เราคาดหวังว่าคนที่มีอำนาจจะช่วยดูแลเราให้กินดีอยู่ดี ถ้าทำไม่ได้ตามที่เราคาดหวัง ก็เข้าทำนองหวังมากเลยผิดหวังมาก อารมณ์เลยแกว่งจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง ความรักพวกพ้องทำให้เราออกมาปกป้องคนที่เราเห็นด้วย จึงเกิดการแบ่งแยกกันเป็นฝักฝ่าย แต่เราก็ไม่ชอบที่จะเห็นการโจมตีทำลายล้างกันจนเกินไป พอเห็นอะไรที่ทำแล้วรู้สึกว่าจะทำให้เกิดการ แพ้-ชนะ ขึ้นมาเลยรู้สึกไม่สบายใจ หากมีใครคิดต่าง หรือทำอะไรไม่เหมือนกับเคยเห็นเป็นประจำก็ทำให้รู้สึกอึดอัดกับความใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คิดอะไรก็รีบโพสต์แสดงความเห็นโดยไม่ค่อยนึกถึงผลที่ตามมา เมื่อประกอบการที่ควบคุมความรู้สึกได้ไม่ดีนัก การแสดงออกในโลกออนไลน์จึงรุนแรง แบ่งขั้วชัดเจน

แม้วัฒนธรรมตะวันออกคาบตะวันตกแบบนี้ทำให้สังคมไทยมีความอ่อนไหวต่อเรื่องราวต่างๆ แต่ความซับซ้อนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ช่วยให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความน่ารักแฝงความแข็งแกร่งในแบบของเรา เราตีกันก็จริง แต่พอถึงจุดที่จะต้องช่วยกัน เราก็พร้อมจะถอดเสื้อลืมสี แล้วจับมือกันผ่านวิกฤติที่เข้ามาไปได้ น้ำท่วมปี 2554 ถ้ำหลวง และอีกสารพัดเรื่องราวดีๆ ยังมีให้ได้เห็นอยู่ทุกวัน ปาฏิหาริย์รายวันแหล่านี้คือสิ่งยึดเหนี่ยวประเทศนี้เอาไว้ เหมือนที่จอน บอง โจวี เคยพูดไว้ว่า

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นทุกวัน เปลี่ยนมุมมองของคุณเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ซะ แล้วคุณจะเห็นว่ามันมีอยู่รอบตัวคุณ

มองหามันให้เจอ แล้วจะรู้ว่าประเทศนี้ยังมีเรื่องดีอีกเยอะแยะเลย