“เมื่อกฎหมายกำหนดให้สัตว์ต้องมีค่าตัว”

“เมื่อกฎหมายกำหนดให้สัตว์ต้องมีค่าตัว”

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

(ร่าง พ.ร.บ.) เพื่อป้องกันปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ และเป็นการป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสังคมถึงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวซึ่งจะออกมาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ในเรื่องการควบคุมทางทะเบียนเพื่อความรับผิดชอบแก่เจ้าของสัตว์เลี้ยง รวมทั้งการเพิ่มบทบาทหน้าที่หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น การออกข้อบัญญัติต่าง ๆ เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง การเก็บค่าธรรมเนียม และค่าปรับไม่เกิน 25,000 บาท อันเกิดจากการประชาชนในพื้นที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หลายเป็นกระแสสังคมในขณะนี้คือ กรณีที่ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปขึ้นทะเบียน โดยมีค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ. ดังนี้คือ ค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียน ฉบับละ 50 บาท ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ 100 บาท ค่าเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ตัวละ 300 บาท หากเจ้าของไม่ดำเนินการตามกฎหมายเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นของรัฐมีอำนาจเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 25,000 บาท และรายได้จากการเปรียบเทียบปรับดังกล่าวให้ถือเป็นรายได้ของท้องถิ่น

หากคำนวณจำนวนค่าธรรมเนียมที่รัฐจะได้รับจากกรณีดังกล่าวเฉพาะของสุนัขและแมวตามข้อมูลการสำรวจในปี 2559 จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั้ง 77 จังหวัด จะพบว่า ในกรณีสัตว์ที่มีเจ้าของ มีสุนัข จำนวน 7,380,810 ตัว และแมว จำนวน 3,015,151 ตัว รวม 10,395,961 ตัว ส่วนในกรณีสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ มีสุนัข 785,446 ตัว และแมว จำนวน 474,142 ตัว รวม 1,232,588 ตัว รวมทั้งสองกรณี เป็นจำนวน 11,628,549 ตัว

เมื่อคำนวณเฉพาะสุนัขและแมวที่มีเจ้าของ มีจำนวน 10,395,961 ตัวแล้ว หากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตัวละ 450 บาท รัฐจะได้รับเงินค่าธรรมเนียมจำนวนทั้งสิ้น 4,678,182,450 บาท หรือประมาณ 4.6 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มีปริมาณเยอะพอสมควร หากมีกรณีที่บุคคลใด ๆ ต้องเสียค่าปรับอีก 25,000 บาท แล้ว จำนวนเงินก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวเลขจากการคำนวณเฉพาะกรณีสัตว์ตามความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นสุนัขและแมวเท่านั้น

นอกจากนี้เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้ “สัตว์” หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. มาตรา 4 บัญญัติให้ ...เพื่อประโยชน์ในการจัดสวัสดิภาพสัตว์และความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์รวมถึงการป้องกันแก้ไขปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้เจ้าของสัตว์มาแจ้งขอขึ้นทะเบียนสัตว์ ซึ่งการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้น ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจกำหนดประเภท ชนิด เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ รวมถึงมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับการขึ้นทะเบียนสัตว์ ซึ่งหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบการแจ้งรายการขอขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำนึงถึงบริบทของแต่ละท้องถิ่น

และในการขึ้นทะเบียนและการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ราชการส่วนท้องถิ่นจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสัตว์ด้วยก็ได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ดังนั้นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คือการกำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียนและเสียค่าธรรมเนียม โดยราชการส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่จะเป็นผู้กำหนดประเภทและชนิดของสัตว์ที่จะต้องทำการขึ้นทะเบียน

เมื่อวิเคราะห์ความหมายของสัตว์ในมาตรา 3 ข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีขอบเขตที่กว้างขวางมาก โดยเฉพาะกรณีของสัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้านหรือสัตว์เลี้ยง เนื่องจากปัจจุบันนี้สัตว์เลี้ยงมีประเภทและชนิดที่มากกว่าในอดีต อาทิเช่น นก สัตว์เลื้อยคลาน ปลา หนู กระต่าย เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกันในการจัดการที่เป็นระบบ รัฐควรกำหนดให้สัตว์เหล่านี้ต้องนำไปขึ้นทะเบียนเช่นเดียวกับสุนัขและแมว ซึ่งจะส่งผลทำให้รัฐมีเงินรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ในท้ายสุดแล้ว นอกจากการที่รัฐมีความหวังดีในการสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลสัตว์ที่มีเจ้าของโดยให้มีการนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียนและมีการเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อหวังจะลดปัญหาการทอดทิ้งสัตว์และสามารถติดตามหาเจ้าของได้ในกรณีที่เกิดการสูญหาย หรือในกรณีที่สัตว์ไปก่อความเสียหายให้แก่ผู้อื่นแล้ว รัฐควรต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้ว่า เงินค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บไปเป็นจำนวนมากนั้นจะส่งผลประโยชน์ตอบแทนกลับคืนมายังเจ้าของสัตว์หรือสัตว์ที่ถูกขึ้นทะเบียนตามเป้าหมายช่วยส่งเสริมและพัฒนาสวัสดิการของสัตว์ได้อย่างไรบ้าง

โดย... 

พรพล เทศทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์