คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ: 80 ปี ของการ"สร้างและให้"

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ: 80 ปี ของการ"สร้างและให้"

ได้มีผู้ใหญ่กล่าวไว้กับผมว่า การที่องค์กรหรือหน่วยงานแห่งหนึ่งก่อตั้งและอยู่มานาน ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป

ผู้บริหารองค์กร ควรจะต้องถามตนเองว่า การที่อยู่มานานและคิดว่าจะอยู่ต่อไปนั้น องค์กรยังมีความจำเป็น คุณค่า และมีความสำคัญกับสังคมหรือไม่? ประจวบกับเมื่อวานนี้ (22 ตุลาคม) เป็นวันครบรอบ 80 ปีของการสถาปนาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ตนเองได้มีโอกาสวิ่งเล่น เรียนหนังสือ ทำงาน ให้กับสถาบันแห่งนี้ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ก็เลยถือโอกาสย้อนกลับไปดูว่าจากอดีตถึงปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้ได้ก่อให้เกิดคุณค่าให้กับสังคมไทยอย่างไรบ้าง?

ถ้าเริ่มจากหลักสูตรและการเรียนการสอน พบว่าหลักสูตรของคณะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ถูกพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และสภาพเศรษฐกิจมาโดยตลอด เริ่มจากอดีต ในปี 2480 เมื่อที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรที่จะมีการฝึกฝนวิชาชีพให้แก่นิสิตเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ทางราชการและประเทศชาติให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิชาการบัญชี พาณิชยศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์ ทำให้วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2481 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานของการเรียนการสอนด้านวิชาการบัญชี พาณิชยศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ประกอบกับในปี พ.ศ. 2482 ได้มีการออกพระราชบัญญัติการบัญชี ขึ้นมาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทำให้ร้านค้าและโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องจัดทำบัญชี ขึ้นตามกฎหมาย และมีความต้องการคนที่มีความรู้ในด้านนี้มากขึ้น

จากจุดเริ่มต้นในปี 2481 ถึงปัจจุบันจะพบว่าคณะฯ มีหลักสูตรใหม่ๆ และหลักสูตรที่ปรับปรุงให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอด เช่น เมื่อช่วงกว่า 20 ปีที่แล้ว ที่กระแสโลกาภิวัฒน์เริ่มเข้ามาที่ประเทศไทย คณะฯ ก็ได้ริเริ่มหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาตรีขึ้นเป็นหลักสูตรแรกในจุฬาฯ หรือในปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ยุค 4.0 ก็ทำให้การเรียนการสอนและ กิจกรรมต่างๆ ภายในคณะฯ มุ่งเน้นไปสู่การสร้างทักษะสำหรับอนาคตมากขึ้นกว่าเพียงแค่การมีความรู้ตามตำราเพียงอย่างเดียว

นอกจากเรื่องของหลักสูตร การเรียนการสอน การพัฒนานิสิต แล้ว ในด้านวิชาการก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องทบทวนตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่องค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยได้พัฒนาขึ้นมานั้นจะต้องไม่อยู่เฉพาะในวารสารทางวิชาการชั้นนำระดับโลกเท่านั้น แต่จะต้องสามารถถ่ายทอดและก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

นอกเหนือจากเรื่องของการบรรยายให้ความรู้ทางวิชาการทั่วๆ ไปแล้ว คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออมเพื่อการเกษียณ ที่จากงานวิจัยทางวิชาการได้พัฒนาต่อออกมาเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับบุคคลทั่วไป หรือ Corporate Brand Valuation ที่วัดมูลค่าแบรนด์องค์กรและกลายเป็นตัวชี้วัดในการบริหารของหลายๆ องค์กรในไทย หรือ Most Powerful Brand ที่จัดลำดับแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์จากแบรนด์ที่ทรงพลังต่างๆ เป็นต้น

ที่สำคัญคือในโอกาสครบรอบ 80 ปีของคณะฯ ความรู้ทางวิชาการของเหล่าคณาจารย์ในคณะฯ ได้รับการถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ (SPACE by Chulalongkorn Business School) ให้กับคนไทยได้เรียนรู้ทางด้านธุรกิจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีผู้ที่เข้ามาเรียนและอยู่ในระบบแล้วเกือบหนึ่งแสนคน โดย SPACE มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทางด้านธุรกิจให้กับคนไทย แบบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ตัวอย่างต่างๆ ข้างต้นเป็นเพียงแค่บางส่วนของสิ่งที่คณะฯ ได้ทำมาตลอด 80 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าคุณค่าที่สำคัญที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ​ให้กับสังคมไทยนั้นมีความชัดเจน ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา คณะฯ ไม่ได้มองว่าคณะฯ อยากเป็นหรืออยากได้รับอะไร แต่คณะฯ ต้องการที่จะ สร้างและ ให้สิ่งดีๆ มีคุณค่ากับสังคมไทยมากกว่า