การวิจัยพัฒนา-คิดสร้างสรรค์ และสังเคราะห์นวัตกรรม

การวิจัยพัฒนา-คิดสร้างสรรค์ และสังเคราะห์นวัตกรรม

ในเวทีของการวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมในระดับประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำ มักจะเกิดความยุ่งยากในการหาข้อสรุป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากการตีความความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” ที่ต่างคนต่างมีความคิดเห็นของตัวเอง

สิ่งที่มักจะปะปนกันอยู่เสมอว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือ มักจะปนๆ กันอยู่ในระหว่างคำว่า การวิจัยพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ และการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ออกสู่ตลาด ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยของแต่ละคน

เมื่อพูดถึงเรื่องงานวิจัย ก็มักจะมีสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย มาเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในฐานะผู้เล่นที่มีความสำคัญส่วนหนึ่ง

แต่ในบริบทของงานวิจัย เป็นที่ทราบกันดีว่า งานวิจัยสามารถแบ่งออกได้ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ งานวิจัยที่ต้องการค้นหาคำตอบเพื่อความก้าวหน้าในเชิงทฤษฎีหรือวิชาการ และงานวิจัยที่ต้องการค้นหาคำตอบที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจให้สามารถสร้างความแปลกใหม่ให้แก่ตลาดได้ หรือที่เรียกว่า การวิจัยประยุกต์ เพราะอาจเป็นการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการที่มีอยู่แล้ว มาหาวิธีการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ

งานวิจัยในสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย อาจมุ่งเน้นไปที่การวิจัยประเภทแรก เพราะจะทำให้ผู้วิจัย ซึ่งเป็นอาจาร์ย ได้รับการพิจารณาผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะ เลื่อนชั้น หรือเลื่อนตำแหน่ง ในขณะที่งานวิจัยประเภทที่ 2 หรืองานวิจัยประยุกต์อาจไม่ได้รับการพิจารณาเช่นเดียวกัน

งานวิจัยประยุกต์ส่วนใหญ่จะทำในองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการสนับสนุนงานวิจัยพัฒนา เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ในรูปของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดที่จะทำให้สร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น

ในบางครั้ง งานวิจัยประยุกต์จากสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย อาจได้รับการยอมรับน้อย เนื่องจากอาจารย์ผู้วิจัยอาจไม่มีประสบการณ์เชิงพาณิชย์ในระดับที่อุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจต้องการ

อย่างไรก็ตาม ผลงานจากการวิจัย ก็ถือได้ว่า เป็นแหล่งความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ขึ้นได้

จากความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ จะต้องผ่านกระบวนการในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบ ที่จะทำให้เห็นถึงศักยภาพในการการพัฒนาต่อไปให้เกิดผลสำฤทธิ์ที่เป็นไปได้จริงในเชิงพาณิชย์

ต้นแบบของผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีต่างๆ ที่จะพิสูจน์แนวคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์นั้นๆ จะมีศักยภาพกลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่แปลกใหม่ออกสู่ตลาดได้จริง มักจะเรียกกันว่า ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือ โปรโตไทป์

การสร้าง โปรโตไทป์ ขึ้นได้ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการสร้างนวัตกรรม เนื่องจากนวัตกรรม จะต้องนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ หรือในเชิงสังคมขึ้นได้

เนื่องจากนิยามของนวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป คือ การใช้องค์ความรู้หรือการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น หรือในเชิงสังคม ที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของสังคมดีขึ้นได้อย่างชัดเจน

การสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่มีความแปลกใหม่ อาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ แต่การสังเคราะห์นวัตกรรมอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่เพียงอย่างเดียว

นวัตกรรม อาจเป็นนวัตกรรมการให้บริการ นวัตกรรมกระบวนการผลิต นวัตกรรมกระบวนการทำธุรกิจ หรือ นวัตกรรมนวัตกรรมด้านการตลาดใหม่ๆ ก็เป็นได้

เส้นทางจากการนำผลการวิจัย มาสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบ และทำให้เกิดการสังเคราะห์นวัตกรรม อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วหรือล่าช้า ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการสนับสนุนจากสภาพแวดล้อมทั่วไป หรือที่มักเรียกกันว่า นิเวศวิทยา ของการสังเคราะห์นวัตกรรม

ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจและการส่งเสริมสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มองเห็นความสำคัญของคุณค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของประเทศ

ดังนั้น หากยังมีความสับสนระหว่างความเข้าใจระหว่าง การทำวิจัย การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการสังเคราะห์นวัตกรรม ทิศทางที่จะนำไปสู่การสร้างศักยภาพและความสามารถในการสังเคราะห์นวัตกรรมโดยรวมของประเทศ

ก็ยังคงต้องพบกับความสับสน เช่นเดียวกัน!!!???!!!