ประมงไฮเทค (จบ)

ประมงไฮเทค (จบ)

นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยเปลี่ยนซัพพลายเชน

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีอันเชี่ยวกราก แต่ดูเหมือนชาวประมงในอำเภอยามะกุจิ จังหวัดฮากิ ประเทศญี่ปุ่นจะไม่ได้อานิสงส์ใด ๆ จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะรายได้ของพวกเขาก็ยังตกต่ำเหมือนเคย หนำซ้ำคนหนุ่มสาวที่ถือเป็นกำลังสำคัญก็หนีไปทำงานในเมืองใหญ่ ๆ กันหมด

มาถึง “ชิกะ ซึโบจิ” ซึ่งเป็นผู้ช่วยของพนักงานท่องเที่ยวประจำจังหวัด ซึ่งมีพื้นเพร่ำเรียนมาจากออสเตรเลีย มีโอกาสได้คุยกับชาวประมงเหล่านี้ ก็แปลกใจถึงความยากลำบากของชาวประมงท้องถิ่นที่มีรายได้ตกต่ำตลอด แม้ว่า ราคาปลาดิบตามภัตตาคารต่าง ๆ จะเพิ่มสูงขึ้นตลอดก็ตาม เพราะซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมประมงดูจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทำให้ราคาปลาที่ถูกส่งไปถึงปลายทางคือซุปเปอร์มาร์เก็ต และภัตตาคารมีราคาสูงขึ้นทำให้พ่อค้าคนกลางรวยขึ้น ทั้งยี่ปั๊ว ซาปั๊ว แต่ชาวประมงกลับมีรายได้เท่าเดิมหรือตกต่ำลงด้วยซ้ำ

ความกดดันดังกล่าวส่งผลให้ชาวประมงจำนวนหนึ่งที่เชื่อมั่นในตัวซึโบจิรวบรวมเงินราว 30,000 เยน ว่าจ้างให้เธอเป็นผู้วางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งแม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ก็มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับชาวประมงในหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึโบจิจึงตกลงรับงานดังกล่าวทันที ​ซึโบจิเริ่มงานโดยเรียนรู้ระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมประมงกับกระทรวงเกษตรป่าไม้และการประมงซึ่งทำให้เธอได้รู้ว่า ทางกรมมีการสนับสนุนและส่งเสริมกิจการประมงท้องถิ่น หากมีแผนธุรกิจที่สร้างสรรค์ สามารถทำได้จริง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประมงพื้นบ้านได้

​เธอจึงจัดตั้งบริษัท Ghibli ขึ้นเพื่อสานความตั้งใจดังกล่าว โดยเบื้องต้นมีชาวประมงเข้าร่วมกลุ่มกับ Ghibli เพื่อหาทางเข้าถึงตลาดปลายทางคือภัตตาคารและผู้ซื้อโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง ​เช่น การใช้ไลน์ถ่ายทอดสดการจับปลาแต่ละตัว ซึ่งทำให้เห็นว่าเที่ยวนั้นสามารถจับปลาอะไรได้บ้าง และมีขนาดเท่าไร ภัตตาคารต่าง ๆ จึงเลือกจองปลาได้ตามต้องการผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้ชาวประมงขายปลาได้หมดตั้งแต่เรือยังไม่เข้าถึงฝั่งด้วยซ้ำ ​

เนื่องจาก ซัพพลายเชนแบบเดิม ปลาแต่ละตัวกว่าจะเดินทางถึงภัตตาคารได้ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายทอด ซึ่งไม่ได้ส่งผลเฉพาะราคาที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ระยะเวลาในการเดินทางจากท่าเรือมายังภัตตาคารหรือซุปเปอร์มาเก็ตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยจะทำให้ซัพพลายเชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 

อย่าลืมว่าชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคปลาดิบซึ่งต้องการความสด การส่งตรงจากท่าเรือไปยังลูกค้าปลายทาง จึงรับประกันได้ว่าผู้ซื้อจะได้ปลาที่สดที่สุด และส่งถึงปลายทางอย่างรวดเร็วที่สุด ทุกฝ่ายจึงได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน ส่วนพ่อค้าคนกลางที่เป็นสาเหตุให้ราคาปลาเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ชาวประมงไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ หายไปทันที

​Ghibli ภายใต้การบริหารงานของซึโบจิจึงได้รับการชื่นชมจากรัฐบาล และถือเป็นกรณีศึกษาของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อคนในท้องถิ่น แต่ความสำเร็จของซึโบจินั้นไม่ง่ายเลย เพราะเธอต้องผ่านการดูถูกดูแคลนจากผู้คนรอบข้างในฐานะคนนอกที่ไม่มีประสบการณ์ในการอุตสาหกรรมประมงมาก่อน

แต่การทำงานหนัก และทุ่มเทเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้หมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ที่ไว้วางใจเธอให้ขึ้นมาวางกลยุทธ์เพื่อหาทางออกให้กับทุกคนจึงสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ วิกฤตการณ์ของชาวประมงในยามะกุจิจึงสร้างโอกาสให้ซึโบจิได้ความสำเร็จที่น่าชื่นชมในที่สุด