โอกาสสำคัญของประชาชน ร่วมผลิตพลังงานสะอาด ยุค 4.0

โอกาสสำคัญของประชาชน ร่วมผลิตพลังงานสะอาด ยุค 4.0

จาก Consumer สู่ Prosumer ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

 เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่มาจากธรรมชาติ สะอาด และไม่มีวันหมด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยว่าปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย คือการที่ประเทศตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรทำให้ได้รับแสงอาทิตย์ที่มีความเข้มของแสงสูงและคงที่ตลอดทั้งปี บวกกับการที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงอย่างรวดเร็วใน 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้เอง บทบาทของประชาชนจึงเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นผู้บริโภคไฟฟ้า (Consumer) ใช้ไฟจากโรงไฟฟ้าส่วนกลางซึ่งเป็นผู้ผลิตและจ่ายไฟเป็นหลัก จนตอนนี้สามารถเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไฟฟ้า(Prosumer) จากแผงโซลาร์เซลล์ที่ตั้งอยู่บนหลังคา และสามารถจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตเหลือผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้าได้เมื่อมีการเปิดเสรีในอนาคตและมีนโยบายรองรับ

การที่ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้านั้นมีข้อดีหลายประการ อาทิ เป็นการเพิ่มแหล่งผลิตในกิจการพลังงานส่งผลให้กิจการมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม ลดภาระการลงทุนของรัฐ รวมทั้ง เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศ

จะขายไฟจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์คืนสู่ระบบได้ต้องมีมาตรการรองรับ หลายประเทศทั่วโลกได้ออกมาตรการรองรับการขายไฟฟ้าคืนสู่ระบบซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป เมื่อมองโดย

ภาพรวมจะสังเกตเห็นถึง pattern ในการออกมาตรการของประเทศต่างๆ ว่ามักเริ่มจากมาตรการ Feed-in tariff ที่ทางรัฐกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปีแรกๆ ที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังมีต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดต่ำลง ส่งผลให้หลายๆ ประเทศเริ่มนำมาตรการ Net Billing โดยกำหนดอัตราการรับซื้อไฟในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการจัดการของแต่ละประเทศ เลยไปจนถึงมาตรการ Net Metering ซึ่งเป็นการ set off การขายไฟคืนกับการซื้อไฟในมิเตอร์เดียวกัน 

ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้ในหลายประเทศในวงกว้างมากขึ้นซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง โดยระบบโซลาร์เซลล์จะถูกเชื่อมต่อกับสายส่ง เมื่อไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมากกว่าความจำเป็นต่อการใช้ ไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะไหลไปสู่ระบบสายส่งเพื่อส่งไปให้บุคคลอื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ส่งผลให้มิเตอร์หมุนในสองทิศทางแทนที่จะเป็นทางเดียวอย่างที่เคยเป็น โดยประชาชนได้รับผลตอบแทนจากการส่งออกไฟส่วนเหลือนี้เป็นเครดิต สามารถนำมาคำนวณหักล้างบิลค่าไฟตอนสิ้นเดือนได้

ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ออกมาตรการตาม pattern ที่กล่าวมา สืบเนื่องจากต้นทุนของการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดต่ำลง ทางรัฐบาลมาเลเซียจึงได้ออก Net Energy Metering (NEM) scheme เมื่อปี 2016 เพื่อเสริมมาตรการ Feed-in-Tariff และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่มีอยู่แต่เดิม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในวงกว้างมีส่วนร่วมในการช่วยประเทศบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนและลดภาวะโลกร้อนโดยสามารถส่งออกไฟฟ้าที่ตนผลิตเหลือเข้าสู่ระบบสายส่งได้

มุ่งสู่ยุคพลังงาน 4.0 ไปพร้อมกันผ่านมาตรการ Net Metering/Net Billing ในปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีมาตรการไม่ต่างจากทิศทางโลกในการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อบรรลุเป้า

หมายความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้มีการออกมาตรการ Feed-in-Tariff เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ในอนาคตการที่รัฐจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนและขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน 4.0 ได้นั้น มาตรการ Net Metering น่าจะเป็นปัจจัยเสริมที่น่านำมาพิจารณา เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันซึ่งเป็นช่วงที่ระบบโซลาร์ผลิตไฟ 

ล่าสุดทางดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ออกมาประกาศแล้วว่า ทางกระทรวงมีแนวคิดที่จะผลักดันโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองในภาคประชาชนอย่างเสรี และสามารถขายไฟฟ้าได้ เป็นการสร้างรายได้แก่ภาคประชาชน พัฒนาควบคู่ไปกับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ปี 2560-2579 หรือ PDP 2018 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561 ถือเป็นข่าวดีส่งท้ายปีสำหรับวงการพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ 

หากคิดเล่นๆ ต่อไปว่าภาคประชาชนได้ติดตั้งระบบโซลาร์กันอย่างกว้างขวาง หลังคาว่างเปล่าทั่วประเทศได้รวมกันเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย ระบบสายส่งส่วนกลางได้ถูกพัฒนาเข้ามารองรับการผลิตไฟฟ้าของภาคประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวมไปจนถึงข้อมูลการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้ถูกรวมศูนย์เพื่อให้เกิดการจัดการผลิตไฟฟ้าส่วนกลางรองรับได้อย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพ ในวันนั้นการผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์อาจสามารถเข้ามาแบ่งเบาภาระการพิจารณาการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในประเทศได้อย่างเป็นนัยสำคัญก็เป็นได้

โดย... 

กนกวรรณ จิตต์ชอบธรรม

กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด