ความท้าทายและอนาคตสวัสดิการไทย: เราจะหาความสมดุลได้อย่างไร

ความท้าทายและอนาคตสวัสดิการไทย: เราจะหาความสมดุลได้อย่างไร

ดังคำกล่าวของอดีตประธานธิบดีเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2536 “การปฏิเสธสิทธิมนุษยชนของประชาชน

คือการท้าทายความเป็นมนุษย์ของพวกเขา

ความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานเป็นสิทธิของคนทุกคน และเป็นข้อเรียกร้องของสหประชาติต่อทุกประเทศ ในขณะเดียวกัน แต่ละประเทศก็ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านทรัพยากร บางประเทศที่มีทรัพยากรมาก ข้อจำกัดดังกล่าวก็จะน้อยกว่าประเทศที่ยากจน

แล้วประเทศไทยของเราควรจะไปทางไหน? ถ้าสวัสดิการสังคมอยู่ในระดับต่ำเกินไป ก็จะส่งผลให้ความยากจนดักดานยังคงอยู่ในสังคมไทย และในที่สุดเศรษฐกิจก็ไม่สามารถจะเติบโตแบบมีส่วนร่วม หรือ Inclusive Growth แต่หากระดับสวัสดิการสังคมสูงเกินกว่าความสามารถในการใช้จ่ายของภาครัฐ ก็จะขาดความยั่งยืนทางการคลัง และไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันในระบบตลาด

เรามักจะถามว่า ทำไมเราไม่ได้สวัสดิการเยอะๆ ดังเช่นประเทศอื่น เราควรต้องพิจารณาก่อนว่าประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการเขามีโครงสร้างและวิธีการดำเนินการอย่างไร ขอยกตัวอย่าง เช่น ประเทศสวีเดน เป็นที่ทราบกันดีว่า สวีเดนมีระบบสวัสดิการที่ดีเยี่ยมตลอดชีพสำหรับประชาชนทุกคน ภายใต้ปราชญาของ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือ Solidarity การที่ประชากรชาวสวีเดนสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างถ้วนหน้าย่อมมีต้นทุนที่สูง ชาวสวีเดนโดยรวมยินดีจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่สูงที่สุดในโลก

การฉายภาพเบื้องหน้าเบื้องหลังกรณีประเทศสวีเดนแสดงให้เราเห็นว่า สังคมที่น่าอยู่ที่ชาวสวีเดนได้มาเป็นผลจากการร่วมด้วยช่วยกันระหว่างทุกภาคส่วน ทำให้สวีเดนเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในระดับต่ำที่สุดในโลก ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความบังเอิญ ก่อนกระบวนการกระจายรายได้โดยภาครัฐ ประเทศสวีเดนเองก็มีค่าดัชนีความเหลื่อมล้ำใกล้เคียงกับประเทศไทย กล่าวได้ว่า รัฐบาลสวีเดนทำหน้าที่แก้ไขข้อบกพร่องในการกระจาย (Corrective Function) อันเกิดจากกลไกระบบตลาด ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจอีกว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศสวีเดนปล่อยให้ระบบตลาดทำงานเต็มที่เพื่อคงประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป เนื่องด้วยหลายๆปัจจัย อาทิ ภาวะประชากรสูงอายุ และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้แต่ละประเทศ รวมถึงประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ เช่นสวีเดนเอง ต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในการบริหารจัดการระบบสวัสดิการเช่นกัน รัฐสวัสดิการของสวีเดนและหลายๆประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเริ่มต้นได้อย่างสวยงาม แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายประเทศก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงอายุ ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรบุคคลขับเคลื่อนลดน้อยลง ขณะที่ประชากรที่พึ่งพิงกลับมีสัดส่วนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น ปฏิรูประบบสาธารสุข ระบบบำนาญ รวมทั้งขยายอายุเกษียณ เป็นต้น

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย หากเราอยากได้สวัสดิการมากๆ สมการฝั่งรายได้ของภาครัฐที่ตรงไปตรงมาคือ การเก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น การเพิ่มฐานภาษี และการเพิ่มรายได้จากการทำงานให้แก่แรงงาน ซึ่งเป็นทิศทางนโยบายที่ถูกต้อง ตรรกะง่ายๆคือ หากเราต้องการสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลต้องมีรายรับมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าการผลักดันนโยบายต่างๆเหล่านี้ไม่สามารถบรรลุผลได้ในเร็ววัน ดังนั้น ในระยะสั้นและระยะกลาง เราก็ควรจะพิจารณาถึงทางออกเพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำ แบบ “ไทยๆ” ด้วย อาทิ การพิจารณาชุดนโยบายที่สามารถทำให้การเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน ก่อให้เกิดผลผลิตกลับสู่ระบบเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดรายได้ภาษีกลับสู่ภาครัฐ

ตัวอย่างแรกของนโยบายดังกล่าวคือ มาตรการเพิ่มทางเลือกการทำงานผู้สูงอายุที่ผู้เขียนเคยเสนอในงานวิจัยเมื่อปี 2558 และต่อมาได้กลายมาเป็นหนึ่งใน 4 มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุของกระทรวงการคลังในปี 2559 ให้นายจ้างสามารถใช้สิทธิหักรายจ่ายจากการจ้างงานผู้สูงอายุได้ 2 เท่าจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดการเพิ่มการจ้างงาน ส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่หลุดจากวงจรการผลิต เพิ่มรายได้ผู้สูงอายุ เพิ่มการผลิต และยังเพิ่มรายได้ภาษีกลับสู่ภาครัฐ อีกหนึ่งตัวอย่างคือ หากเรามองเรื่องการดูแลระยะยาว (Long-term care) เป็นชุดนโยบาย ซึ่งควบรวมกับการฝึกอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ ก็จะถือว่าเป็นการลงทุน และสามารถส่งผลตอบแทนสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในอนาคตเช่นกัน

นับเป็นฤกษ์ยามงามดีที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคควรออกมาแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายในลักษณะเช่นนี้ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และทำให้ประชาชนเห็นภาพว่าในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว จะสามารถคาดหวังผลอะไรได้บ้าง ประเทศของเราไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย จะใช้จ่ายอะไรก็ต้องช่วยกันระมัดระวัง ดังนั้น เราจำเป็นต้องหาทางออกที่เหมาะสมกับบริบทของไทย เพื่อสามารถทำให้สวัสดิการที่รัฐจัดให้แก่ประชาชนก่อให้เกิดผลผลิตกลับสู่ระบบเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดรายได้ภาษีกลับสู่ภาครัฐ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่การให้สวัสดิการของรัฐเปรียบเสมือนวัฏจักรของการเกิดฝน

โดย... 

ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์