มองบทบาทธนาคารกลางในอนาคต

มองบทบาทธนาคารกลางในอนาคต

อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปร่วมงานสัมมนาฉลอง 75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในหัวข้อ “Shaping the Future of Central Banks” ที่พยายามตกผลึกความคิด

เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของธนาคารกลางในอนาคต ที่จัดโดย ธปท. ร่วมกับองค์การ OMFIF ประเทศอังกฤษ

ช่วง 75 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำหน้าที่ตามพันธกิจของธนาคารกลางได้อย่างสำเร็จ สามารถสนับสนุนการเติบโตและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี พร้อมกับพัฒนาองค์กรขึ้นมาเป็นธนาคารกลางที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และวงการการเงินในต่างประเทศ เป็นความสำเร็จที่มาจากความร่วมมือกันทำงานของพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยทุกระดับ ที่หล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องความรู้ ความซื่อตรง และผลประโยชน์ของประเทศและส่วนรวม ผมเองได้มีโอกาสทำงานที่องค์กรนี้นานถึง 20 ปี ได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสาตร์ที่น่าประทับใจของธนาคารแห่งประเทศไทย

หน้าที่หลักของธนาคารกลางคือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ซึ่งในการทำหน้าที่ดังกล่าว พันธกิจของธนาคารกลางจะมีมากหลายด้าน เช่น รักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำและมีเสถียรภาพ รักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการเงินของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และดูแลให้ระบบชำระเงินของประเทศทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง มีต้นทุนต่ำ เพื่อสนับสนุนการทำงานของเศรษฐกิจ ความมีเสถียรภาพในมิติเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นการทำหน้าที่ของธนาคารกลางจึงสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางจะทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดีก็ต่อเมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจ และสนับสนุนการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ปกป้องให้ธนาคารกลางสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและส่วนรวม

ต่โลกเศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าแต่ก่อน ทั้งในแง่ความเป็นโลกาภิวัฒน์ของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงโครงสร้างประชากร และสิ่งแวดล้อม ที่กระทบพฤติกรรมของคนในสังคม และที่กำลังมีบทบาทมากก็คือ เทคโนโลยีที่กระทบพฤติกรรมการผลิตของภาคเอกชน และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กระทบประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับวิธีการทำงาน เครื่องมือ และวิธีการสื่อสารอยู่เสมอ เพื่อให้ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางมีต่อเนื่อง นำไปสู่การรักษาความไว้วางใจที่ประชาชนและสังคมมีต่อธนาคารกลาง

งานสัมมนาได้พูดถึงความท้าทายที่จะกระทบการทำหน้าที่ของธนาคารกลางใน 3 เรื่อง ซึ่งเป็นความท้าทายต่อทุกธนาคารกลาง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่

1.) ผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก จากการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการอัดฉีดสภาพคล่องด้วยมาตรการคิวอี ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายแบบนอกกรอบ (Unconventional) กลับไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นปกติมากขึ้น ซึ่งการเดินทางกลับนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะการทำนโยบายการเงินนอกกรอบเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ยังไม่ชัดเจนว่า ผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการเดินทางกลับของนโยบายนี้จะเป็นอย่างไร

2.) การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่มาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านอุปทานของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงโครงการประชากร สิ่งแวดล้อม และความเป็นสากลของระบบเศรษฐกิจโลกจากผลของโลกาภิวัฒน์ว่า จะกระทบประสิทธิภาพการดำเนินงานของธนาคารกลางอย่างไร เช่น ปัญหาเงินทุนไหลเข้าที่เป็นผลจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ตามความเป็นโลกาภิวัฒน์ของตลาดการเงินโลก ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของเศรษฐกิจโลกทั้งระบบ แต่เครื่องมือในการแก้ไขปัญหา และดูแลตัวเองของแต่ละประเทศ ยังเป็นเครื่องมือระดับประเทศ ซึ่งจะไม่มีประสิทธิภาพที่จะดูแลปัญหาที่เป็นระดับโลกอย่างนี้ เป็นต้น นี่คือตัวอย่างของความท้าทาย

3.) ความก้าวหน้าด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่กำลังกระทบเศรษฐกิจโลก และจะมีผลต่อการทำหน้าที่ของธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ เช่น พฤติกรรมการใช้เงินสดที่น้อยลง มีการสร้างสกุลเงินดิจิตอลใหม่เพื่อการลงทุนเก็งกำไร การมีระบบเครือข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ หรือ blockchain ที่ไม่มีตัวกลาง มีการให้บริการทางการเงินโดยผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น ฟินเทค สิ่งเหล่านี้ คือ ระบบนิเวศน์ทางการเงินใหม่ที่จะกระทบพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคในสังคม ซึ่งจะมีผลต่อการทำนโยบายของธนาคารกลาง ทำให้ธนาคารกลางจะต้องคิดต่อว่า จะให้นวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้ พัฒนาต่อไปอย่างไร เร็วมากน้อยขนาดไหน ที่จะไม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความเสี่ยง และไม่ทำให้การทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจของธนาคารกลางมีข้อจำกัด หรือขาดประสิทธิภาพ

ในเรื่องนี้ การสัมมนาได้พูดถึงหลายประเด็นที่น่าสนใจ และผมอยากนำมาฝากเป็นข้อคิดวันนี้สัก 2 เรื่อง

เรื่องแรก แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กระทบพฤติกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจนั้น เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ ให้ความสำคัญ และไม่ควรปฏิเสธ เพราะนำไปสู่การลดต้นทุน และการเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจ หน้าที่ของธนาคารกลางคือ ต้องติดตามและทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมวางแผนเตรียมการ เพื่อไม่ให้การทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของธนาคารกลางในอนาคตมีข้อจำกัด เช่น เรื่องการกำกับดูแลสถาบันการเงิน อาจต้องเปลี่ยนจากการกำกับดูแลสถาบันที่ให้บริการทางการเงิน มาเป็นกำกับดูแลกิจกรรมทางการเงินแทน เป็นต้น

เรื่องที่ 2. ความไว้วางใจ หรือ trust ที่ประชาชนมีต่อธนาคารกลาง เป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดความสำเร็จในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง แม้ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้น ธนาคารกลางจะต้องทำให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่กระทบความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อธนาคารกลาง ตัวอย่างเช่น การใช้เงินสดที่มีแนวโน้มลดลง ที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ใช้การ์ด หรือชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแทนการใช้เงินสด การยุติการใช้เงินสดอาจเป็นคำตอบในหลายประเทศในแง่ของประสิทธิภาพ ต้นทุน และความรวดเร็ว แต่ในบางประเทศ ธนบัตรยังเป็นตัวกลางของการสร้างความไว้วางใจที่สำคัญระหว่างประชาชน กับ ธนาคารกลาง ทำให้ธนาคารกลางมีตัวมีตน และคอยเฝ้าระวังอยู่ในความรู้สึกของประชาชน ที่สำคัญ การมีธนบัตรในระบบเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของความเป็นประเทศ เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ สิ่งเหล่านี้ทำให้ธนาคารกลางจะมีหลายมิติที่จะต้องชั่งใจในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ต้องหาความสมดุลย์ระหว่างนวัตกรรมและความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงต่อความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อธนาคารกลาง

เหล่านี้ เป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายของธนาคารกลาง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยในอนาคต