องค์กรแห่งความสุข

องค์กรแห่งความสุข

อะไรคือเป้าหมายสูงสุดในการใช้ชีวิต? เงิน ความสำเร็จ ชื่อเสียง??

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาคนรุ่นใหม่อย่างเจเนอเรชั่น Y และ Z ถามว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของพวกเขาคืออะไร พบว่ามากกว่า 70% อยากมีความสุข เมื่อถามคำถามเดียวกันนี้กับคนเจน X และ Baby Boomer พบว่าสุดท้ายคำตอบไม่ต่างกัน

ต่างเจนต่างใจ แต่ความปรารถนาในชีวิตไม่ต่างกัน นั่นคือ “ความสุข”

ความสุขที่แท้จริงนั้นเกิดจากอะไร?

Harvard Study of Adult Development โครงการศึกษาชีวิตมนุษย์ที่ยาวนานที่สุดถึง 75 ปี ทำการศึกษาผู้คนโดยมองชีวิตทั้งชีวิตตามกาลเวลาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยแก่ชราว่าอะไรทำให้พวกเขามีความสุขอย่างแท้จริง โดยศึกษาชีวิตชาย 724 คน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสุขอย่างแท้จริง กลับไม่ใช่ ความร่ำรวย ความโด่งดัง การทำงานหนัก แต่คือการมีความสัมพันธ์ที่ดี ที่ทำให้เรามีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีชีวิตที่ยืนยาวยิ่งขึ้น การวิจัยชิ้นนี้พบบทเรียนที่น่าสนใจ 3 ประการ

1. การมีความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมช่วยให้คนมีความสุขยิ่งขึ้น การศึกษาพบว่าคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว เพื่อน สังคมมีความสุขมากกว่า อายุยืนยาวกว่า ส่วนคนที่โดดเดี่ยวกลายเป็นคนที่ไม่มีความสุข ความจำเสื่อม อายุสั้นลง

2. คุณภาพของความสัมพันธ์มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน การมีจำนวนเพื่อนเยอะไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพของความสัมพันธ์ คุณภาพของความสัมพันธ์หมายถึงการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่อบอุ่น มีความพึงพอใจกับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่

3. ความสัมพันธ์ที่เรารู้สึกว่าพึ่งพากันได้ ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น

จากการศึกษาอันยาวนานนี้ยืนยันว่า ผู้คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิตคือบุคคลที่ทุ่มเทเวลาให้กับความสัมพันธ์ครอบครัว เพื่อนฝูง สังคม

หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน อยากชวนท่านลองสำรวจความสุขในองค์กร ผ่านคุณภาพของความสัมพันธ์ในทีมของท่านสักหน่อย คุณภาพของความสัมพันธ์ไม่ได้แปลว่าองค์กรของท่านปราศจากความขัดแย้ง ทุกคนคิดเห็นเหมือนกันหมด แต่หมายถึงการไม่ละเลยที่จะลงมือทำอะไรสักอย่างเมื่อรู้ว่าความขัดแย้งกำลังจะเกิดขึ้นและปล่อยให้มันลุกลามจากจุดเล็ก ๆ ไปสู่ระดับองค์กร

ในอดีตเวลาลูกค้าถามดิฉันว่า หากต้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรอะไรคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ดิฉันมักจะตอบว่า ผู้นำ นั่นคือเบอร์ 1 ต้องเล่นด้วย

แต่จากประสบการณ์ทำงานที่ปรึกษาในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้กับหลากหลายองค์กรในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปสอนดิฉันว่า เบอร์ 1 เล่นด้วยคนเดียวไม่พอ แต่ต้องทั้งทีมบริหาร! องค์กรที่เปลี่ยนแปลง (Transform) ได้สำเร็จคือองค์กรที่ทีมบริหารมีความแข็งแรง ซึ่งไม่ใช่ทีมที่เก่งที่สุด ดีที่สุด แต่เป็นทีมที่มีความสุข มีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ มองเป้าหมายความสำเร็จเดียวกัน รู้สึกพึ่งพากันได้ มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

เมื่อทีมรับรู้ถึงคุณภาพของความสัมพันธ์นี้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นทางกายภาพจะหลั่งของสารออกซิโทซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนแห่งความรักและความผูกพัน ซึ่งส่งผลให้พนักงานในองค์กรมีความผูกพันสูงกว่าองค์กรที่ขาดความไว้วางใจถึง 70% มีความสุขมากกว่า 60% และความคิดสร้างสรรค์สูงกว่า 50%