วิกฤติและโอกาสของ “ การบินไทย ”

วิกฤติและโอกาสของ “ การบินไทย ”

ผมมีโอกาสใช้บริการการบินไทยครั้งแรก เมื่อราว 30 ปีก่อน เพื่อเดินทางไปเรียนหนังสือที่สหรัฐ ตามนโยบายของรัฐ

 ที่ให้ข้าราชการหรือนักเรียนทุนต้องเดินทางด้วยสายการบินแห่งชาติ ในเวลานั้นจัดเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรสูงมากเพราะค่อนข้างจะผูกขาดและไร้คู่แข่ง จำได้ว่าเดินทางจากบ้านราวๆ ตี 4 ไปสนามบินดอนเมืองเพื่อเตรียมขึ้นเครื่องราวๆ 7 โมงเช้า จู่ๆ มีประกาศราวๆ 6 โมงเศษๆ ว่าเครื่องจะดีเลย์หรือออกบินช้าไปเป็น 9 โมงเช้า ซึ่งเวลานั้นพวกเราคงทราบดีว่า” สิทธิเสรีภาพ” ยังเป็นเรื่องที่พวกเรายังไม่ค่อยจะคุ้นชิน ขนาดผมไปถึงอเมริกา ยังแปลกใจกับวิธีค้าขายที่หากไม่พอใจเขาให้เราไปเอาเงินคืนได้ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งที่ผ่านมามีส่วนชำระล้างคราบไคลต่างๆ ออกไปมาก มาวันนี้คนไทยเดินทางด้วยเครื่องบินน่าจะมากกว่าโดยสารรถไฟหรือรถบริษัทขนส่ง เรียนรู้สิทธิหน้าที่ต่างๆ มากขึ้น การพัฒนาทางวัตถุก้าวไปไกลทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่คุณภาพของคนโดยทั่วไปยังถูกตั้งคำถามอยู่เนืองๆ

ที่เขียนว่า “เรื่องอื้อฉาวล่าสุดของการบินไทย” นั้น เป็นวิกฤติหรือโอกาส เพราะผมเชื่อว่า ในท่ามกลางทุกปัญหาหากใช้สติและความตั้งใจจริง ทุกเรื่องย่อมมีทางออกที่ดีได้ ไม่ใช่ว่าเห็นเป็น “ข่าวดัง” เลยหยิบมาเขียนมาวิจารณ์  ผมเองเมื่อได้ฟังหรืออ่านไลน์ที่ส่งต่อกันมาในทุกเรื่อง จะไม่รีบทึกทักสรุปในทันที แต่จะไล่เรียงที่มาที่ไปทั้งสอบถามผู้รู้ที่มีอยู่รอบตัว กระทั่งเชื่อโดยสุจริตว่า การบินไทย สายการบินแห่งชาติกำลังประสบกับภาวะวิกฤติในหลายเรื่อง ทั้งวิกฤติทางด้านการบริหารจัดการ คงไม่ต้องพูดถึงผลกำไรขาดทุนท่ามกลางสภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมการบิน และน่าจะกำลังประสบกับปัญหา “วิกฤติศรัทธา” อย่างหนัก

เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นทำให้ผมย้อนนึกถึงเพื่อนๆ ที่สนิทสนมกันที่เคยไปสมัครเป็น ดีดี (กรรมการผู้อำนวยการใหญ่) ของการบินไทย และได้ชิงถอนตัวไปก่อนจะมีการสรรหา อาจถือว่าเขาตัดสินใจถูกหรือโชคเข้าช้าง เพราะก่อนหน้านั้น เริ่มได้ยินเสียงบ่นๆ มาเข้าหูอยู่เหมือนกันว่าหน้าที่สำคัญนี้คงต้องอาศัย “คนมีฝีมือขั้นเทพหรือต้องขั้นเซียนเหยียบเมฆ” คนที่พูดอาจคิดว่า การทำงานสายการบินต้องทำงานบนท้องฟ้า เขาเลยอุปมาอุปมัยว่าคนที่จะเอาอยู่ก็น่าจะต้องมีฝีมือขนาดเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่หากมองในแง่ของคนที่เห็นเหมือนผมว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม” ก็จะไม่รีรอ ถือเป็นสิ่งท้าทายน่าพิสูจน์ฝีมือกันสักตั้ง

การบินไทยน่าจะมีปัญหาที่เป็นวิกฤติอีกประการที่สำคัญยิ่ง คือ “การบริหารคน” เช่นเดียวกับอีกหลายองค์กร การบินไทยมีพนักงานทั้งฝ่ายบริหาร พนักงานในส่วนให้บริการทางด้านการบิน เช่น กัปตัน พนักงานลูกเรือ รวมไปถึงพนักงานภาคพื้น ช่างเทคนิค คลังสินค้า และอื่นๆ ที่ต้องดูแลทั่วโลกนับหมื่นคน เป็น “ต้นทุน” ค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในขณะที่รายรับสวนทางกับรายจ่ายและยังมีหนี้สินค่าโสหุ้ยที่พอกพูนเพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจไปลดสวัสดิการผลตอบแทนของพนักงานได้ ถึงในขณะนี้ก็ยังได้ทราบจากรายงานข่าวของสื่อหลายแขนงตรงกันว่า ข้อต่อรองของพนักงานที่นำเสนอต่อฝ่ายบริหาร ดูจะมีเจตนาดีมาก ที่อยากให้มีการปฎิรูปปรับปรุงองค์กร แต่มี “ติ่ง” ห้อยเอาไว้ทำนองว่า จะต้องไม่กระทบกับสิทธิและผลประโยชน์ของพนักงาน  ฟังดูเข้าใจได้ว่า คนเราต้องการความมั่นคงในชีวิต สมัยหนุ่มๆ ผมเคยทำงานบริษัทข้ามชาติหลายบริษัท ความต่างของบริษัทญี่ปุ่น กับบริษัทฝรั่งที่ผมเคยมีสถานะเป็นผู้ใช้แรงงานต่างกันตรงปรัชญาของญี่ปุ่นเวลานั้น ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์มาก จะเป็นจะตายก็ไม่โละคนทิ้ง พยายามให้เรารักองค์กร ซื่อสัตย์เสียสละเพื่อองค์กร เห็นองค์กรเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ถึงขนาดเวลาขอพร เขายังขอพรให้องค์กรอยู่รอดปลอดภัยเพื่อพนักงานและสมาชิกในครอบครัวของพนักงานจะได้มีกินมีใช้ต่อไป ขณะที่วันนี้เพื่อความอยู่รอด บริษัทห้างร้านญี่ป่นดูจะคล้ายฝรั่งเข้าไปทุกที ให้เงินเดือนสูง สวัสดิการเป็นไปตามการแข่งขัน แต่ยึดหลักความรู้ความสามารถอย่างเข้มงวด ใครจะเป็นญาติพี่น้องกับใครเส้นสายใหญ่โตมาจากที่ใดเขาไม่ค่อนใส่ใจ ถ้าทำงานไม่ได้ตาม “มาตรฐานที่ควรจะเป็น” เขาจะไม่รีรอที่จะขับไล่ไสส่งคนเหล่านี้ให้พ้นไป

กรณี “การบินไทย” ในสายตาคนนอกอย่างผมที่มองเห็น ถือว่า แม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติ ผมก็ยังเชื่อมั่นว่ายังมีคนที่มีศักยภาพอยู่ในองค์กรอีกเป็นจำนวนมาก แต่คงเป็นบทพิสูจน์สำคัญสำหรับทั้ง ดีดี การบินไทยปัจจุบัน รวมไปถึงบอร์ดหรือกรรมการบริหารการบินไทยที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และน่าจะต้องเรียกร้องไปถึงการปรับทัศนคติและความเสียสละขยงคนในองค์กรทุกระดับ เพราะการแก้ไขปัญหาของการบินไทยในภาพรวม ผมเชื่อว่าน่าจะไม่ใช่การปะผุ แต่คงเป็นการ “ผ่าตัดใหญ่” ถ้าอยากเห็นคำว่า “สายการบินแห่งชาติ” ปรากฏอยู่ต่อไป เรียกว่า ไม่มีทางเลือกจะต้องใช้ “วิกฤติ” ในคราวนี้ให้เป็น “โอกาส” ในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมยาวนานที่มีการจาระไนออกมาให้รับรู้กัน หากทำได้สำเร็จจะมีส่วนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แต่ละบุคคลเป็นอย่างสูง แต่ถ้ายิ่งแก้ยิ่งบานปลาย ไร้ข้อยุติที่เป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องความขัดแย้งภายในองค์กรที่สร้างผลกระทบกับภาพลักษณ์อย่างรุนแรง ไปกระทั่งปัญหา “ความเป็นมืออาชีพ” ที่อาจจะยังขาดตกบกพร่อง ถ้ายังแก้ไขไม่ได้ในเร็ววันนี้ย่อมส่งผลสั่นคลอนต่อความมั่นคงของทั้งฝ่ายบริหารและคณะกรรมการบริหารของบริษัททุกท่านอย่างหลีกเลี่ยงมิได้