เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

ประเทศไทยวันนี้กำลังอยู่ในช่วงสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในปี 2560 เรามีผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ 10.2 ล้านคน

จากประชากรทั้งหมด 66.1 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 15.4% และทางสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือจะมีปริมาณผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด และสัดส่วนนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป จึงส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคโดยรวมเปลี่ยนตาม ซึ่งทั้งในมุมมองของการเป็นผู้บริโภคเอง หรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเข้าใจโครงสร้างนี้เพื่อรับมือกับเทรนด์ที่เปลี่ยนไปหลักๆ 3 ประการ

รับมือกับอาหารและยา

ผู้สูงอายุมีแนวโน้มต้องการที่จะบริโภคอาหารธรรมชาติปลอดสาร หรือออร์แกนิก อย่างไรก็ตามผักออร์แกนิกที่ได้รับมาตรฐานในประเทศไทยถูกพบว่ามีสารพิษตกค้างมากถึง 50% จากปริมาณตัวอย่างทั้งหมดจากการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และมีอาหารมากถึง 9% ที่กล่าวอ้างว่าเป็นอาหารออร์แกนิคโดยที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าออร์แกนิคแต่อย่างใด

 ในส่วนของยารักษาโรคต่างๆ นั้น สิ่งที่สำคัญคือคุณภาพของวัตถุดิบและสารควบคุมที่ใช้ในการผลิตยา รวมถึงการตรวจสอบสารตกค้างในกระบวนการผลิตยา นอกจากนี้ยังมีรายงานจาก World Health Organization (WHO) ออกมาว่าในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย-ปานกลางนั้น มียาที่ไม่ได้คุณภาพรวมถึงยาปลอมอยู่ในท้องตลาดถึง 10%

 ดังนั้นการเก็บข้อมูลวัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป การกระจายสินค้า และสถานที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อย่างโปร่งใส เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้โดยตัวของลูกค้าเอง หรือหน่วยงานรัฐและหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานต่างๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตจะใช้ในการพิจารณาซื้ออาหารและยาต่างๆ ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งธุรกิจด้านอาหารและยาได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) รวมถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีจุดเด่นด้านความโปร่งใสของข้อมูล และการสอบกลับได้ (Traceability) ของข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

รับมือกับการดูแลและรักษาพยาบาล

การดูแลและรักษาพยาบาลผู้สูงอายุซึ่งนอกจากท่านจะต้องการความสะดวกสบายแล้ว เราจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง (Monitoring) และมีข้อมูลที่ใช้ประกอบการดูแลรักษาอย่างครบถ้วน แต่ปัญหาหลักในปัจจุบันคือการไม่เชื่อมต่อกันของประวัติการรักษาพยาบาลของคนไข้ และการที่ข้อมูลด้านการสุขภาพและการรักษาเป็นข้อมูลที่ลำดับขั้นของการเปลี่ยนแปลง (Stages of Change) มีความสำคัญ  ซึ่งตลอดชีวิตของเรามีการย้ายการรักษาจากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่ง จากคุณหมอท่านหนึ่งไปยังคุณหมอท่านอื่นกันอยู่ตลอดเวลา

การย้ายดังกล่าวอาจเกิดจากการย้ายพื้นที่อยู่อาศัย ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันของผู้รักษา หรือการรักษาเร่งด่วนที่ต้องทำใกล้จุดที่เกิดอุบัติเหตุเป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วยข้อมูลประวัติคนไข้ที่มีจำกัดก็ย่อมทำให้กระบวนการรักษามีข้อจำกัด ส่งผลถึงประสิทธิภาพของการรักษาและค่าใช้จ่ายในการรักษาตามมาด้วย

 เทคโนโลยีด้าน Big Data และ Blockchain ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะนำมาใช้ให้การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้น ในขณะที่ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลคนไข้ก็สามารถได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีด้วย

รับมือกับการเงิน

ปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญขณะนี้ก็คือ ผู้สูงอายุของเราส่วนใหญ่ออมเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งผลการสำรวจจากหลายแหล่งแสดงตัวเลขตั้งแต่ 60-90% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ปริมาณการรับความเสี่ยงในการลงทุนก็ลดลงตามไปด้วย จึงทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเก็บเงินในรูปแบบของเงินฝากธนาคารเป็นหลัก ซึ่งเงินฝากธนาคารเหล่านี้มีมูลค่าลดลงไปเรื่อยๆ จากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในส่วนของรายรับ ผู้สูงอายุเหล่านั้นพึ่งพาเงินจากลูกหลานเป็นหลัก และยิ่งค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ยา การดูแล และการรักษาพยาบาลในข้อที่กล่าวมาแล้วสูงขึ้นสวนทางกับรายรับ

เทคโนโลยีทางด้านการเงิน หรือ Fintech เป็นทางหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยแนะนำการบริหารเงินในวัยเกษียณ การลงทุนในสินทรัพย์ตามความเสี่ยงที่เหมาะสมกับสถานะของผู้สูงอายุแต่ละท่าน เช่น กองทุนรวม ตราสารหนี้ หรือหุ้น เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากผู้สูงอายุสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุนได้ นั่นหมายความว่าโอกาสที่ผู้สูงอายุจะมีเงินออมเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละปีก็ดีขึ้นตามไปด้วย

การมาของสังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่มีผลกระทบเศรษฐกิจ และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่กำลังจะเกิดขึ้นแน่นอน จึงควรมีการวางแผนอย่างดีทั้งในส่วนของตัวเราเอง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันนะครับ