ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง? (2)

ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง? (2)

จากที่ได้นำเสนอไปในคราวก่อน ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ (ตามร่างที่อยู่ระหว่างการพิจารณา) โดยตรง ได้แก่

ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ทั้งหลาย รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการค้า ลีสซิ่ง หรือให้เช่ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ผู้ค้าขายสินค้าอุปโภคตามประเภทและมูลค่าที่คณะกรรมการ ปปง. กำหนด ตลอดจนที่ปรึกษากฎหมาย หรือทนายความ และผู้ทำบัญชีด้วย ซึ่งหากกฎหมายฟอกเงินออกมาตามที่มีการยกร่างไว้นี้ องค์กรและผู้ประกอบอาชีพต่างๆ เหล่านี้จะมีหน้าที่หลายประการ เช่น

  1. หน้าที่ในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่รายงานต่อสำนักงาน ปปง.
  2. หน้าที่ในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence)รวมถึงจะต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตน โดยแสดงข้อมูลหลักฐานต่างๆ เช่น ชื่อเต็ม วันเดือนปีเกิด เลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ อาชีพ หมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล์ ก่อนทำธุรกรรมกับลูกค้าที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด
  3. หน้าที่ในการรายงานธุรกรรมตามประเภท และจำนวนหรือมูลค่าตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (เช่น ธุรกรรมเงินสดตามจำนวนที่กำหนด ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย)
  4. หน้าที่ในการบันทึกข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับธุรกรรมที่ทำกับลูกค้าที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้สำนักงาน ปปง. สามารถตรวจสอบได้
  5. หน้าที่ในการรักษาความลับเกี่ยวกับการส่งหรือรับข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยถือเป็นความลับในราชการ
  6. หน้าที่ในการระงับการทำธุรกรรมไว้ก่อนไม่เกิน 10 วันทำการในกรณีที่ผู้มีหน้าที่รายงานไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าได้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน
  7. หน้าที่ในการกำหนดนโยบายด้านการป้องกันการฟอกเงินและจัดให้มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  8. หน้าที่ในการเก็บเอกสารการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าเป็นเวลา 10 ปีนับแต่วันที่มีการปิดบัญชี หรือนับแต่วันถัดจากวันที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว
  9. สถาบันการเงินที่มีบัญชีของลูกค้าจะต้องแจ้งเลขที่บัญชี ชื่อของผู้ถือบัญชี และข้อมูลการแสดงตนของลูกค้าให้แก่สำนักงาน ปปง.ด้วยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ปปง. กำหนด เป็นต้น

การแก้ไขกฎหมายข้างต้น นอกจากจะส่งผลกระทบภาคธุรกิจแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย โดยก่อนที่ผู้บริโภคจะสามารถทำธุรกรรมอะไรได้สักอย่างที่รัฐมองว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน ในอนาคตก็จะต้องแสดงบัตรประชาชนหรือเอกสารยืนยันตัวตนต่อผู้ขาย หรือผู้ให้บริการเสียก่อน หากเป็นเช่นนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า สังคมไทยของเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค “Big Brother” อย่างเต็มตัวแล้ว

สาเหตุที่รัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขกฎหมายฟอกเงินดังกล่าวไม่ได้เป็นเพราะเหตุผลภายในประเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินเท่านั้น แต่เป็นเพราะประเทศไทยได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศให้เพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้ทัดเทียมกับสากลยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้ร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ยังได้เพิ่มหน้าที่ให้กับมูลนิธิ สมาคม และองค์กรไม่แสวงหากำไร ในการเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการหรือปฏิบัติงานต่างๆ และต้องมีข้อมูลผู้ที่มีอำนาจควบคุมหรือสั่งการ เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลนี้ต้องสามารถเปิดเผยได้ จัดทำงบประมาณประจำปีโดยแยกรายละเอียดของรายรับหรือเงินบริจาคและรายจ่ายให้ชัดเจน บันทึกข้อเท็จจริงในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและวัตถุประสงค์ของค่าใช้จ่าย ให้ข้อมูลผู้รับประโยชน์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และเก็บรักษาข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศไว้อย่างน้อยสิบปีนับแต่ทำธุรกรรมนั้น

ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อองค์กรหรือบุคคลที่อาจจะไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไรเลย แต่จำต้องทำตามกฎในฐานะเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในคราวต่อไปเราจะมาดูกันว่า อาชญากร” ประเภทใดบ้างที่ต้องระวังผลกระทบจากกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้

แล้วพบกันใหม่ค่ะ

โดย... วิภานันท์ ประสมปลื้ม