‘คอมพิวเตอร์ วิชั่น' เทคโนฯขับเคลื่อนอนาคต

‘คอมพิวเตอร์ วิชั่น' เทคโนฯขับเคลื่อนอนาคต

วันหนึ่งเอไอและคอมพิวเตอร์วิชั่นจะไม่ใช่คำที่ไกลตัวอีกต่อไป

คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทสำคัญและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในการดำเนินงานของภาครัฐ เอกชน หรือเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน โดยในช่วงหลายปีมานี้ วงการวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเสริมการทำงานของคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

หนึ่งในเทคโนโลยีเอไอที่น่าจับตามองมากที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้น “คอมพิวเตอร์ วิชั่น (Computer Vision)” ที่ช่วยยกระดับการทำงานให้คอมพิวเตอร์สามารถมองเห็นและแยกแยะวัตถุได้เหมือนสายตามนุษย์ รวมถึงความสามารถในการดึงข้อมูลและประมวลผลจากภาพที่เห็นได้อีกด้วย ซึ่งในต่างประเทศได้มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมและได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในสหรัฐและจีนที่นำมาใช้สร้างประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบตัวอย่างเช่น

1.ความมั่นคงและความปลอดภัย(Security) หากพูดถึงกระบวนการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล(identification) ด้วยการตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนหรือพาสปอร์ต ซึ่งส่วนมากเป็นกระบวนการที่ทำโดยมนุษย์ที่บางครั้งก็อาจเกิดความผิดพลาด(error) จากความไม่แม่นยำหรือ bias ขึ้นได้ คอมพิวเตอร์วิชั่นสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มความแม่นยำและรวดเร็วในแต่ละขั้นตอนมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้กล้องตรวจจับใบหน้าผู้โดยสารในสนามบิน การตรวจสอบและยืนยันตัวตนเพื่อการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือเพื่อบันทึกการเข้าทำงานของพนักงาน ตลอดจนใช้เพื่อตรวจจับวัตถุต่างๆ เช่น ป้ายทะเบียนรถ ยี่ห้อ สี หรือรุ่นของรถยนต์ เป็นต้น

2.การสืบสวนสอบสวน(Investigation) สำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความแม่นยำในการวิเคราะห์สถานการณ์ คอมพิวเตอร์วิชั่นก็สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลได้ เช่น การตรวจสอบลายนิ้วมือและอาวุธที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ รวมถึงสามารถใช้เพื่อระบุตัวคนร้ายจากกล้องที่บันทึกภาพไว้ได้ในระยะเวลาที่สั้นลง

3.ธุรกิจและอุตสาหกรรม(Business and Industry) ผู้ประกอบการสามารถนำคอมพิวเตอร์วิชั่นมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า(Customer Relationship Management ; CRM) และกระบวนการรู้จักลูกค้า(Know Your Customer ; KYC) เช่น ระบบจดจำใบหน้าลูกค้าวีไอพี การติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าภายในร้าน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดต้นทุนด้านเวลาและทรัพยากรคน โดยสามารถนำมาใช้ตรวจนับสินค้า แบ่งชนิดหรือจำแนกวัสดุ และตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ในสถานประกอบการ เป็นต้น

4.วงการแพทย์และการให้บริการด้านสุขภาพ(Medical and Healthcare Services) การนำคอมพิวเตอร์วิชั่นมาใช้สามารถช่วยคัดกรองกลุ่มอาการของผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้เอไอเพื่อช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนังและมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมด้านการบริการของธุรกิจสุขภาพ เช่น การติดตั้งกล้องภายในบ้านของผู้ป่วยเพื่อช่วยสอดส่องความเป็นอยู่และติดตามรูปแบบพฤติกรรม รวมถึงคาดการณ์อาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้น เช่น การหมดสติ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการสูญเสีย รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งของผู้ป่วยและโรงพยาบาลได้อีกด้วย

แม้ว่าเทคโนโลยีเอไอจะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากมาย แต่ก็มีความจำเป็นที่มนุษย์และเอไอยังต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ถึงแม้ว่าเอไอจะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีความเที่ยงตรงสูง และทำงานได้โดยไม่ต้องหยุดพัก แต่มนุษย์ก็ยังต้องทำหน้าที่คอยตรวจสอบการทำงานของเอไอเพื่อหาจุดบกพร่องและแก้ไขให้เกิดการเรียนรู้ ทำงานและประมวลผลในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดและขาดคนตรวจสอบ ก็อาจส่งผลให้เอไอคำนวณผิดต่อเนื่องจนกระทั่งลุกลามเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์มีความสามารถในการตัดสินใจในสิ่งที่ไม่เคยประสบมาก่อนได้ ซึ่งถือว่าเป็นขีดความสามารถที่การพัฒนาเอไอยังก้าวไปไม่ถึง

วันหนึ่งทั้งคำว่า “เทคโนโลยีเอไอ” และ ”คอมพิวเตอร์วิชั่น” จะไม่ใช่คำที่ไกลตัวอีกต่อไป ดังนั้นหากเราสามารถเรียนรู้และดึงเอาประโยชน์ของเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจและการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ได้ ก็จะสามารถส่งเสริมศักยภาพองค์กรให้พร้อมแข่งขันในยุคดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของทุกภาคส่วนสู่อนาคตที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญนั่นเอง