ประเทศกูมี

ประเทศกูมี

ในขณะที่เขียนบทความนี้ยอดคนเข้าชมวิดีโอเพลงดัง “ประเทศกูมี” ของกลุ่ม Rap Against Dictatorship(RAD) มากกว่า 18 ล้านเข้าไปแล้ว เชื่อว่า

คงจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปเรื่อยๆ และเพิ่มอย่างก้าวกระโดดในแต่ละคราวที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงออกมาให้ข่าวว่าจะดำเนินการตามกฎหมายหรือมีคนดังออกมาให้ข่าวตำหนิติเตียน (โดยบางรายถึงกับขับไล่ให้ออกนอกประเทศไปโน่น) เพราะคนยิ่งอยากรู้อยากเห็นเพิ่มมากขึ้นว่าด้วยเหตุอะไรหรือว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่

แน่นอนว่าในสังคมสุดขั้วอย่างสังคมไทยย่อมมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ที่ไม่ชอบก็บอกว่าเป็นการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย เช่น คำว่า “กู” เป็นต้น หรือเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ปั่นป่วน ขึ้นในสังคม ทำให้คนเกลียดชังรัฐบาล ฯลฯ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐก็อ้างว่าผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ฯจะต้องดำเนินการทางกฎหมายให้ได้

ส่วนคนที่ชอบ ซึ่งผมเป็นหนึ่งในนั้น ก็เห็นว่าสนุกดี เนื้อหาก็ตรงใจ เพราะเป็นการแสดงออกตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้คนรู้สึกอัดอั้นตันใจที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกและเป็นด้านมืดของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมซึ่งอยู่ในกลุ่มคนที่มีอายุผ่านช่วง 6 ตุลา 2519 ที่มีคนตายมากมายเมื่อ 40 ปีก่อน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือความกระจ่างอะไรเลยจนบัดนี้

ประเทศกูมี

วิดีโอเพลงชิ้นนี้เป็นการเปรียบเทียบถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและในปัจจุบัน เหมือนเอาคนดูมายืนอยู่ในเหตุการณ์ การเอาเก้าอี้มาฟาดศพโดยมีผู้คนห้อมล้อมจำนวนมากและหนึ่งในนั้นมีเด็กชายที่ยืนยิ้มแป้นดูการทำร้ายศพอยู่ วิดีโอเพลงชิ้นนี้เป็นเหมือนปากเสียงที่พูดแทนความรู้สึก การพูดถึงเรื่องเสือดำ เป็นการพูดถึงว่ามันมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เพราะคนผิดไม่ได้รับการลงโทษ ซึ่งเป็นเรื่องที่แสลงหูผู้มีอำนาจ พูดถึงป่าแหว่งซึ่งเป็นเรื่องที่อ้างว่าถูกกฎหมายแต่ไม่ได้ดูถึงความเหมาะสมและจิตใจของผู้คนที่ต้องการพิทักษ์ปกป้องผืนป่าและความศักดิ์สิทธ์ของสิ่งที่ตนเคารพนับถือ

อันที่จริงแล้วเพลงที่สะท้อนการเมืองมีมากมาย ไม่ว่าในไทยเราเองเช่นในยุคของคำรณ สัมบุณณานนท์ในอดีต และในยุคไม่นานมานี้ก็ได้แก่เพลงเพื่อชีวิตทั้งหลาย(ซึ่งเดี๋ยวนี้เงียบเชียบ หลายคนกลายเป็น เซเลปไปเสียแล้ว) ส่วนในต่างประเทศก็มีมากมายที่สะท้อนถึงความคับแค้นของการถูกกดขี่ข่มเหง เช่นเพลง BlueหรือเพลงSoulของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ในส่วนของเพลงแร็พ(Rap)ที่มีทำนองสนุกสนานแต่มีเนื้อหาที่สะเทือนใจในสหรัฐในปัจจุบันซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงกว่า 400 ล้านviews(มากกว่าประชากรของสหรัฐเสียอีก)ในปัจจุบันก็คือเพลง This is America เพลงแนวHip HopผสมกับSoul ร้องโดยแร็พเปอร์และนักแสดงตลก Donald Glover (Childish Gambino) ที่สะท้อนถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมของคนผิวสีในสหรัฐ ส่วนเพลงแร็พของไทยนั้นไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มRAD นี้เท่านั้น กลุ่มแร็พของไทยเรามีมากมาย เพียงแต่ไม่ได้โด่งดังทะลุฟ้าเช่นวิดีโอชิ้นนี้เท่านั้นเอง

วัฒนธรรมของเพลงแร็พไทยถือเป็นวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีวิถีทางในการแสดงออก ดังนั้น การร้องเพลงแร็พจึงเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจในสังคมของคนเหล่านี้โดยไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม หากเราพิจารณาดุให้ดีจะเห็นว่าในแต่ละท่อนของเพลงนี้ จะเห็นได้ว่าไม่ได้เป็นเรื่องของคนอ่อนหัดหรือเด็กที่ไม่มีวุฒิภาวะ ตรงกันข้ามกลับเปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะอย่างล้นเหลือ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือกรณี 6 ตุลา 2519 นั่นเอง แน่นอนว่าอาจมีคำหยาบ(ในสายตาของบางคน)อยู่บ้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็น “วัฒนธรรมแร็พ” หนึ่งในคำหยาบที่ว่า เช่น คำว่า “กู”เป็นต้น ซึ่งผมเห็นว่าจะมีคนไทยเราไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายสักกี่คนเชียวที่ไม่เคยใช้คำว่า “กู” และใช้มานานแล้วด้วยถ้านับจากอายุของศิลาจารึกฯ(จะจริงหรือปลอมไม่ใช่ประเด็นน่ะครับ)น่ะครับ

เพลงแร็พ “ประเทศกูมี”นี้ คือ อำนาจแบบอ่อน(soft power) ที่ถูกทำขึ้นเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการซึ่งถือว่าเป็นอำนาจแบบแข็ง(hard power)ที่ใช้ปืนหนุนหลังซึ่งแน่นอนว่าศิลปินหรือคนธรรมดาย่อมไม่มีทางที่ลุกขึ้นมาสู้กับปืนได้อย่างแน่นนอน จึงใช้เพลงเป็นเครื่องมือแทน

ผมไม่แปลกใจที่ผู้ที่ถือกุมอำนาจรัฐด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่พอใจอย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่เนื้อหาในเพลงก็เป็นเรื่องที่พูดกันอยู่แล้วในบ้านเมือง ซึ่งเมื่อถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาหรือถ้อยคำในเพลงแล้วผมเห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไป ที่จะแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริต แม้ว่าความเห็นนั้นอาจจะสวนทางกับผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ตาม แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใดแต่อาจสะเทือนต่อความมั่นคงของผู้มีอำนาจเท่านั้น และยิ่งจะนำเอา พ.ร.บ.คอมฯมาใช้ว่านำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จยิ่งไปกันใหญ่ เพราะจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันเป็นเท็จอย่างไร ไม่ใช่ตั้งข้อหาไปสุ่มสี่สุ่มห้า ดีไม่ดี คนที่ตั้งข้อหานั่นแหละอาจจะต้องรับผลร้ายนั้นเสียเองในที่สุด

แทนที่จะไปตั้งข้อหาหรือแสดงความไม่พอใจ ผู้มีอำนาจน่าจะนำไปวิเคราะห์ว่าเหตุใดผู้คนถึงให้ความนิยมอย่างถล่มทลายเช่นนี้ แล้วหาทางปรับปรุงแก้ไขจนในที่สุดคือการคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน เพราะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะมาโดยวิธีการใดก็ตาม มาจากการเลือกตั้งหรือวิธีพิเศษหากประชาชนไม่เอาด้วยย่อมอยู่ยาก ขนาดมีเสียงค่อนสภาก็ยังไปไม่รอด แล้วนี่มาโดยการใช้อำนาจพิเศษยิ่งอยู่ยากขึ้นไปอีกมากมายหลายเท่า

คุณจะเอาคนเป็นหลาย 10 ล้านที่ชื่นชอบเพลงนี้ไปไว้ไหน คุณจะใช้ปืนกี่ล้านกระบอกถึงจะบังคับคนหลาย 10 ล้านนี้ได้ คุณจะไล่คนหลาย 10 ล้านให้ออกนอกประเทศได้อย่างไร เพราะประเทศนี้ก็เป็นของเขาเหมือนกัน บ้านช่องห้องหอที่ดินที่อยู่อาศัยก็ซื้อหรือเช่าหรือด้วยเงินของเขาเอง เขาย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ใน “ประเทศกูมี” นี้เหมือนกัน (โหย่ว)