ว่าด้วยเรื่อง “ภัยพิบัติอินโด” และ “ครอบครัวใจบุญ”

ว่าด้วยเรื่อง “ภัยพิบัติอินโด” และ “ครอบครัวใจบุญ”

สวัสดีค่ะ ช่วงนี้หลายท่านคงได้ติดตามข่าวน่าเศร้าจากภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกเราอีกครั้ง

นั่นคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิพัดถล่มเมืองปาลู เกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ที่ปัจจุบันยอดผู้เสียชีวิตสูงนับพันราย

โดยเรื่องที่จะขอนำมาแชร์ในวันนี้คือ ธุรกิจครอบครัวรายใหญ่แห่งหนึ่งในอินโดนีเซียที่ยื่นมือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว นั่นคือ Sekar Group (เซการ์ กรุ๊ป) ที่ตั้งอยู่ในเมืองสุราบายา ซึ่งเป็นธุรกิจอาหารชั้นนำในอินโดนีเซียที่มีธุรกิจในเครือมากมายเกี่ยวกับอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูปภายใต้ชื่อแบรนด์ FINNA

โดย Sekar Group ได้ใช้เครือข่ายการขนส่งและกระจายสินค้าที่บริษัทมี เข้ามาช่วยในการขนส่งอาหาร ผ้าห่ม และเต๊นท์พักอาศัยเพื่อมอบให้แก่ผู้ประสบภัย

แผ่นดินไหวขนาด 7.5 และคลื่นสึนามิที่ตามมาได้ทำลายบ้านเรือนกว่า 66,000 หลังคาเรือน และทำให้คนกว่า 6 หมื่นคนในเมืองปาลูต้องไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ต่อเนื่องมาจากแผ่นดินไหวในเกาะลอมบอกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 600 ราย จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดคือสึนามิในครั้งนี้

เวบไซต์ CampdenFB ซึ่งเป็นนิตยสารออนไลน์เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวรายงานไว้ว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว Sekar Group และกลุ่มพันธมิตรได้ร่วมกันบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภค ประเภทข้าว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันสำหรับประกอบอาหาร น้ำดื่ม และเสื้อผ้า รวมเป็นมูลค่า 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 9.8 ล้านบาท และมีพนักงาน 50 คนที่ทำงานเต็มเวลาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งในจำนวนนี้มีพนักงานถึง 35 คนที่ต้องขับรถต่อเนื่องประมาณ 10-15 ชั่วโมง เพื่อนำอาหารและสิ่งของไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยในเมืองปาลูกว่า 350,000 ราย

ไรอัน ฟง จายา ผู้บริหารรุ่นที่สองของ Sekar Group เป็นแกนนำที่คอยประสานอยู่ที่กรุงจาการ์ตาในการให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากการเข้าถึงผู้ประสบภัยในเมืองปาลูนั้นทำได้อย่างจำกัดมากและต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของทางการทหารและหน่วยงานปกครองท้องถิ่นของอินโดนีเซีย

“เราได้ใช้เครือข่ายที่เรามีอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุลาเวสี ให้เป็นเหมือนศูนย์ปฏิบัติการของเรา ที่เอาไว้ลำเลียงสิ่งของที่เราบริจาคในนามกลุ่ม รวมถึงของบริจาคจากพันธมิตรรายอื่นๆ ไปไว้ที่นั่น จากนั้นเราก็ส่งรถบรรทุกขึ้นไปทางตอนกลางของเกาะสุลาเวสีเพื่อส่งมอบอาหาร”

สนามบินของเมืองปาลูก็ถูกปิด โดยเปิดให้เพียงเครื่องบินส่วนบุคคลหรือเครื่องบินของทางราชการเท่านั้นที่สามารถใช้ได้ และหลายบริเวณของเมืองถูกปิดเพื่อป้องกันการโจรกรรมหรือการปล้นที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ

“ระบบโครงสร้างและสาธารณูปโภคต่างๆ ของเมืองแทบจะพังไปหมดเลย สะพานหลักที่เชื่อมทั้งสองฝั่งของเมืองก็พังจนหมด ริมชายฝั่งนั้นเดิมเคยเป็นมัสยิดและมีโรงแรม 4 ดาว แต่ตอนนี้ถูกทำลายไปแล้ว รวมถึงบ้านเรือนอีกจำนวนมาก นี่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมากจริงๆ” เขากล่าว

สิ่งที่ Sekar Group ทำนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ส่งผ่านมาจากผู้ก่อตั้ง Sekar Group ที่ชื่อ แฮร์รี่ ซูซิโล” และในวันนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างให้แก่ธุรกิจครอบครัวในระดับนานาชาติ ให้กันมาให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย “เราต้องการทำให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญในระดับนานาชาติ ว่าความพยายามในการช่วยเหลือที่พวกเราสามารถทำได้คือการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ เพื่อฟื้นฟูเมืองขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งนี่คือวัฒนธรรมที่กลุ่ม Sekar Group ของเรายึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่ลุงของผมต้องการที่จะส่งต่อให้กับลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปมากที่สุดคือการเชื่อในคุณค่าของการมีจริยธรรม มากกว่าที่จะยึดถือเพียงตัวเงินอย่างเดียว” เขากล่าว

ย้อนกลับไปสมัยปี 1966 (พ.ศ. 2509) แฮร์รี่ ซูซิโล ที่ก่อนหน้านั้นเป็นชาวประมง ได้เริ่มทำธุรกิจเป็นครั้งแรกในวัย 25 ปี หลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองแตก ทำให้บุตรคนโตอย่างเขาต้องช่วยหาเงินเลี้ยงครอบครัวที่ประกอบด้วยแม่และพี่น้องอีก 11 ชีวิต วันนี้ Sekar Group มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน และมีการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 400,000 คนจากสหกรณ์ที่ แฮร์รี่ ซูซิโล ช่วยก่อตั้งขึ้น

จากรายงาน Global Family Office Report 2018 โดย UBS และ Campden Wealth วาณิชธนกิจชั้นนำของโลก ระบุว่าครอบครัวที่มีความมั่งคั่งสูงทั่วโลกนั้นได้บริจาคหรือสนับสนุนการกุศลมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 5 ล้านเหรียญในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยหลักเป็นความช่วยเหลือในด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม

เป็นค่านิยมที่น่าชื่นชมและน่าสนับสนุนให้มี ครอบครัวใจบุญแบบนี้เยอะๆ สังคมโลกเราค่ะ