คณะกรรมการ กับการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย

คณะกรรมการ กับการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย

เรื่องคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือที่เรียกกันว่า Policy Corruption เป็นที่พูดถึงมานานแล้ว โดยเฉพาะคณะกรรมการของหน่วยงานรัฐหรือองค์กรรัฐวิสาหกิจ

รวมถึงองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการ คอรัปชั่นเชิงนโยบายเป็นเรื่องที่คณะกรรมการขององค์กรมีอำนาจในการออกนโยบายเพื่อให้หน่วยงานภายในองค์กรปฏิบัติในรายละเอียดต่อไป ซึ่งอำนาจนี้กำหนดไว้ในกฎหมายเฉพาะเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรนั้น

ปัญหาก็คือ คณะกรรมการนั้นหลากหลายและมีจำนวนมาก มีทั้งตัวแทนหน่วยงานระดับกระทรวง กรม สำนักงาน ตัวแทนองค์กรภาคเอกชน ตัวแทนวิชาชีพ ตัวแทนกลุ่มอาชีพ ตัวแทนประชาชนทั่วไป และอาจมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมีคุณสมบัติครบได้รับแต่งตั้งเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการได้เช่นกันและเนื่องจากเป็นคณะกรรมการระดับนโยบาย คณะกรรมการจึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการระดับล่างรองรับในการดำเนินงานตามนโยบายที่เรียกว่า policy implementation คณะกรรมการระดับรองเหล่านี้ก็อาจตั้งคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการ เฉพาะเรื่องเป็นลำดับขั้นลงไป 

แต่ที่มีบทบาทมากที่สุดก็ต้องเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่เป็นผู้ออกนโยบายขององค์กร

ด้วยความที่คณะกรรมการมาจากการคัดเลือกโดยรัฐบาล การตรวจสอบคุณสมบัติจึงมักพิจารณาที่คุณสมบัติภายนอกเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เคยต้องโทษจำคุก ไม่เคยต้องคดีความผิดฐานทุจริต ห้าหกอย่างตามที่กฎหมายขององค์กรนั้นกำหนด แต่สิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือรัฐบาลไม่ได้ตรวจสอบก็คือความเกี่ยวข้องของกรรมการรายบุคคลที่มีต่อบุคคล คณะบุคคล กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ (interest groups) ซึ่งแม้จะตรวจสอบก็ยากที่จะทำได้ เพราะมักจะได้รับคำยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์อื่นใด นอกจากเพื่อส่วนรวม แต่ก็มีหลายองค์กรที่สามารถสืบทราบได้ ถ้ามีการตรวจสอบจริงจัง เพียงแต่ว่าผู้ที่ทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหาอาจจะไม่ได้จริงจังกับเรื่องส่วนตัวแบบนี้มากนัก ผลก็คือกรรมการที่ได้รับการสรรหานั้น เมื่อเข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมการที่มีอำนาจออกนโยบายต่างๆ ก็จะนึกถึงประโยชน์ของตนเอง ของพวกพ้อง ของกลุ่ม และนโยบายที่จะออกมานั้นต้องไม่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ดังกล่าว

กรรมการจำนวนไม่น้อยที่เมื่อแรกเข้าทำหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการ ก็มิได้มีผลประโยชน์แอบแฝง แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจ ก็ถูกชักชวนชี้นำโดยกลุ่มผลประโยชน์ รวมตลอดถึงคิดถึงประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องมากกว่าความเป็นธรรมที่ควรจะเป็น จึงได้เกิดลักษณะของการให้ความเห็นหรือลงมติอย่างมีนัยแอบแฝง เพื่อให้สอดคล้องกันกับผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างจงใจหรือเจตนา ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ที่ถือเป็นความผิด

ประเทศไทยไม่ค่อยมีกรรมการที่ถูก ปปช.ชี้มูลความผิดนี้ และเท่าที่มีการตัดสินลงโทษให้ถึงที่สุดก็มักไม่ค่อยเป็นที่ปรากฎชัด เพราะมักจะมีการไกล่เกลี่ยระหว่างกัน และเนื่องจากความเสียหายเป็นเรื่องของรัฐที่เสียผลประโยชน์มากกว่าเอกชน จึงไม่ค่อยคำนึงถึงความเสียหายดังกล่าว ทั้งๆที่มาจากภาษีประชาชนองค์กรที่มีคณะกรรมการในรูปแบบนี้กำลังมีการจัดตั้งมากขึ้นทุกที ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพราะรัฐบาลต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่หลากหลายมาทำหน้าที่ในคณะกรรมการ แต่ในความเป็นจริงนั้นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกมาทำหน้าที่ต่างก็มีงานมีอาชีพที่เป็นการทำมาหากินโดยปกติอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่การออกหรือเสนอนโยบายของคณะกรรมการนอกจากจะต้องไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของตนเองและกลุ่มแล้ว ยังต้องเสริมประโยชน์ให้ได้รับมากขึ้นด้วย

ปรากฎการณ์ที่เห็นได้ชัดคือคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่มีการแต่งตั้งกรรมการจากการสรรหาและกรรมการโดยตำแหน่งเกือบ 30 คน โดยมีกรรมการจำนวนมากมาจากประชาชนเอกชน ผู้แทนองค์กรประเภท NGO องค์กรวิชาชีพ องค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งมักมีมุมมองอยู่ในแนวทางเดียวกัน และมุ่งประโยชน์ของฝ่ายที่ตนที่สนับสนุนเป็นหลัก ผลของการพิจารณาลงมติในเรื่องต่างๆจึงมักหนีไม่พ้นสิ่งที่ตนเองหรือกลุ่มของตนเองได้ประโยชน์ ซึ่งมีตั้งแต่ได้ประโยชน์โดยตรงเช่นได้รับเงินสนับสนุนในกิจกรรมขององค์กรที่ตนเป็นผู้แทน กิจกรรมของพื้นที่ที่ตนเป็นผู้แทน กิจกรรมที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของเครือข่ายที่มีวัตถุประสงค์ไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนาทั้งสิ้น

การกระทำเช่นว่านี้ของกรรมการ ถือเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย อย่างชัดเจน เพราะเป็นการออกนโยบายที่เอื้อต่อตนเองและพวกพ้อง ทำให้ได้งาน ได้ประโยชน์ ได้ค่านายหน้า ได้ค่าหัวคิว และทำให้เกิดความเสียหายกับรัฐที่ต้องเสียเงินให้กับการคอรัปชั่นเชิงนโยบายเช่นนี้ แม้ว่าการคอรัปชั่นโดยทั่วไปจะหมายถึงการที่ฝ่ายหนึ่งเรียก รับ หรือยอมรับ และอีกฝ่ายหนึ่งให้ หรือรับว่าจะให้สินบน อาจจะไม่สามารถเอาผิดกับกรรมการได้ แต่ถ้าพิจารณาในแง่ การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ก็ต้องถือว่าเข้าข่ายการกระทำความผิด

อยากให้ ป.ป.ช. และ ปปท. รวมทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการคอรัปชั่นเชิงนโยบายมากขึ้น และถ้าพบว่ามีการขัดกันซึ่งผลประโยชน์หรือมีการทับซ้อนผลประโยชน์ระหว่างตัวกรรมการกับนโยบายในเรื่องใด ก็เป็นหน้าที่ที่กรรมการผู้นั้นจะต้องแสดงสปิริตไม่ร่วมการประชุมออกเสียงในเรื่องนั้นๆ เพราะถ้ารู้อยู่แล้ว ก็ยังเข้าทำหน้าที่กรรมการ เอาตัวเองไปผูกพันเพื่อที่จะได้รับประโยชน์ ได้รับการแต่งตั้ง ได้รับงบประมาณ ได้รับสิทธิประโยชน์ อันเป็นการขัดกันกับผลประโยชน์เพื่อประชาชนส่วนรวมอย่างแท้จริง การกระทำของเหล่ากรรมการเช่นว่านั้นต้องถือเป็นความผิดในฐาน ทำการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย และควรได้รับโทษตามกฎหมาย

ที่สำคัญก็คือกรรมการอื่นที่อยู่ในคณะกรรมการ และ/หรือ คณะกรรมการทั้งคณะ ถ้ารู้เห็นในการกระทำผิด และ/หรือ ไม่ทักท้วงก็อาจมีความผิดด้วยในฐานะผู้สนับสนุน หรืออาจเข้าขั้นตัวการ ถ้ามีส่วนได้เสีย เรียกว่า ติดคุก กันทั้งคณะกรรมการก็เป็นไปได้