ธนาคารญี่ปุ่น: เมื่อยามต้องปรับตัว

ธนาคารญี่ปุ่น: เมื่อยามต้องปรับตัว

ก่อนหน้านี้ได้เล่าสู่กันฟังถึงญี่ปุ่น กับความเป็นสังคมรักเงินสด ซึ่งความน่าสนใจของการรักเงินสด มิได้มีเพียงแค่นั้น

ญี่ปุ่นยังมีแง่มุมอื่นๆที่น่าสนใจอีก นอกเหนือจากร้านดองกี้ มัตซึโมโตะ บิคคาเมร่า โตเกียวแฮนด์ ที่คนไทยรู้จักกันดี

ญี่ปุ่นมีพื้นที่น้อยกว่าประเทศไทยประมาณ 30% แต่มีประชากรมากกว่าประเทศไทยเกือบ 2 เท่า ซึ่งการที่มีประชากรมากกว่า จึงเป็นเหตุให้มีจำนวนธนาคารมากกว่าด้วย  

ในปี 2017 ญี่ปุ่นมีจำนวนธนาคาร (ไม่รวมธนาคารของรัฐ) มากถึง 254 แห่ง เทียบกับประเทศไทยที่มีเพียง 31 แห่ง และหากมาดูจำนวนสาขาจะตะลึงตะลานใจยิ่งขึ้น โดยญี่ปุ่นมีจำนวนสาขาธนาคารมากถึงประมาณ 13,500 สาขา หรือ ประมาณ 34.14 สาขาต่อประชากรวัยผู้ใหญ่ 100,000 คน เทียบกับประเทศไทยที่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 12.54 คนเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือมีสัดส่วนสาขาต่อประชากรมากกว่าไทยถึงเกือบ 3 เท่า!

ธนาคารของญี่ปุ่นต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับจำนวนสาขา และตู้ ATM แต่ปัญหาที่สำคัญของญี่ปุ่นคือ จำนวนคนญี่ปุ่นมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ เพราะสัดส่วนประชากรสูงอายุที่มากถึง 1 ใน 4 ของประชากร (มีไทยติดตามมาแบบไม่ห่างนัก โดยในปี 2565 ไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่จะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ ด้วยประชากรสูงอายุมากถึง 1 ใน 7 ของจำนวนประชากร และเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่เร็วกว่าประเทศจีน!)

โดยผู้ที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นจะพบว่า ร้านรวง โรงแรม ร้านอาหารจะใช้คนค่อนข้างมากในการให้บริการด้วยวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความละเอียดปราณีต ธนาคารญี่ปุ่นก็เช่นกัน โดยธนาคารมิตซูโฮ หนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นมีจำนวนพนักงานประจำกว่า 30,000 คน ในขณะที่ธนาคารญี่ปุ่นทั้งระบบมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets) ณ มีนาคม 2560 ต่ำมากเพียง 0.3% เท่านั้น เทียบกับธนาคารในสหรัฐฯที่ 1% และไทยที่ 1.15%

ไม่เพียงเท่านั้น การเข้ามาในญี่ปุ่นของบริษัท Ant Financial ของกลุ่มอาลีบาบา และความต้องการขยายธุรกิจของ Line จากการรับส่งข้อความ และสติ๊กเกอร์ มาสู่ธุรกิจชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนในลักษณะเดียวกันกับ Alipay และ WeChat Pay ทำให้ธนาคารญี่ปุ่นต้องปรับตัวขนานใหญ่

โดยธนาคารโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ธนาคารที่เรียกได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่ดีที่สุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เมื่อปลายปีที่แล้วได้ประกาศแผนลดพนักงานลงถึง 9,500 ตำแหน่ง ภายในปี 2566 และเปลี่ยนสาขาจำนวนประมาณ 120 สาขา จากสาขาทั้งหมด 800 สาขา ไปเป็นเครื่อง ATM หรือโทรศัพท์เห็นหน้า

ในขณะที่ธนาคารมิตซูโฮ ก็ประกาศลดพนักงาน 19,000 ตำแหน่งภายใน 10 ปีข้างหน้า และปิดสาขาลง 100 สาขา โดยอีกประมาณ 400 สาขาจากทั้งหมด 800 สาขาจะปรับขนาดให้เล็กลง และใช้พนักงานน้อยลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นตำรับ “การจ้างงานตลอดชีพ” ก็ยังไม่กล้าใช้วิธีไล่พนักงานออกตรงๆเหมือนธนาคารฝรั่ง แต่ใช้วิธีละมุนละม่อมกว่า ด้วยการหยุดรับพนักงานทดแทนในตำแหน่งงานเดิม และเพิ่มตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเงินลงทุน และดิจิตัลแบงกิ้ง รวมถึงโยกย้ายพนักงานไปให้คำปรึกษาด้านการลงทุนแทน

ผู้เขียนได้มีโอกาสสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการปรับตัวให้เป็น Fintech ของธนาคารญี่ปุ่นขนาดใหญ่ จากผู้บริหารระดับสูงของ Mitzuho-DL Financial Technology ได้คำตอบที่น่าสนใจว่า วัฒนธรรมสำหรับการธนาคารญี่ปุ่น คือ “ห้ามผิด” จะมาลองผิดลองถูกไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมของธุรกิจที่อาศัยความคิดแปลกใหม่อย่าง Start-up โดยสิ้นเชิง ทำให้บุคลากรเดิมปรับตัวได้ยาก

นอกจากนั้นแล้วฐานข้อมูลของธนาคารขนาดใหญ่ก็ถูกเก็บมาเนิ่นนาน ในรูปแบบของเทคโนโลยีดั้งเดิม ซึ่งแตกต่างจากบริษัทรุ่นใหม่ที่สามารถเลือกจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่ตนเองต้องการได้ ไม่ต้องเสียเวลาทำความสะอาดฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลดังเช่นที่ธนาคารขนาดใหญ่จำเป็นต้องทำ

นิตยสาร Economist ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่าไทยกำลังเดินตามรอยเท้าประเทศญี่ปุ่น สถาบันการเงินไทยก็หนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวเช่นกัน แต่จะเร็วเพียงพอหรือไม่ คำตอบคงจะเห็นได้ในอีกไม่ช้า