หุ้นตก

หุ้นตก

มื่อสัปดาห์ก่อนดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์คตกลงมาแรงกว่า 3% ในวันเดียว

การตกลงมาถึง 3% นั้นต้องถือว่าเป็นการตกที่ค่อนข้างแรงเนื่องจากตลาดหุ้นนิวยอร์คนั้นมีขนาดใหญ่มากและความผันผวนของราคาหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยมักจะไม่เกิน 1% ทั้งทางขึ้นและทางลง นั่นทำให้เกิดความวิตกว่าตลาดหุ้นที่ขึ้นมาแรงอย่างต่อเนื่องและยาวนานมากนับตั้งแต่วิกฤติปี 2008 อาจจะถึงจุดสุดยอดแล้วและหลังจากนี้ก็จะกลับตัวกลายเป็น “ขาลง” ที่รุนแรงและต่อเนื่องไปอาจจะเป็นปีหรือหลายปีอย่างที่เกิดขึ้นเสมอในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ “ผู้เชี่ยวชาญ” หลายคนก็ทำนายว่าตลาดหุ้นอเมริกานั้นถึงจุดที่จะต้องปรับตัวลง “อย่างแรง” มานานก่อนหน้านี้แล้ว พวกเขาบอกว่า “เครื่องชี้” ทุกอย่างบอกว่าหุ้นอเมริกานั้นร้อนแรงหรือแพงเกินไป ปัจจัยมหภาคทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์มานานนั้น บัดนี้กำลังทยอยปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการว่างงานที่เคยสูงจากช่วงภาวะวิกฤตินั้นลดลงจนต่ำมากเป็นประวัติการณ์รวมถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นขาขึ้นอย่างรวดเร็ว และนั่นจะทำให้หุ้นตกลงมาแรงในระดับ “น้อง ๆ วิกฤติ” บางคนบอกว่าจะเป็น “หายนะ”

ตลาดหุ้นทั่วโลกดูเหมือนว่าจะตกตามดาวโจนส์ หลายแห่งตกรุนแรงกว่า แต่ตลาดหุ้นไทยกลับตกลงมาน้อยกว่าเพียง 2% เศษ ๆ ผลจากการที่มีแรงขายหุ้นจากนักลงทุนต่างประเทศและความ “ตกใจ” ของนักลงทุนในประเทศ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ภาวะตลาดหุ้นของแต่ละประเทศก็มีพฤติกรรมหรืออาการแบบเดียวกับตลาดหุ้นนิวยอร์คในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานับจากวิกฤติตลาดหุ้นในปี 2008 นั่นก็คือ ทุกประเทศต่างก็มีสภาพคล่องทางการเงินเหลือล้นอานิสงค์จากการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบและเงินที่ไหลบ่าไปทั่วโลกจากการอัดฉีดนั้นซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ยาวนาน เฉพาะอย่างยิ่งอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ของไทยนั้นตกลงมาเหลือต่ำกว่า 1% ต่อปีมาน่าจะเกือบ 10 ปีแล้วซึ่งก็ส่งผลให้หุ้นปรับตัวขึ้นมาตลอดกลายเป็นทศวรรษทองของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยซึ่งไม่ต่างจากตลาดหุ้นนิวยอร์ค

ดูจากตัวเลขย้อนหลังไปประมาณ 10 ปี ดัชนีดาวโจนส์เคยอยู่ที่ประมาณ 7,050 จุด ถึงวันนี้อยู่ที่ประมาณ 25,300 จุด คิดแล้วเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นประมาณ 14.1% ต่อปี และถ้ารวมปันผลประมาณ 2% เศษ ๆ ก็จะเป็นผลตอบแทนต่อปีที่ประมาณ 16% ซึ่งน่าจะเป็นผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นอเมริกา เช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไป 10 ปีนั้น ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 400 จุด ในช่วงวิกฤติซับไพร์ม ถึงวันนี้ขึ้นมาเป็น 1,696 จุด คิดแล้วก็เท่ากับให้ผลตอบแทนประมาณ 15.7% เมื่อรวมกับปันผลอีกปีละ 3% เศษ ก็ให้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 18.7% ซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในช่วงหนึ่งทศวรรษเช่นเดียวกับตลาดหุ้นนิวยอร์ค

เมื่อมองถึงความถูกความแพง ค่า PE ของตลาดหุ้นนิวยอร์คเมื่อเร็ว ๆ นี้สูงถึง 22-23 เท่า ซึ่งก็ถือว่าแพงเพราะค่า PE เฉลี่ยระยะยาวในอดีตน่าจะประมาณ 16 เท่า ดังนั้น ค่า PE ปัจจุบันน่าจะสูงกว่าปกติถึง 40% แต่ก็เช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นไทยเองนั้น ค่า PE ปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณ 17-18 เท่า เมื่อเทียบกับ PE เฉลี่ยในอดีตที่ประมาณ 12-13 เท่า ก็ดูเหมือนว่าหุ้นไทยในปัจจุบันก็แพงไปประมาณ 40% เหมือนกัน

มองดูเรื่องผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนนั้น ดูเหมือนว่าบริษัทของอเมริกาน่าจะดีขึ้นมากอานิสงค์จากการลดภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ อย่างไรก็ตาม “สงครามการค้า” ระหว่างอเมริกากับจีนก็อาจจะทำให้บริษัทหลายแห่งประสบกับปัญหาและทำให้ผลประกอบการถูกกระทบได้ในอนาคต ในกรณีของไทยเองนั้นก็ดูเหมือนว่าบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่น่าจะมีผลประกอบการดีพอใช้และในอนาคตอันใกล้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีประเด็นอะไรน่าห่วงมากนัก สงครามการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นก็ดูเหมือนว่าไม่น่าจะส่งผลอะไรให้กับไทยมากนักเนื่องจากไทยมีคู่ค้าค่อนข้างกระจายไปทั่วโลกค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของบริษัทไทยในระยะยาวแล้วน่าจะน่าห่วงกว่าของอเมริกา เหตุเพราะว่าบริษัทใหญ่ ๆ ในไทยนั้นมักจะเป็นผู้ผลิตหรือให้บริการในโลกยุคเก่าที่มีความเสี่ยงจะถูก Disrupt หรือไม่โตในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ของอเมริกานั้นต่างก็เป็นบริษัทยุคใหม่ที่น่าจะยังมีโอกาสโตต่อไปได้อีกนาน

มองจากประเด็นทั้งหมดแล้ว ถ้าจะถามว่าระหว่างตลาดหุ้นอเมริกากับตลาดหุ้นไทยนั้น ใครจะมีโอกาสที่ดัชนีหุ้นตกลงมาแรงหรือมากกว่ากันในกรณีที่หุ้นทั่วโลกเกิดการปรับตัวลงหลังจากที่ได้ปรับตัวขึ้นมายาวนานต่อเนื่องมาประมาณ 10 ปีและถือเป็นช่วง “ยุคทองของการลงทุน” หรือ “ทศวรรษทองของการลงทุน” ในตลาดหุ้น “ของโลก” คำตอบของผมก็คือ “ไม่รู้” สิ่งที่ผมคิดว่ากล้าพูดก็คือ ถ้าจะเกิดวิกฤติหรือเกิด Panic คือหุ้นตกลงมารุนแรงนั้นมันน่าจะเริ่มจากตลาดนิวยอร์คก่อน ตลาดหุ้นไทยน่าจะเป็น “ผู้ตาม” ผมคิดว่าเป็นไปได้ที่ตลาดนิวยอร์คจะตกลงมาอย่างหนักและทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยตกตาม และการตกตามของไทยนั้นก็อาจจะเป็นการตกตามที่รุนแรงไม่แพ้ตลาดหุ้นนิวยอร์คซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งรวมถึงการตกในช่วงซับไพร์มด้วย เหตุผลก็คงเป็นเพราะเราเป็นตลาดหุ้นที่มีขนาดเล็กในขณะที่มีนักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้นอยู่จำนวนมากถึงเกือบ 30% การ “ทุ่มขาย” ของนักลงทุนต่างชาติในยามที่เกิดแพนิกนั้นสามารถทำให้หุ้นตกลงมาแรงมากได้โดยไม่ได้เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการหรือของหุ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ๆ นี้ดูเหมือนว่านักลงทุนไทยจะมีเงินและพร้อมที่จะซื้อหุ้นที่ตกลงมามากขึ้น ๆ ว่าที่จริงนักลงทุนสถาบันของไทยในระยะหลังดูเหมือนว่าจะมีบทบาทสูงกว่านักลงทุนต่างประเทศในด้านของการชี้นำดัชนีหุ้นแล้ว

โอกาสที่ตลาดหุ้นนิวยอร์คจะตกลงมาแรงต่อไปอีกนั้นมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน? นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะถ้าเรารู้ เราอาจจะปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์แบบนั้นได้ดีขึ้น สำหรับผมแล้ว โอกาสที่หุ้นจะตกแรงคงมีสูงกว่าโอกาสที่หุ้นจะขึ้นแรง และแม้ว่าเหตุผลทางด้านพื้นฐานของเศรษฐกิจและของบริษัทจดทะเบียนอาจจะยังไม่บอกว่าหุ้นน่าจะแย่แต่ถ้ามองทางด้านประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นที่บอกว่าตลาดมักจะไม่ “ดีติดต่อกันนานมาก” และมักจะต้องปรับตัวลงเป็นระยะเพื่อที่ว่าผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นไม่ควรจะสูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน ถ้าหุ้นดีติดต่อกันมานาน ในที่สุดแล้วหุ้นก็จะต้องปรับตัวลง ประวัติศาสตร์บอกเราด้วยว่าการปรับตัวลงอาจจะแรงและใช้เวลาเร็วมากแบบ “แพนิก” หรืออาจจะค่อย ๆ ปรับตัวลงอย่างช้า ๆ แบบ Sideways คือขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นเวลายาวนานก็เป็นไปได้

ในแง่ของนักลงทุน การเกิดแพนิกนั้นมักจะก่อให้เกิด “โอกาส” ในการซื้อหุ้นที่ยิ่งใหญ่และทำกำไรได้มหาศาล—ถ้าคุณมีเงินสดรอช้อนเก็บมากพอ อย่างไรก็ตาม โอกาส “เจ๊ง” ก็พอ ๆ กันหรือมากกว่าถ้าคุณถือหุ้นเต็มพอร์ตหรือเล่นหุ้นโดยใช้การกู้เงินมาก ๆ เป็นหลาย ๆ เท่า ส่วนการลงแบบไซ้ต์เวย์ไปเรื่อย ๆ นั้น คุณอาจจะไม่เห็นโอกาสอะไรในตลาดหุ้น ความเบื่อหน่ายจะค่อย ๆ คืบคลานมา นักเก็งกำไรจะค่อย ๆ หายไปจากตลาด นักลงทุนระยะยาวแบบ “VI พันธุ์แท้” ก็จะค่อย ๆ โตขึ้นจากการมองหาธุรกิจที่ดีในราคาไม่แพงและลงทุนอย่างสบายใจแม้ว่าผลตอบแทนจะไม่ “มหัศจรรย์” อย่างที่เคยเป็นมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา