5 เรื่องควรรู้...ก่อนขอให้พนักงาน “แชร์” เรื่องขององค์กร

5 เรื่องควรรู้...ก่อนขอให้พนักงาน “แชร์” เรื่องขององค์กร

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน ไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันนี้ โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ทรงพลังของบริษัทหรือองค์กรต่างๆ

 และองค์กรที่ต้องการสื่อสารภาพลักษณ์ดีๆ กิจกรรม CSR หรือแคมเปญการตลาดล่าสุด ก็มักจะขอให้ “พนักงาน” ของตัวเองนี่แหละมาช่วยกันแชร์ไม่ว่าจะผ่านทาง Facebook, Twitter, YouTube หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ

เพราะกลุ่มพนักงานนี่เองนี่เป็นกองทัพที่ทรงพลัง และเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ชั้นดีของบริษัท หากพนักงานช่วยกันแชร์ก็อาจเกิดเป็น Multiplier effect หรือผลทวีคูณบอกต่อๆ กันไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น หากบริษัทมีพนักงาน 100 คน และพนักงานแต่ละคนมีผู้ติดตามหรือ Followers อีก 100 คน ก็จะสามารถเข้าถึงคนจำนวน 1 หมื่นคนได้ทันที

และไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขอย่างเดียว การบอกกันปากต่อปากจากเพื่อนของตัวเองนั้นมักได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าการโพสต์จากบัญชีโซเชียลมีเดียขององค์กร เมื่อพนักงานแชร์เรื่องดีๆ ให้องค์กร ไม่เพียงแต่องค์กรจะได้ยอด Reach (จำนวนคนที่เห็นโพสต์นั้นๆ) เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้รับความน่าเชื่อถือและการมีส่วนร่วมหรือ Engagement เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 แต่ ไรอัน ฮอล์ม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Hoosuite ผู้ให้บริการบริหารจัดการสื่อโซเชียลมีเดียชั้นนำของโลก กล่าวไว้ว่าสิ่งนี้มักทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิด เขาให้มุมมองในฐานะผู้ที่คลุกคลีกับแวดวงโซเชียลมีเดียว่า สำหรับบริษัทเขาเองนั้นก็ใช้กลยุทธ์นี้ (ให้พนักงานช่วยกันแชร์) ซึ่งถ้าใช้ถูกวิธี ก็จะสามารถช่วยให้คนเข้าถึงได้มาก และทำให้พนักงานที่ช่วยกันแชร์พลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็อาจจะดู “ปลอม” และไม่จริงใจเอาได้ง่ายๆ และอาจสร้างความไม่พอใจให้แก่พนักงาน และแน่นอนว่าเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

เขาจึงมีบทเรียน 5 ประการจาก Hoosuite ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อองค์กรต่างๆ ดังนี้

  1. การขอให้พนักงานช่วยแชร์นั้นต้องเป็น ความสมัครใจเท่านั้นพนักงานไม่ควร “ถูกสั่ง” ให้แชร์เรื่องราวขององค์กรทางโซเชียลมีเดีย แต่ต้องมากกว่านั้น นั้นคือพนักงานต้องเต็มใจแชร์ด้วยตัวเอง โดยต้องมีความสอดคล้องกันระหว่างการเป็นสิ่งที่พนักงานสนใจและเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ โดยสิ่งที่บริษัทจะได้รับประโยชน์นั้นแน่นอนว่าต้องเป็นยอด View หรือยอด Reach ที่เพิ่มขึ้น เข้าถึงคนได้มากขึ้น แต่สำหรับพนักงานพวกเขาจะได้รับประโยชน์อะไร อาทิเช่น องค์กรควรทำให้พนักงานรู้สึกว่าการแชร์เรื่องดังกล่าวจะทำให้พนักงานดูมีความเป็นมืออาชีพและมีความรอบรู้ในเรื่องนั้น และยังเป็นการขยายเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตัวพนักงานเองได้อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น หากทำเช่นนี้ได้พนักงานก็ย่อมต้องการแชร์
  2. คนรับสารก็ต้องมีความสอดคล้องกันพนักงานต้องมีฐานคนติดตามที่สนใจในเรื่องที่จะโพสต์หรือจะแชร์ เช่น ไม่ใช่ว่าหัวหน้าฝ่ายขายของบริษัทจะต้องแชร์ยอดขายของบริษัทไปให้เพื่อนสมัยโรงเรียนใน Facebook อ่าน แต่องค์กรควรค้นหาพนักงานที่มีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกันกับธุรกิจอยู่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนั้นๆ และต้องไม่รู้สึกว่าเป็นการ “ขายของ” แต่ควรเห็นว่าเรื่องนั้นมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์
  3. อบรม โซเชียลมีเดียเบื้องต้นให้พนักงานก็ไม่เสียหายองค์กรควรตระหนักว่าการใช้โซเชียลมีเดียด้วยความเป็น “มืออาชีพ” นั่นเป็นเรื่องที่ไกลตัวพนักงานอีกหลายคน การฝึกอบรมขั้นพื้นฐานสามารถทำลายทัศนคติที่ว่า Twitter และ Facebook นั้นเป็นเรื่องที่เสียเวลา และทำให้พนักงานเห็นว่าพวกเขาควรสร้างและพัฒนาเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาชีพต่างๆ ตัวอย่างเช่นที่ Hoosuite เขาบอกว่าพนักงานใหม่ทุกคนจะต้องเข้ารับการอบรมโซเชียลมีเดียขั้นพื้นฐานตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ แม้โซเชียลมีเดียอาจจะไม่จำเป็นสำหรับทุกธุรกิจหรือทุกปริบท แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่พนักงานควรรู้หรือใช้ได้อย่างงูๆ ปลาๆ เท่านั้น
  4. ทำข้อความให้พนักงานเอาไปแชร์ ง่ายๆ” เมื่อองค์กรมีข่าวสำคัญที่ต้องการแชร์ ก็ควรบอกพนักงานโดยตรงไม่ว่าจะผ่านทางอีเมล์หรือช่องทางต่างๆ การร่างข้อความให้พนักงานเลยจะทำให้พวกเขานำไปแชร์ต่อได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้มีคนแห่กันมาสมัครงานที่ Hoosuite กว่าพันคนเพื่อสมัครงานใน 100 ตำแหน่งที่ประกาศออกไป โดยก่อนหน้านั้นบริษัทได้ส่งอีเมล์ขอให้พนักงานช่วยกันแชร์ทางโซเชียลมีเดีย และมีตัวอย่างของข้อความสั้นๆ สำหรับทวีตทาง Twitter และข้อความสำหรับโพสต์ทาง Facebook แค่เพียงไม่กี่อึดใจหลังจากนั้นพนักงานก็แชร์กันอย่างมากมาย
  5. ใช้กลยุทธ์นี้อย่างรอบคอบความน่าเชื่อถือที่คนแต่ละคนสร้างขึ้นมาในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นเรื่องสำคัญและทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ทรงพลัง ดังนั้นองค์กรจึงควรเคารพสิทธิ์ของพนักงานแต่ละคนเสมอ หากผู้ติดตามหรือ Followers ของพนักงานรู้สึกว่าโดนยัดเยียดข้อความของบริษัทมากเกินไป ความน่าเชื่อถือก็จะถูกทำลายลงไปด้วย และเป็นสถานการณ์ที่มีแต่เสียกับเสียต่อทั้งองค์กรและตัวพนักงานเอง ดังนั้นองค์กรจึงควรใช้กลยุทธ์ให้พนักงานช่วยแชร์นี้อย่างระมัดระวังและรอบคอบ และใช้สำหรับการสื่อสารเรื่องที่ไม่ใช่แค่เพียงโปรโมตองค์กรเท่านั้น เรื่องที่ดีที่สุดที่พนักงานจะช่วยแชร์คือเรื่องที่มีความน่าสนใจ มีความบันเทิงใจ หรือมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำไปประยุกต์ใช้ได้อยู่ในนั้น

มีรายงานที่พบว่าผู้บริโภคมากกว่า3 ใน 4 ที่ได้รับอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อมาจากโซเชียลมีเดีย แต่องค์กรที่ไม่ได้มีผู้ติดตามมากอาจพบว่าตัวเอง “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” จากการโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย แต่การส่งเสริมให้พนักงานช่วยกันแชร์ด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักและขยายวงกว้างออกไป

เพียงแต่ทำให้พอดี อย่า มากเกินไปเท่านั้นเองค่ะ