ปลดล็อคการชุมนุม ปลดล็อคประชาชน : 3 ปี กฎหมายชุมนุมสาธารณะ

ปลดล็อคการชุมนุม ปลดล็อคประชาชน : 3 ปี กฎหมายชุมนุมสาธารณะ

เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จำเป็นต้องมีในสังคมอารยะที่เป็นประชาธิปไตย ในฐานะหลักประกันการคุ้มครองเสียงข้างน้อย

ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนซึ่งมีอำนาจต่อรองทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่มากนักนั้น ได้ส่งเสียงของตนให้คนในสังคมได้ยินว่ายังมีผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อให้สังคมได้มีโอกาสถกเถียงในประเด็นสาธารณะอย่างรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพในการชุมนุมนั้นโดยตัวมันเองก็มีลักษณะที่ต้องกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือประโยชน์สาธารณะบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า “การปะทะกันของสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การชุมนุมอาจจะต้องมีการกีดขวางการจราจารบ้างเพื่อให้ผู้คนในสังคมได้หันมาสนใจประเด็นสาธารณะที่ต้องการนำเสนอต่อสังคม ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงได้มีการตรากฎหมายชุมนุมสาธารณะเพื่อทำให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นไปได้และกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือประโยชน์สาธารณะน้อยที่สุด โดยทำให้สิทธิเสรีภาพทั้งหลายที่ปะทะกันนั้นสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงได้ถูกตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะมีความชัดเจน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่กระทบกระเทือนคุณค่าอื่น ๆ ที่มีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ตราขึ้นในบริบทที่สังคมไทยเพิ่งผ่านประสบการณ์ไม่ดีที่มีต่อการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 หรือ รัฐประหาร 2557 ทำให้สังคมไทยเข็ดขยาดกับการชุมนุม โดยมองว่าเป็นการสร้างความวุ่นวายให้แก่สังคม เสรีภาพในการชุมนุมจึงถูกลดทอนคุณค่าในฐานะองค์ประกอบที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย กฎหมายที่ตราอยู่บนฐานความกลัวการชุมนุมขนาดใหญ่ย่อมมีเป้าหมายอยู่ที่การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเป็นหลัก แต่ในด้านกลับกันมันได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนคนตัวเล็กๆ ที่มีเพียงการชุมนุมเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการต่อรองกับรัฐ

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายชุมนุม ทนายความ และนักวิชาการอีกหลายท่าน ทำให้ได้รับรู้ว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายชุมนุมนั้น กฎหมายฉบับนี้ได้ก่อให้เกิดอุปสรรคในการชุมนุมแก่ประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐเป็นอย่างมาก ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญเพียงบางประเด็นเท่านั้น

ประการแรก ตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นได้ง่ายมาก โดยเฉพาะการกำหนดให้ต้องมีการแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง (มาตรา 10) ซึ่งโดยหลักการแล้วการแจ้งก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบว่าจะมีการชุมนุมเพื่อจะได้ดูแลอำนวยความสะดวกในการชุมนุม แต่ในทางปฏิบัติกลับการเป็นการแจ้งเพื่อขออนุญาตและการไม่แจ้งกลับทำให้การชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจประการอื่นตามมาได้ ประเด็นดังกล่าวนี้เกี่ยวเนื่องกับปัญหาการนิยาม “การชุมนุมสาธารณะ” ซึ่งใช้ถ้อยคำที่มีความหมายกว้างมาก จนทำให้การรวมตัวกันของคนจำนวนมากถูกนับว่าเป็นการชุมนุมได้ทั้งสิ้น ประชาชนไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่ากรณีใดที่จะต้องแจ้งหรือไม่จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุม นอกจากนี้ในหลายกรณียังพบว่าแม้เป็นการจัดประชุมในพื้นที่ปิดก็จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐตีความว่าเป็นการชุมนุมที่ต้องแจ้งตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ซึ่งขัดกับบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรอย่างชัดแจ้ง

ประการถัดมา การบังคับใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะคู่ขนานกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเลือกที่จะใช้บังคับกฎหมายชุมนุมหรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะโดยหลักการแล้วการกระทำในลักษณะเดียวกันควรได้รับผลในทางกฎหมายอย่างเดียวกัน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะเลือกใช้กฎหมายฉบับใดก็ได้

ประการสุดท้าย จากการที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้การไม่แจ้งการชุมนุมเป็นความผิดที่มีโทษปรับ ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการจับกุมผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมโดยถือว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งส่งผลต่อการชุมนุมเป็นอย่างยิ่งเพราะเท่ากับเป็นการสลายการชุมนุมโดยทันที เช่น กรณีทนายอานนท์ นำภา ในคดียืนเฉยๆ ทั้งๆ ที่ กฎหมายชุมนุมกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติในกรณีที่มีการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเอาไว้แล้ว โดยจะต้องมีการประกาศให้เลิกชุมนุม ร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม ต่อเมื่อผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่จึงจะใช้อำนาจควบคุมพื้นที่และประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ หากผู้ชุมนุมไม่ออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงจะถือว่าผู้ชุมนุมกระทำความผิดซึ่งหน้า อันจะทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมได้ (มาตรา 21 - 24) การใช้อำนาจในการจับกุมในกรณีนี้จึงขัดแย้งกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน

จากที่กล่าวมาเป็นเพียงไม่กี่ประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะซึ่งส่งผลให้การชุมนุมของประชาชนที่เห็นต่างจากผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือในหลายกรณีไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย

การชุมนุมใหญ่การทางเมือง ไม่ว่าจะโดยกลุ่มหรือสีใดในช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารได้ทำลายคุณค่าของเสรีภาพในการชุมนุมในสังคมประชาธิปไตย เมื่อกล่าวเอ่ยการชุมนุม สิ่งที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่นึกถึงคือความวุ่นวาย แน่นอนว่าความไม่วุ่นวายหรือความเงียบสงบที่เกิดขึ้น ย่อมไม่กระทบผู้คนกลุ่มหนึ่งที่เขาพูดหรือส่งเสียงอะไรออกไปแล้วผู้มีอำนาจพร้อมที่จะรับฟัง แต่กับคนอีกกลุ่มกลับถูกยึดเครื่องมือเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ คำถามสำคัญคือเราจะฟื้นฟูคุณค่าของเสรีภาพในการชุมนุมให้กลับคืนมาให้สังคมยอมรับมันอย่างที่ควรจะเป็นอย่างไร

ในห้วงเวลาของการเลือกตั้งที่คาดว่าใกล้จะมาถึงนี้ หากจะมีพรรคการเมืองใดสนใจนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายชุมนุมสาธารณะก็คงจะดีไม่น้อย มาร่วมกัน ปลดล็อคการชุมนุม ปลดล็อคประชาชนกันครับ.

 โดย... 

สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์