เมื่อตลาดไม่ได้ถูกเสมอ

เมื่อตลาดไม่ได้ถูกเสมอ

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ตลาดหุ้นถูกเสมอ” ซึ่งมักกล่าวถึงกรณีที่เราลงทุนสวนทางกับตลาด

เรายิ่งซื้อหุ้นยิ่งลง เรายิ่งขาดทุน  นั่นไง ตลาดหุ้นถูกเสมอ สงสัยเราจะเป็นฝ่ายผิดที่ซื้อในตลาดขาลง ซึ่งจริงๆแล้วผมว่าอาจจะเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าเรากับตลาด ใครถูก ใครผิด เพราะในระยะสั้น สิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงความผันผวนของตลาดหุ้นเท่านั้น จะตัดสินว่าวิกฤติหรือพักฐาน ต้องดูปัจจัยแวดล้อมประกอบ

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังเจอตลาดพักฐาน หรือเรากำลังเจอจุดเริ่มต้นของวิกฤติ?

ในภาพรวมทางเศรษฐกิจ ผมว่าเราแค่ชะลอ ไม่ใช่ถดถอย IMFปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าลงจาก 3.9% เหลือ 3.7% ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดประเทศกำลังพัฒนาในยุโรป ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง ซับซาฮาราน-แอฟริกา ส่วนตลาดเกิดใหม่เอเชีย มีการปรับลดจีนและอินเดียบ้างโดยแทบไม่ได้แตะ ASEAN-5 เลย

ส่วนไทยถูกปรับขึ้นประมาณการด้วยซ้ำ โดยปรับ GDP ปีนี้จาก 3.9% เป็น 4.6% และปี 2562 จาก 3.8% เป็น 3.9% จึงสรุปได้ว่าเป็นการชะลอของเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่วิกฤติถดถอยหดตัว (ไม่ติดลบ) ส่วนไทยกลับมีแนวโน้มดีขึ้นด้วยซ้ำ

ถ้าดูจากตัวเลข IMF ก็พอเดาได้ว่า ตัวเลขใหม่สะท้อนความกังวลเรื่องปัญหาค่าเงินในประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา อันเนื่องมาจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กระทบประเทศที่พึ่งพาเม็ดเงินต้นทุนต่ำจากต่างประเทศ(ดอลลาร์)มากๆ  เช่น อาร์เจนติน่า เวเนซุเอลา ตุรกี  (ซึ่งไทยไม่มีปัญหาดังกล่าว เราเลยแทบไม่กระทบ) และบางส่วนก็สะท้อนสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ซึ่งที่จริงควรจะกระทบไทยด้วย แต่ดูเหมือนปัจจัยภายในไทยจะแรงกว่า เช่น วัฏจักรการลงทุนกำลังฟื้นตัว รายได้ภาคเกษตรที่ผ่านจุดต่ำสุด  และการเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังคงมีทิศทางที่ดีในสายตา IMF

วัฏจักรเศรษฐกิจยังไม่จบ ปกติถ้าจะจบหรือจะวิกฤติ ต้องดูว่า 1) เศรษฐกิจโลกร้อนแรงเกินไปหรือไม่   2) เงินเฟ้อเร่งขึ้นเร็วเกินไปหรือไม่ และ 3) ธนาคารกลางต่างๆ มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากไปหรือไม่  ซึ่งจะพบว่าเงื่อนไขทั้ง 3 ยังไม่เกิด เพราะเศรษฐกิจโลกเพิ่งจะเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยุโรป เพิ่งจะแตะเป้าหมายของธนาคารกลาง ส่วนเงินเฟ้อจีน ญี่ปุ่น ยังไม่ใกล้เป้าหมายเลย

  ดังนั้นจึงไม่เห็นสัญญาณการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ไหนเลย แม้แต่สหรัฐฯ การขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นแบบช้ามาก คือใช้เวลา 3 ปี ขึ้นมาเพียง 2% เท่านั้น (วัฏจักรเศรษฐกิจรอบก่อนๆ ใช้เวลาปีเดียวในการขึ้นดอกเบี้ย 2%)

ดังนั้นการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลก จึงไม่น่าใช่ปัจจัยพื้นฐาน  แต่เป็นเรื่อง sentiment หรืออารมณ์ตลาด เพราะถ้ามองจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้นับเป็นปีที่ดีมาก ครึ่งปีแรก 1H61 พบว่ากำไรบริษัทขยายตัวราว 8%YoY  ส่วน 3Q61 ที่กำลังจะประกาศ ผลสำรวจ Bloomberg consensus คาดว่าน่าจะได้เห็นเติบโตถึง +22%YoY

นำโดยกลุ่มใหญ่อย่างพลังงาน ที่น่าจะเห็นกำไรสุทธิขยายตัวถึงกว่า 50%YoY จากปีที่แล้วมี write-off สินทรัพย์ด้อยค่า แต่ปีนี้ไม่มี บวกกับราคาน้ำมันไตรมาส 3Q61 ปีนี้เฉลี่ย $75/bbl ก็สูงกว่า $50/bbl ในปีก่อนถึง 50%YoY ส่วนกลุ่มปิโตรเคมียังรับผลบวกจากวัฏจักรขาขึ้น ใน 3Q61 และธนาคารที่ประกาศออกมาแล้วค่อนข้างดีเช่นกัน

สรุปคือ พื้นฐานทั้งทางเศรษฐกิจภาพรวมก็ดี พื้นฐานกำไรสุทธิก็ดี จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าการปรับตัวลงของตลาดในช่วงนี้เป็นเรื่องของจิตวิทยา หรือ Sentiment มากกว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐาน โดยประเทศไทยถูกกระทบในรูปแบบของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลออกถึง 3 แสนล้านบาท ซึ่งเกิดจากนักลงทุนต่างประเทศกังวลตลาดเกิดใหม่ในภาพรวม ทำให้สั่งขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมฯ

เมื่อลูกค้าขายกองทุน ผจก.กองทุนก็ต้องขายหุ้น (แบบไม่เลือกราคา) ทำให้ผลกระทบต่อดัชนีหุ้นบ้านเราค่อนข้างแรง แบบไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน

ด้วยภาพดังกล่าวของการขายแบบสาดทั้งภูมิภาค แบบไม่เกี่ยงราคา ผมจึงเชื่อว่า “ตลาดไม่ได้ถูกเสมอ”   ราคาปัจจุบันที่ร่วงลงมาสะท้อนความกลัว (sentiment) มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ผมเชื่อว่าเมื่อผลประกอบการ 3Q61 ประกาศออกมาดี จะทำให้ PE ratio ของตลาดกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง และเราน่าจะเห็นตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นสะท้อนพื้นฐานเพื่อทำจุดสูงสุดใหม่เหนือ 1850 ได้ไม่ยาก