ตามทันความผันผวนของเศรษฐกิจการเมืองโลก

ตามทันความผันผวนของเศรษฐกิจการเมืองโลก

สำหรับทิศทางในระยะสั้นของเศรษฐกิจโลกนั้น เชื่อว่านักธุรกิจและนักลงทุนทั่วไป น่าจะมีภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการขยายตัวที่ต่อเนื่อง

สำหรับปีนี้ถึงปีหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่แม้จะปรับลดการคาดการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงปี ค.ศ. 2018 ถึง 2019 เป็น 3.7% หรือลดลงประมาณ 0.2%  จากการคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาก็ตาม เพราะมีปัจจัยเสี่ยงในเชิงลบที่เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา และแนวโน้มทิศทางการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐ และสัญญาณเชิงลบเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศหรือกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่

แต่ปัญหาที่น่ากังวลใจและคาดการณ์ได้ยากกว่ามาก ก็คือความผันผวนของเศรษฐกิจการเมืองโลกในระยะยาว ซึ่งเหล่าประเทศเล็ก ๆ ทั้งหลายโดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชียคงหนีไม่พ้นต้องถูกกระทบจากการเปลี่ยนแลงเหล่านี้ จึงมักหาทางลดความเสี่ยงจากผลกระทบทางด้านลบเหล่านี้ด้วยการกำหนดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของตนให้สอดคล้องผูกโยงกับทิศทางของผลแพ้ชนะในการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ผู้นำทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันคือ สหรัฐกับผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำในอนาคตคือ จีนนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นชัด ก็คือกรณีของประเทศจีนที่ดำเนินยุทธศาสตร์ The Belt & Road Initiative (BRI) ที่เป็นประเด็นร้อนของกลุ่มเศรษฐกิจในประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียและใกล้เคียง และกรณีล่าสุดที่ทวีความเข้มข้นตามลำดับก็คือ กรณีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งกรณีเหล่านี้ได้นำไปสู่โจทย์สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการตั้งรับของประเทศที่มีขนาดเล็กทางเศรษฐกิจทั้งหลายว่า ตนเองจะฝ่าฟันคลื่นลมความผันผวนทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกเหล่านี้เพื่อความอยู่รอดและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของตนเองได้อย่างไร ซึ่งคำตอบสุดท้ายที่ประเทศเล็ก ๆ เหล่านี้จะสรุปได้ ก็คงหนีไม่พ้นเหตุผลความเชื่อของประเทศเหล่านี้เองว่าจะเลือกฟันธงว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายชนะในที่สุดนั่นเอง

ที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากพูดถึงจุดแข็งของประเทศจีนและจุดอ่อนของประเทศสหรัฐในเชิงเศรษฐกิจการเมือง เหตุผลสำคัญก็น่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนได้ทำให้เกิดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงติดต่อกันหลายปี ในอดีตแม้ในช่วงระหว่างที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยก็ตาม ซึ่งนอกจากจะทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่มุ่งเน้นการส่งออกก็ยังสามารถช่วยลดจำนวนคนยากจนในประเทศให้ลดลงได้อย่างมากด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถดำเนินไปได้ภายใต้ระบบของรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จะมีความมั่นใจในระบบดังกล่าวนี้จนนำไปสู่แนวคิด Belt & Road Initiative (BRI) ที่ประกอบด้วยโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยรวมเอาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจขนาดใหญ่จำนวนถึงหกระเบียงเศรษฐกิจรอบ ๆ ประเทศจีน และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงประเทศจีน กับเอเชียกลาง เอเชียใต้ ยุโรป และมหาสมุทรทั้งสอง ซึ่งถือเป็นหลักแนวคิดการจัดการกับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์สมัยใหม่ของจีนในขณะนี้ แต่หากเราย้อนกลับไปศึกษาจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกในอดีต ก็จะพบถึงปัญหาสำคัญใหญ่ ๆ อย่างน้อยสองประการของแนวคิดในลักษณะนี้ ซึ่งได้แก่ ปัญหาข้อจำกัดเชิงเศรษฐกิจ และปัญหาข้อจำกัดเชิงการเมือง นั่นเอง

ข้อจำกัดเชิงเศรษฐกิจของโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ ที่จีนคาดหวังว่าจะสามารถดำเนินการโดยผ่านการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในเส้นทางตามแผน BRI โดยอาศัยโครงการเงินกู้ในรูปของการให้ความช่วยเหลือจากจีน อย่างไรก็ตามเป้าหมายสุดท้ายของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมจาก BRI ก็ยังดูเหมือนว่าจะอิงกับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเชื่อมโยงตลาดจีนกับตลาดยุโรปเป็นสำคัญ มากกว่าที่จะยึดถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงภายในกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งหลายว่าจะได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะใช้เลี้ยงดูระบบเศรษฐกิจของ BRI ด้วยกันเองหรือไม่ จึงทำให้มีโอกาสที่จะนำไปสู่ปัญหาการลงทุนแบบถมไม่เต็มมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งกรณีนี้ ก็อาจเทียบเคียงได้กับกรณีของโปรตุเกสในอดีตสมัยยุคโลกาภิวัตน์ครั้งที่หนึ่งที่โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรก ที่พบเส้นทางเดินเรือเข้ามาสร้างอิทธิพลในแถบเอเชีย แต่เนื่องจากว่า พยายามที่จะควบคุมระบบการค้าของภูมิภาคนี้มากจนเกินกำลังทางเศรษฐกิจและกำลังทางทหารของตนเอง ในที่สุดก็ต้องประสบกับปัญหาการลงทุนแบบถมไม่เต็ม ซึ่งผิดกับกรณีของชาวดัตช์ที่เข้ามาทีหลังแต่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบการค้าที่มีอยู่แล้วในเอเชียเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองให้ได้มากที่สุด จนชาติดัตช์สามารถทำกำไรได้อย่างมากและสร้างระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้สำเร็จจากเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรป นั่นเอง

สำหรับข้อจำกัดในเชิงการเมืองนั้น แม้ว่ารัฐบาลของสีจิ้นผิงจะได้ประโยชน์จากระบบการเมืองที่มีความมั่นคงและมีอำนาจที่เบ็ดเสร็จก็ตาม แต่อำนาจที่เบ็ดเสร็จนี้ ก็จะนำไปสู่ปัญหาการคอรัปชั่นในระบบราชการที่จะบั่นทอนตัวระบบเองได้ในที่สุดเช่นกัน แม้จะมีมาตรการจัดการปัญหาคอรัปชั่นที่เด็ดขาดก็ตาม แต่มักจะมีผลในลักษณะของการเชือดไก่ให้ลิงดูเท่านั้น หรือไม่ก็มักจะกลายเป็นมาตรการในการตัดทอนกำลังของคู่แข่งทางการเมืองมากกว่า เพราะตราบใดที่ประชาชนจีนเองยังไม่กล้าร่วมมือกับรัฐในการแจ้งข่าวเบาะแสการคอรัปชั่นเนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลผู้มีอำนาจ ปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไขที่ต้นเหตุอยู่ดี นอกจากนี้ ผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็ย่อมจะมีส่วนในการสั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับจีนได้ในที่สุด

ดังนั้น ที่เชื่อกันว่าความมั่นคงทางการเมืองและการมีอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลสีจินผิงจะเป็นข้อได้เปรียบของจีนในเรื่องการดำเนินเศรษฐกิจเชิงรุกนั้น ก็อาจไม่จริงเสมอไป ซึ่งก็จะมีนัยยะที่สำคัญต่อการตัดสินใจของประเทศเล็กๆ ในการเลือกผู้ชนะที่ถูกต้องได้เช่นกัน