เมื่อ OKR อยู่ร่วมกับ BSC และ KPI

เมื่อ OKR อยู่ร่วมกับ BSC และ KPI

ในยุคที่แนวคิดในเรื่องของ OKR (Objective & Key-Results) กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจก็คือ

 องค์กรส่วนใหญ่ในประเทศไทย มีการใช้เครื่องมืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น KPI (Key Performance Indicators) หรือ BSC (Balanced Scorecard) กันมาอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าสนใจจะนำแนวคิดของ OKR มาปรับใช้จะทำอย่างไร?

สำหรับบริษัท Startups ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีระบบของการตั้งวัตถุประสงค์ ระบบการวัดผล และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น การเริ่มต้นใหม่เลยด้วยการนำ OKR มาใช้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมและช่วยทำให้การทำงานมีเป้าหมายและเส้นทางเดินที่ชัดเจน แต่สำหรับองค์กรที่ดำเนินงานมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งมีการนำระบบอื่นๆ มาใช้เพื่อ กำหนดวัตถุประสงค์ ตั้งเป้าหมาย หรือ วัดผลมาแล้ว องค์กรเหล่านั้นจะต้องรื้อระบบต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อนำ OKR มาทดแทนเลยหรือ?

ต้องอย่าลืมว่าเสน่ห์ที่สำคัญของ OKR คือการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ไม่มาก John Doerr ผู้ที่แนะนำ OKR ให้กับ Google ได้รู้จัก ได้ระบุไว้เลยว่า องค์กรหนึ่งควรจะมี OKR เพียงแค่ 3-5 ประการเท่านั้น และภายใต้แต่ละวัตถุประสงค์ ก็ควรจะมีผลลัพธ์หลักไม่เกิน 5 ประการเท่านั้น อีกทั้งยังเน้นว่า OKR เป็นเครื่องมือที่ทำให้ทั้งองค์กรมุ่งเน้นไปสู่สิ่งที่มีความสำคัญ

ดังนั้นผู้บริหารควรจะเลือกที่จะกำหนด OKR ในสิ่งที่เชื่อมหรือสัมพันธ์กับกลยุทธ์ขององค์กรเป็นหลัก เพราะจะทำให้ทั้งองค์กรเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ แต่สำหรับงานประจำ หรือ งานที่ต้องทำเป็นปกติ (หลายองค์กรมักนิยมเรียกเป็น BAU - Business as usual) องค์กรก็ยังสามารถที่จะใช้ระบบ KPI เดิมที่มีอยู่ เพื่อวัดและประเมินผลความสำเร็จในการดำเนินงานตามปกติขององค์กรได้

ขณะเดียวกัน Dan Montgomery หนึ่งในกูรูด้าน OKR ของอเมริกาที่เพิ่งมาจัดสัมมนาที่ประเทศไทย ก็ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบ KPI แล้ว OKR จะเหมาะสมกับงานที่ใหม่ หรือ สิ่งที่เป็นนวัตกรรม ขณะเดียวกันงานประจำเดิมๆ ที่ทำอยู่โดยปกติก็สามารถที่จะใช้ KPI ต่อไป

สรุปสำหรับองค์กรที่มีระบบ KPI อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องรื้อหรือยกเลิกทั้งระบบ เพียงนำ OKR มาเสริมในงานที่ใหม่ ที่ต้องการมุ่งเน้น หรือ ต้องการเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ โดยเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ต้องการบรรลุให้ชัดเจน จากนั้นค่อยกำหนดผลลัพธ์หลักที่ต้องการบรรลุภายใต้แต่ละวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันงานเดิมๆ ที่ต้องรักษาไว้ให้ได้ตามมาตรฐาน ก็ยังสามารถใช้ KPI ต่อไปได้ สำหรับในระดับหน่วยงานหรือระดับบุคคล ก็สามารถใช้หลักการเดียวกันกับระดับองค์กรได้

สำหรับองค์กรที่นำระบบ BSC มาใช้นั้น แนวทางหนึ่งนั้นก็คือยังสามารถใช้ BSC ในระดับองค์กรได้อยู่ โดยมีแผนที่กลยุทธ์ และ วัตถุประสงค์ภายใต้มุมมองต่างๆ ให้ครบถ้วน แต่เมื่อลงสู่ระดับหน่วยงานและระดับบุคคลแล้ว ก็สามารถที่จะนำ OKR มาปรับใช้แทนการทำ BSC เนื่องจากถ้าจะถอดวัตถุประสงค์ตามทั้ง 4 มุมมองของ BSC ระดับองค์กร สู่ระดับหน่วยงานและระดับบุคคลแล้ว ย่อมจะเป็นการยุ่งยากและซับซ้อน ดังนั้นการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ต้องการบรรลุเพียงไม่กี่ตัวตามหลัก OKR สำหรับระดับหน่วยงานและบุคคลย่อมจะชัดเจนและปฏิบัติได้มากกว่า

ไม่ว่าองค์กรจะใช้ BSC หรือ KPI อยู่ ก็สามารถที่จะนำหลักการเรื่องของ OKR มาปรับใช้ได้ทั้งสิ้น เพราะแนวคิดทั้ง 3 ประการนั้นยังมุ่งเน้นในสิ่งที่ต้องการบรรลุ และการบ่งบอกถึงความสำเร็จหรือการวัดผลที่ชัดเจน อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางการจัดการใดๆ ความสำเร็จในการนำไปใช้นั้น อยู่ที่การปรับให้เข้ากับบริบทและสภาวะแวดล้อมขององค์กรมากกว่า องค์กรที่อยากจะนำ OKR มาใช้ ย่อมไม่สามารถที่จะลอกเลียนแบบหรือทำเหมือนกับที่ Google ทำได้ 100% และไม่ควรพยายามที่จะเลียนแบบ Google ด้วย แต่จะต้องสามารถปรับใช้ OKR ให้เหมาะสมกับสิ่งที่องค์กรเป็นอยู่และสิ่งที่องค์กรต้องการจะเป็น