จากการไปบรรยายที่ ม.อ. ตอนที่ 1

จากการไปบรรยายที่ ม.อ. ตอนที่ 1

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ผมได้รับเกียรติจากคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ให้ไปบรรยายที่หาดใหญ่

ในหัวข้อ โต้คลื่นลูกใหม่ มองเมืองไทยท่ามกลางความป่วนทางเทคโนโลยี การนำเสนอค่อนข้างยากเนื่องเวลาจำกัดและผู้ฟังมีทั้งนักเรียนมัธยม คณาจารย์ ข้าราชการและเอกชน ส่งผลให้ต้องลดทอนเนื้อหาและปรับเปลี่ยนวิธีนำเสนอ แต่ผมดีใจมากจากการที่ผู้ฟังตั้งใจและมีการไต่ถามพร้อมออกความเห็นจากทุกกลุ่มจนกระทั่งหลังการบรรยายยุติแล้ว คำถามและความเห็นจากนักเรียนมัธยมทำให้ผมยินดีเป็นพิเศษพราะท่ามกลางความป่วนต่างๆ รวมทั้งทางเทคโนโลยีจนบางทีทำให้รู้สึกว่า สังคมไทยจะไปไม่รอดยังมีเยาวชนที่สนใจในอนาคตของบ้านเมืองอย่างจริงจัง หากยังมีเยาวชนเช่นพวกเขา ความหวังเรายังมี

ในกรอบของหัวข้อดังกล่าว ผมแยกนำเสนอเนื้อหาเป็น 4 ตอนคือ ประวัติของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หรือคลื่น 4 ครั้งและกำลังจะทำให้เกิดครั้งที่ 5 สภาวการณ์ของโลกปัจจุบัน ความเป็นไปในเมืองไทยในขณะนี้ และเราจะรับมือกับความป่วนต่าง ๆ อย่างไร

เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดคลื่นได้แก่ การรู้จักปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นฐานของเกษตรกรรม เครื่องจักรกลซึ่งก่อให้เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งทำให้เกิดคอมพิวเตอร์ และการถอดรหัสพันธุกรรมได้พร้อมกับความสามารถในการลดขนาดเครื่องมือเครื่องใช้ลงได้ถึงขนาดจิ๋ว เทคโนโลยีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ครั้งต่อไปอาจได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์

โดยทั่วไป เทคโนโลยีใหม่ช่วยให้การดำเนินชีวิตของเราสะดวกสบาย หรือง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมักไม่มีการมองมุมกลับของมัน นั่นคือ เทคโนโลยีมักมีคำสาปติดมาด้วยเสมอ เช่น ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพราะผู้กำเทคโนโลยีใหม่สามารถช่วงชิงทรัพยากรไปครองได้ในสัดส่วนที่สูงขึ้นและนำไปสู่การสร้างอาวุธใหม่ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล อานุภาพของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงให้แก่มนุษยชาติโดยเฉพาะเมื่อฐานด้านคุณธรรมไม่แข็งแกร่งตามขึ้นไปด้วย

สำหรับด้านสภาวการณ์ของของโลกปัจจุบัน ผมเสนอให้มองว่าเหตุการณ์รายวันมักมาจากความขัดแย้งรุนแรง 2 ด้าน นั่นคือ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและระหว่างมนุษย์เอง การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างไม่หยุดยั้งและแต่ละคนต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นทำให้เราทำร้ายธรรมชาติ ซึ่งกำลังตอบโต้เราในรูปแบบต่างๆ อย่างเผ็ดร้อน ในขณะเดียวกัน มนุษย์เราก็แย่งชิงทรัพยากรโลกซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดโดยใช้กลวิธีสารพัดรวมทั้งการทำสงคราม สภาวการณ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนและทำให้อารยธรรมโบราณในย่านตะวันออกกลางล่มสลาย

มองแคบลงมาที่เมืองไทย สภาวการณ์ไม่ต่างกับสภาวการณ์โลก คนไทยกำลังขัดแย้งอย่างรุนแรงกับธรรมชาติและกับเพื่อนคนไทยด้วยกันในการช่วงชิงทรัพยากร กลวิธีมีหลายอย่างรวมทั้งความฉ้อฉลและนโยบายประชานิยมเพื่อเข้าสู่และครองอำนาจ เกี่ยวกับประเด็นนี้ผมชี้ว่าถ้าสนใจหาความรู้ต่อไปให้อ่านหนังสือเรื่อง ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ ซึ่งดาวน์โหลดได้ในที่ต่าง ๆ รวมทั้งที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com)

ส่วนในด้านการรับมือของบุคคล ผมเลือกไม่กล่าวถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยตรง ทั้งที่ผมแน่ใจเต็มร้อยว่านั่นคือกลวิธีที่เหมาะสมที่สุดและได้เขียนหนังสือไว้ชื่อ “โต้คลื่นลูกที่ 4 เมื่อความพอเพียงคือคำตอบ” ซึ่งวิวัฒน์มาเป็น “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” (ดาวน์โหลดได้ที่ www.bannareader.com) ทั้งนี้เพราะผู้ฟังอาจเข้าใจผิดเนื่องจากแนวคิดนี้มักมีการนำเสนอแบบคลาดเคลื่อน หรือเพียงบางส่วนและผมขาดเวลาที่จะอธิบายได้อย่างละเอียด

ผมเลือกเสนอว่า ถ้าเป้าหมายของชีวิตคือความสุขกาย สบายใจ ฝรั่งได้วิจัยจนสรุปได้แน่นอนแล้วว่ามาจากปัจจัยเหล่านี้คือ มีรายได้เพียงพอสำหรับซื้อหาสิ่งที่จำเป็น (เน้นย้ำคำว่า “จำเป็น”) สำหรับการดำเนินชีวิต ตามด้วยการค้นคว้าหาความรู้และการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เป็นนิจ การหมั่นสังเกตุเหตุการณ์และความรู้สึกของตนเอง การมีญาติ หรือเพื่อนสนิท การให้แบบไม่หวังอะไรตอบแทน การรับประทานอาหารหลากหลายแต่ไม่เกินความจำเป็นและการอยู่ใกล้ธรรมชาติ ปัจจัยเหล่านี้มีอยู่ในหลักเศรษฐกิจพอเพียง

หลังการบรรยาย ผมได้พบปะกับคณาจารย์และได้รับรู้ว่า ม.อ. ไม่มีบางคณะ ผมประทับใจที่ ม.อ. ไม่วิ่งตามกระแส แต่เลือกเชี่ยวชาญจริงๆ ในสิ่งที่ตนมองว่า สังคมน่าจะต้องการสูงสุด