ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการลงทุน

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการลงทุน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน ช่วงนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังอยู่ในอาการมึนงง และผันผวนต่อเนื่อง

โดยมีทั้งข่าวบวกจากตัวเลขผลประกอบการแต่ก็มีปัจจัยลบหลากหลายเช้ามากระทบ ช่วงนี้หลายท่านเลยมีคำถามว่าช่วงนี้ควรเข้าไปลงทุนหรือยัง หรือตลาดจะปรับตัวลงไปอีกถึงเมื่อไหร่ วันนี้ก็เลยอยากพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้

เมื่อวันก่อนเผอิญได้เห็นคุณ ชัยปกรณ์ CIO จาก บลน โรโบเวลธ์ พูดถึงเรื่องนี้ไว้ได้คมทีเดียวว่า “เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มลงทุนคือ 20 ปีที่แล้ว” อ้าวถ้างั้นคนที่พลาดช่วงเวลาที่ดีที่สุดไปแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องดูคำพูดถัดมาว่า “..เวลาที่ดีรองลงมาคือลงทุนตอนนี้” เป็นไงครับ คมและให้คำตอบให้กับนักลงทุนหรือผู้ที่ต้องการวางแผนการลงทุนได้เป็นแนวทางได้ดีทีเดียว

ผมอยากขยายความในเรื่องดังกล่าวว่าโดยนัยยะของความหมายของคำพูดดังกล่าวนั้นต้องการสื่อสารในเรื่องของการวางแผนการลงทุนเป็น 3 ประเด็นหลักๆคือ

ประเด็นแรกการวางแผนการลงทุนนั้นควรเริ่มลงมือปฎิบัติให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าแผนการลงทุนของเรานั้นจะเป็นเพื่อการวางแผนเกษียณ การวางแผนการศึกษาในอนาคตของลูก เพราะยิ่งเราลงทุนได้เร็วเท่าไหร่ผลตอบแทนของการลงทุนจะยิ่งมากขึ้น และภาระรายจ่ายเพื่อการลงทุนต่องวดก็จะยิ่งลดลง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือหากเราเริ่มวางแผนเกษียณและเริ่มลงทุนเมื่อ 20 ปีที่แล้วย่อมได้เปรียบกว่าคนที่เพิ่งจะเริ่มลงทุนตอนนี้ แต่คนที่เริ่มลงทุนเพื่อเกษียณตอนนี้ก็ยังดีกว่าคนที่ยังไม่ได้เริ่มต้นหรือได้แต่คิดแต่มัวแต่จดๆจ้องๆ อยู่นั่นเอง

ประเด็นที่สอง ความหมายในคำพูดดังกล่าวจะให้ความสำคัญของระยะเวลาของการลงทุนมากกว่าจังหวะของการลงทุน นั่นคือไม่อยากให้นักลงทุนให้ความสำคํญกับไทม์มิ่งของการลงทุนมากจนเกินไป หรือจนทำให้มัวแต่จดๆจ้องๆ โดยในการวางแผนการลงทุนนั้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนแบบฉลี่ยเป็นรายเดือนอยู่แล้ว เช่น ลงทุนแบบเฉลี่ยทุกๆเดือนหรือทุกๆไตรมาส ซึ่งเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุนไปในตัวอยู่แล้ว

ประเด็นที่สามแม้ว่าคำพูดดังกล่าวไม่ได้พูดถึงเอาไว้คือเรื่องของการกระจายการลงทุนไปยังหลักทรัพย์ต่างๆให้เหมาะสมตามความเสี่ยงและวัตถุประสงค์ของการวางแผนการลงทุน และสัดส่วนนี้ควรจะมีการปรับให้เหมาะสมกับสถาณการณ์ด้านเศรษฐกิจและตลาดทุน และเวลาที่เหลือของการลงทุน เช่นในช่วงที่ใกล้ๆปลายทางสุดท้ายของการลงทุนเราควรปรับพอร์ตของเราให้มีความผันผวนที่น้อยลง แต่ถ้าหากพอร์ตลงทุนของเรายังไม่ถึงเป้าหมาย ทางเลือกที่จะทำอาจต้องเป็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหรือปรับลดเป้าหมายมากกว่าที่จะเสี่ยงเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเพื่อหวังทำกำไรให้พอร์ตโตถึงเป้าหมายในช่วงโค้งสุดท้าย อย่าลืมนะครับว่าในช่วงโค้งสุดท้ายของการวางแผนนั้นปริมาณเงินในพอร์ตของเราจะมีมูลค่ามากกว่าในช่วงเริ่มต้นของการวางแผน สมมติว่าผลตอบแทนของพอร์ตเกิดผันผวนและติดลบ ผลกระทบในรูปของเม็ดเงินจะมากกว่า (เช่น เทียบกันระหว่างพอร์ต 1 แสนบาท กับ 10 ล้านบาท ถ้าผลตอบแทนติดลบ 5% พอร์ตแรกจะขาดทุน 5000 บาทให้ขณะที่พอร์ตหลังจะขาดทุนถึง 5 แสนบาท)

ก่อนจบผมมีตัวเลขสมมติเล่นมาฝาก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว (30 กันยายน 2540) อยู่ที่ 253.82 ถ้านักลงทุนลงทุนแบบถัวเฉลี่ยทุกๆเดือนเดือนละ 5000 บาท จากปลายปี 2540 เป็นเวลา 20 ปี (รวมเป็นเงินลงทุน 1.2 ล้านบาท)ในตลาดหุ้นเงินลงทุนจะเติบโตเป็นประมาณ 3.4 ล้าน และหากเราลงทุนด้วยเงิน 1.2 ล้านตั้งแต่ต้นเงินเราจะเติบโตเป็น 4.7 ล้าน แหมรู้งี้น่าลงทุนตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วเนอะท่านผู้อ่าน

ครับสุดท้ายก็ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนครับ