เสริฟขนม ด้วยรองเท้า

 เสริฟขนม ด้วยรองเท้า

สองสัปดาห์ก่อน ผมไปบรรยายหลักสูตร มหานคร 6 ของ กทม. และ หลักสูตร Super Series ของ IRDP เรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร”

กล่าวโดยสรุปว่า กลยุทธ์องค์กรจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กร เป็นสำคัญ

ถ้าวางแผนกลยุทธ์ไว้สุดหรู ว่าจะเป็น “องค์กรนวัตกรรม” แต่วัฒนธรรมองค์กร ใครทำผิดก็โดนอัดโดนด่า ใครคิดต่างจากผู้บริหาร ก็ถูกเพ่งเล็ง อย่างนี้จะไม่มีใครกล้าคิดนอกกรอบ ไม่กล้าพูด และนวัตกรรมก็จะไม่เกิด

จากเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร” ก็เลยมีผู้ตั้งประเด็นคำถามตามมาว่า แล้ว “วัฒนธรรมของคนไทย” จะมีบางเรื่องที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ในทำนองเดียวกันหรือไม่

ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจนะครับ เพราะวัฒนธรรมของคนแต่ละชาติ ก็เป็นเรื่องของวิถีปฏิบัติที่สั่งสมกันมานาน อย่างคนไทยเรามีวัฒนธรรมหลากหลาย เช่น ให้ความเคารพผู้ที่อาวุโสมากกว่า มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ทักทายด้วยการไหว้ การอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเกรงใจ และมักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การไม่แตะต้องศรีษะของผู้อื่นเพราะถือว่าเป็นของสูง และเท้าเป็นของต่ำ เป็นต้น

ผมเลยมีเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่เป็นเรื่องของ บุคคลระดับนายกรัฐมนตรี 2 คนและภรรยา ซึ่งรับประทานอาหารร่วมกัน ในงานเลี้ยงรับรอง แต่พอถึงของหวาน กลับจบลงอย่างไม่คาดฝัน เพราะพนักงานไม่ได้เสริฟขนมในจานหรือในถ้วย แต่….เสริฟด้วยรองเท้า

แขกรับเชิญชื่อว่า อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ส่วนเจ้าภาพชื่อ เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล งานเลี้ยงเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากที่ได้ประชุมกันหนึ่งวันเต็มๆ เนทันยาฮู ก็จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่บ้านพักส่วนตัว เจ้าภาพสรรหาเชฟระดับสุดยอด Segrev Mosheซึ่งเชฟโมเช่ ก็ได้เตรียมเมนูพิเศษไว้สำหรับงานนี้

หลังอาหารจานหลักผ่านไป พอถึงรายการของหวาน ทั้งเจ้าภาพและแขก ต่างก็ประหลาดใจ เมื่อพนักงานได้นำรองเท้าหนังข้างหนึ่ง มาเสริฟบนโต๊ะอาหาร เป็นรองเท้าหนังขนาดใหญ่ บรรจุ “ช้อคโกแลต พลาลีน” ประดิดประดอยไว้อย่างสวยงาม

เราคงนึกไม่ออกหรอกว่า นายกรัฐมนตรีทั้งสองคน แสดงออกอย่างไรกับขนมหวานที่เสริฟในจานนั้น เอ๊ย..ในรองเท้าข้างนั้น และมันคงเป็นสถานการณ์ที่เจ้าภาพและแขกรับเชิญ รู้สึกอึกอักเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีอาเบะและภรรยา

เพราะญี่ปุ่น มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คล้ายกับไทยเรา คือก่อนเข้าสถานที่หลายแห่งเช่นภัตตาคาร หรือวัด หรือบ้าน ทุกคนต้องถอดรองเท้า พูดตรงๆก็คือ รองเท้าถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ส่วนต่ำของร่างกาย และไม่ควรใส่เข้าไปในสถานที่เหล่านั้น

เมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เจอรองเท้าใส่ของหวานมาให้รับประทาน ก็คงตกใจอย่างยิ่ง แต่ผมเชื่อว่าท่านคงรักษามารยาททางการทูต ข่าวไม่ได้ระบุว่า นายกรัฐมนตรีทั้งสองคน ได้รับประทานของหวานมื้อนั้นหรือไม่ และ เนทันยาฮู ได้กล่าวขอโทษหรือไม่

แต่ผมคิดว่าโดยมารยาทแล้ว อาเบะ ก็คงไม่ได้แสดงความอึดอัดใดๆให้เห็น เขาอาจจะบอกว่าอิ่ม หรืออาจกลั้นใจทานคำเล็กๆสักคำ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียมารยาททางการทูตก็ได้

แต่เหตุการณ์วันนั้นเป็นข่าวใหญ่โตในวันรุ่งขึ้น เมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่สุดของอิสราเอลรายงานว่า “ทูตานุทูตชาวญี่ปุ่น และกระทรวงต่างประเทศอิสราเอล รวมทั้งนักการทูตอิสราเอลที่เคยประจำการที่ประเทศญี่ปุ่น รู้สึก ช้อค กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นักการทูตอิสราเอลคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า “นี่เป็นการกระทำที่มิได้คำนึงถึงความรู้สึกของแขกรับเชิญ เพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถือว่ารองเท้าเป็นสิ่งที่ต่ำที่สุดแล้ว” และกล่าวสำทับว่า “คนญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ไม่ใส่รองเท้าในบ้านเท่านั้นนะ แม้ในห้องทำงานเขาก็ไม่ใส่ นี่เป็นการไม่เคารพแขกของเราอย่างที่สุด”

แล้วใครเป็นเจ้าของความคิด ให้เสริฟของหวานในรองเท้า กระทรวงต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ทันทีว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องอาหารเลย เพราะให้เกียรติเชฟระดับชาติ ความจริงจึงปรากฏออกมาว่า เจ้าของความคิด ก็คือ เชพโมเช่ นั่นเอง

วันต่อมา โมเช่ เอาภาพช้อคโกแลตในรองเท้า โหลดลงอินสตาแกรม แล้วเขียนด้วยความภูมิใจว่า “ช้อคโกแลตจากทั่วโลก ประดิดประดอยลงบนรองเท้าที่เป็นปฏิมากรรมชั้นเยี่ยม ออกแบบโดย ทอม ดิ๊กสัน ทำด้วยโลหะเหมือนของจริง แต่ไม่ใช่รองเท้าหนังจริงๆ”

แต่เขาก็ยังโดนด่าตามมาอีกมากมายว่า ทำไมไม่ใช้สมองคิดดูว่า แขกของคุณเป็นใคร วัฒนธรรมของเขาเป็นเช่นใด นักการทูตญี่ปุ่นคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ว่าวัฒนธรรมประเทศไหน คุณก็เอารองเท้าจริงหรือปลอม มาไว้บนโต๊ะอาหารไม่ได้ทั้งนั้นแหละ!

เห็นไหมว่า เรื่องของวัฒนธรรมนั้นละเอียดอ่อน และการทูตระดับชาติ ก็ต้องใส่ใจมากๆ คราวนี้เรากลับมาประเด็นที่ว่า วัฒนธรรมของคนไทย จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายหรือไม่เพราะเมื่อวัฒนธรรมองค์กร ส่งเสริมหรือสกัดกั้นความก้าวหน้าขององค์กรได้ วัฒนธรรมของคนในชาติ ก็น่าจะมีผลคล้ายกันได้ มิใช่หรือ

วัฒนธรรมของเราที่อาจจะเป็นอุปสรรค คงมีพอสมควร เช่นเราไม่พูดอะไรมากนักเวลาอยู่ในที่ประชุม ผู้บริหารไทยมักมีแนวโน้มที่จะพูดน้อย หรือน้อยที่สุดในการประชุมนานาชาติ ส่วนเวลาประชุมคนไทยด้วยกันเอง เราก็พูดน้อย และไม่ค่อยกล้าตั้งคำถามที่ละเอียดอ่อน แต่ออกมาถามนอกห้องประชุม หรือขัดแย้งนอกห้องประชุมมากกว่า

เรายังมีวัฒนธรรมในการหาเส้นสาย เพื่อได้สิทธิพิเศษ วัฒนธรรมในการทำอะไรตามใจ คือไทยแท้ หรือวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไม่วิตกกังวลกับอนาคตมากนัก เป็นต้น

ถ้าเราจะก้าวไปสู่ความฝันของประเทศไทย วัฒนธรรมเหล่านี้คงเป็นอุปสรรค แต่ก็แก้ไขไม่ง่ายนัก เพราะการรณรงค์เรื่องง่ายๆอย่าง “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หรือ “เคารพสัญญาณไฟจราจร” เราก็ยังทำไม่ได้ผลสักเท่าใด แล้วประสาอะไร กับเรื่องที่เป็นอุปสรรคมากกว่านั้น เช่นวัฒนธรรม “เงินทอน” หรือ “ซื้อสิทธิขายเสียง” เป็นต้น

ก็วัฒนธรรมอย่างการซื้อสิทธิขายเสียงนั้น มันฝังรากลึก และมีให้เห็นในการเลือกตั้งทุกครั้งอยู่แล้ว รับรองว่าครั้งหน้าก็ยังเหมือนเดิม....เชื่อขนมกินได้เลย

แต่ต้องไม่ใช่ขนม ที่เสริฟด้วยรองเท้านะครับ