บัญชีช่วย 1,200 ชีวิตของชินด์เลอร์

บัญชีช่วย 1,200 ชีวิตของชินด์เลอร์

นวนิยายเรื่องนี้แปลมาจาก Schinder’s List เขียนจากเรื่องจริง เคยทำเป็นหนังได้รางวัลออสการ์ 7 รางวัล เรื่องของมโนธรรมสำนึก

ของนักอุตสาหกรรมเยอรมันคนหนึ่ง ในยุคการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดยระบบนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ทั้งความรู้ ความคิดอ่าน และความบันเทิงในการอ่านที่วิเศษมาก

นวนิยายเล่มนี้พิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ศิลปะของนวนิยายนั้นต่างจากศิลปะของภาพยนตร์ ที่แม้จะมีผู้กำกับและทีมงานที่เก่งและทำได้ดีอย่างไร ก็ไม่สามารถสะท้อนเรื่องราวได้อย่างมีลำดับเรื่อง มีรายละเอียด มีความซับซ้อนลึกซึ้ง มีความงดงามของภาษา การสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ความคิดอ่านของตัวละคร ฯลฯ ได้มากเท่ากับนักเขียนนวนิยายที่มีฝีมือ

เรื่องนี้เล่าเรื่องได้อย่างมีลำดับขั้นตอน มีรายละเอียด ความลึกซึ้งในแง่พฤติกรรมความนึกคิด อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในเรื่องได้อย่างสมจริง มีชีวิตชีวา แม้เนื้อหาหลักจะเป็นเรื่องที่โหดร้าย น่าสยดสยอง น่ารังเกียจ เศร้า หดหู่อยู่มาก แต่ผู้เขียนสามารถเล่าให้ผู้อ่านเห็นภาพที่กว้างและลึก ให้ผู้อ่านเห็นความจริงในชีวิตของมนุษย์และสังคม มีทั้งช่วงที่เลวร้าย และช่วงที่ดีขึ้นโดยเปรียบเทียบ ทั้งความน่าเกลียดน่าชังของการเข่นฆ่า การดูถูกชาติพันธุ์อื่นเหมือนไม่ใช่มนุษย์ และความสวยงามของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีทั้งคนเลวและคนดี ทั้งคนที่หมดหวัง หมดอาลัยตายอยาก คนที่มีความหวังที่จะยืนหยัดเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ได้จนกว่าสงครามจะจบลงสักวันหนึ่ง และคนที่อยากช่วยเหลือคนอื่น ทั้งออสการ์ ชินด์เลอร์ ผู้อำนวยการโรงงานชาวเยอรมันจากเชคโกสโลวาเกีย และคนอื่นๆ เป็นหนังสือนวนิยายรางวัล Booker Prize ที่ดีมากเล่มหนึ่ง

ชาวยิวอยู่กระจัดกระจายในหลายประเทศในยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออกมานานแล้ว เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศาสนาวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่เคร่งครัด และมักจะจับกลุ่มอยู่ในหมู่พวกตนเอง กลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่แตกต่าง และมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลหรือกลุ่มต่อต้านยิวอยู่ในหลายประเทศในหลายยุคสมัย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะคนยิวบางส่วนได้เป็นพ่อค้านักธุรกิจ ช่างฝีมือ ฯลฯ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ส่วนหนึ่งเพราะแต่ละเชื้อชาติมักจะระแวงกลุ่มที่มีความเชื่อ วัฒนธรรมที่แตกต่างจากพวกตน ความขัดแย้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในยุคระบอบนาซี ของพรรคสังคมชาตินิยม นำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้คลั่งชาติ คลั่งเชื้อชาติ คิดว่าคนผิวขาวเยอรมันมาจากเผ่าอารยันที่ยิ่งใหญ่ ต้องการกำจัดคนยิว คนยิปซีที่เป็นเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่า จึงควบคุมพวกเขาเป็นนักโทษใช้แรงงานแบบทาส และทยอยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องนี้เป็นโศกนาฏกรรม และบทเรียนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ออสการ์ ชินด์เลอร์ เป็นชาวเยอรมันที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภูมิภาคซูเดนเทนแลนด์ ในเชคโกสโลวาเกีย ซึ่งถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชินด์เลอร์ไปลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ผลิตภาชนะเครื่องเคลือบที่เมืองคราครูฟ (ทางตอนใต้ของโปแลนด์ใกล้กับบ้านเกิดของเขา) ในปีที่เยอรมันบุกโปแลนด์และยึดกิจการหลายอย่างของชาวโปลเชื้อสายยิว ตอนแรกชินด์เลอร์เป็นเพียงคนชั้นกลาง เจ้าสำราญ ผู้สนใจแค่ทำธุรกิจหากำไรจากการจ้างแรงงานชาวยิว ที่ค่าจ้างต่ำกว่าคนงานชาวโปล แต่หลังจากที่ชินด์เลอร์ได้เห็นพวกกองกำลังเอสเอสของนาซีปราบปรามคนยิวอย่างเหี้ยมโหด และได้รู้จักสนิทสนมกับพนักงานชาวยิวระดับผู้ช่วยของเขามากขึ้น ทำให้เขาแปลกแยกกับระบบนาซีและสนใจแอบช่วยเหลือชาวยิวเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งๆที่ตัวเขาก็เสี่ยงที่จะถูกรัฐบาลนาซีเล่นงาน

ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ซึ่งค้นคว้าวิจัยทั้งทางเอกสารและสัมภาษณ์ผู้คน สามารถเล่าเรื่องของออสการ์ ชินด์เลอร์ ที่มีบุคลิกนิสัยเฉพาะตัวที่ซับซ้อน อย่างเห็นพัฒนาการทางอารมณ์ความรู้สึกของเขาได้ชัด รวมทั้งคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขา ทั้งผู้บัญชาการค่ายกองกำลังเอสเอส คนงานชาวยิว เราได้เห็นทั้งเรื่องความคิดจิตใจอารมณ์ความรู้สึก ของคนกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผันผวน มีทั้งปัญหาการท้าทาย ความพยายามแก้ปัญหา ความล้มเหลวในบางเรื่องและความสำเร็จในบางเรื่อง

ในตอนปลายสงคราม เมื่อเยอรมันใกล้แพ้ ฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังรุกเข้ามาเพื่อปลดปล่อยโปแลนด์ รัฐบาลนาซียังคงโยกย้ายชาวยิวไปค่ายกักกันอื่น โดยเฉพาะค่ายที่มีเครื่องมือในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอยู่ ทำให้ชินด์เลอร์ต้องหาทางย้ายโรงงานของเขาจากโปแลนด์ไปตั้งที่สโลวาเกียที่ปลอดภัยกว่า

ในช่วงนั้นชินด์เลอร์ช่วยชีวิตคนยิวราว 1,200 คน (ตามบัญชีรายชื่อที่เขาขอย้ายคนงาน) ดังที่พิพิธภัณฑ์เพื่อรำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวแห่งอิสราเอล ประกาศเกียรติคุณให้ออสการ์ ชินด์เลอร์ ภายหลังสงคราม ชินด์เลอร์ยังมีส่วนช่วยชีวิตคนยิวคนอื่นๆ ในหลายสถานที่ หลายโอกาส ส่วนใหญ่คือ การช่วยทางอ้อมอีกจำนวนมาก จนนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าในหมู่ปัจเจกชนด้วยกัน ชินด์เลอร์คือ ปัจเจกชนที่ช่วยชีวิตชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มากที่สุด

เรื่องการช่วยเหลือของเขานั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ไหวพริบ กลอุบาย และโลดโผนพลิกผัน ตื่นเต้น พอๆ กับนวนิยายประเภท Action ทีเดียว และโทมัส คเนลลีย์ นักเขียนชาวออสเตรเลีย ค้นคว้าข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เขียนเป็นนวนิยายได้อย่างมีศิลปะ ความสมจริงและความสมดุลของชีวิตจริงของมนุษย์มาก

แม้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจะเป็นเรื่องจริงที่โหดและเศร้า แต่ผู้เขียนไม่ได้เสนอภาพนี้ด้านเดียว เขายังเขียนถึงการปรับตัวเพื่ออยู่รอดของมนุษย์ ความหวัง ความสุขเท่าที่พอหาได้ในค่ายกักกัน ความตั้งใจช่วยเหลือกันและกันของผู้คนที่ยังมีมนุษยธรรมทั้งออสการ์ ชินด์เลอร์และคนอื่นๆ พอที่จะทำให้เรารู้สึกถึงมนุษย์บางคนในแง่ดี และมีความประทับใจ ความหวังในมนุษยชาติ

เหมือนอย่างคำจารึกประโยคหนึ่งในคัมภีร์ทัลมุดของชาวยิว ที่นักโทษคนงานชาวยิวจารึกในแหวนที่พวกเขามอบให้ชินด์เลอร์เป็นที่ระลึกในวันที่สงครามยุติด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน และชินด์เลอร์ต้องเป็นฝ่ายหาทางหลบหนีจากพวกทหารฝ่ายสัมพันธมิตร คนที่ช่วยชีวิตคนๆ หนึ่ง คือคนช่วยโลกไว้ทั้งโลก

[แปลโดย กรรณิการ์ พรมเสาร์ บรรณาธิการโดย วิทยากร เชียงกูล พิมพ์โดย มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม ติดต่อได้ที่ FB/Line 094-203-7475]