ประเทศไหนก็มี...

ประเทศไหนก็มี...

การที่ตำรวจเตรียมเอาผิดแรพเปอร์ผู้เผยแพร่เพลง “ประเทศกูมี” โดยอ้างว่าผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กลายเป็นตลกร้าย

และถูกมองว่าผู้มีอำนาจกำลังจัดการเรื่องนี้ด้วยวิธีโบราณ

เพราะการใช้บทเพลงสะท้อนปัญหาในสังคมไทยมีมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ตั้งแต่ยุคบรมครู แสงนภา บุญราศรี ตามด้วย ครูคำรณ สัมบุญณานนท์ และ ครูเสน่ห์ โกมารชุน สมัยก่อนเรียกเพลงประเภทนี้ว่า “เพลงชีวิต” เจ้าของผลงานและผู้ขับร้องมักถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอำนาจ แต่ก็ไม่สามารถทำให้บทเพลงเหล่านี้สูญสลายไปได้ อย่างเช่น เพลงมนต์การเมือง หรือผู้แทนควาย

ในยุคที่มีการต่อสู้คัดค้านอำนาจเผด็จการ ถนอม-ประภาส ต่อเนื่องถึง 6 ตุลาฯ 19 “เพลงชีวิต” พัฒนาสู่ “เพลงเพื่อชีวิต” ที่มี “วงคาราวาน” เป็นหัวหอก จากนั้นจึงคลี่คลายเข้าสู่ยุคที่มีมูลค่าการตลาดมหาศาลภายใต้การนำของ วงคาราบาว

หลายบทเพลงของวงคาราบาวถูกห้ามออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุ เช่น เพลงหำเทียม หำเฮี้ยน ประชาธิปไตย ฯลฯ หลายเพลงเนื้อหาแรงไม่แพ้ “ประเทศกูมี” แต่คนที่อยู่ร่วมสมัยก็ร้องกันได้คล่องปากแทบทุกคน ทั้งๆ ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตและยูทูบเหมือนปัจจุบัน การสกัดกั้นโดยผู้มีอำนาจจึงเรียกได้ว่า “ไร้ผล

ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีเพลงประเภทนี้ อย่างเช่นวง Rage Against The Machine ที่น่าเชื่อว่าเป็นไอดอลของกลุ่ม Rap Against Dictatorship ก็ขับขานบทเพลงวิจารณ์สังคมการเมืองด้วยถ้อยคำรุนแรงยิ่งกว่า ประเทศกูมี เสียอีก

ในโลกที่การสื่อสารไร้พรมแดนเช่นนี้ งานวรรณกรรมที่สร้างกระแสความอยากรู้อยากเห็นให้สังคมได้ เนื้อหาย่อมมีส่วนจริงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เพราะถ้าไม่จริงเลย ย่อมโดนถล่มด้วยก้อนอิฐ เนื่องจากทุกคนเหมือนมีปากกาเป็นอาวุธอยู่ในมือ นั่นก็คือสื่อสังคมออนไลน์ ปรากฏการณ์ทั้งบวกและลบที่มีต่อเพลง “ประเทศกูมี” ก็คือภาพสะท้อนสังคมที่แท้จริงในยุคปัจจุบัน

สำหรับผู้มีอำนาจไม่ว่าจะบ้านเมืองนี้หรือบ้านเมืองไหน สิ่งเดียวที่จะรอดจากการถูกด่าถูกวิจารณ์แบบสาดเสียเทเสีย ก็คือการทำตามมาตรฐานสากล เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารได้ย่อโลกให้เล็กลงอยู่ในโทรศัพท์มือถือของทุกคนแล้ว เรื่องใหญ่ๆ ของสังคมไหนๆ จึงมักใช้มาตรฐานคล้ายๆ กันในการตัดสินถูกผิด เช่น การไม่จำกัดเสรีภาพ การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ทำลายสภาพแวดล้อม เป็นต้น

ฉะนั้นการแก้ปัญหาการเมืองโดยวิถีทางที่มาตรฐานสากลไม่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร หรือการจำกัดสิทธิ์การแสดงความคิดเห็น จึงนำมาซึ่งการต่อต้าน และมีคนจำนวนมากสนับสนุน