Softbank: Vision Fund กองทุนบันลือโลก

Softbank: Vision Fund กองทุนบันลือโลก

ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา กองทุนวิชั่นฟันด์ (Vision Fund) ของบริษัทซอฟท์แบงค์ กรุ๊ป คอร์ป (Softbank Group Corp)

บริษัทลงทุนรายใหญ่จากญี่ปุ่นได้ประกาศผลกำไรประจำไตรมาสที่สูงถึง 2,160 ล้านดอลลาร์ส่งผลให้ซอฟท์แบงค์มีกำไรถึง 49% และมีกำไรรวมกว่า 6,300 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสเดียว นับเป็นการลดความกังขาของเหล่านักลงทุนที่ไม่เชื่อในวิสัยทัศน์ของ “มาซาโยชิ ซัน (Masayoshi Son)” ซีอีโอผู้คร่ำหวอดแห่งซอฟท์แบงค์และผู้ที่เคยล้มเหลวมาแล้วจากการลงทุนในยุคดอทคอม

 

วิสัยทัศน์ 300 ปี

มาซาโยชิ ซัน หรือที่มักเรียกกันว่า “มาซา” ก่อตั้งซอฟท์แบงค์ในปี 1981 โดยได้ผ่านช่วงวิกฤติดอทคอมปี 2000 อย่างบอบช้ำเพราะต้องสูญเสียเงินทุนไปถึง 70,000 ล้านดอลลาร์ แต่มาซาก็สามารถกลับมาสร้างชื่ออีกครั้งในปี 2014 เมื่อเงินลงทุนจำนวน 20 ล้านดอลลาร์ในบริษัทอีคอมเมิร์ซชื่ออาลีบาบาที่ลงทุนไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2000 เพิ่มมูลค่าเป็น 60,000 ล้านดอลลาร์เมื่อหุ้นเข้า IPO จนทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของญี่ปุ่น 

ในปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ซอฟท์แบงค์ฉลองครบรอบ 30 ปี มาซาโยชิ ซันได้เสนอวิสัยทัศน์ 300 ปี โดยมีความเชื่อว่าในแนวคิดของ “Singularity” ที่คอมพิวเตอร์จะฉลาดเหนือมนุษย์ ซอฟท์แบงค์จึงวางแผนลงทุนในการพัฒนาสมองคอมพิวเตอร์ การปฏิวัติด้านข้อมูล (Information Revolution) ที่จะช่วยให้มนุษย์มีอายุยืนยาวได้ถึง 200 ปี โดยมนุษย์จะสื่อสารถึงกันผ่านทางกายและกระแสจิต รับสัมผัสหรือความรู้สึกผ่านทาง VR หรือ AR และมีชีวิตประจำวันที่รายล้อมด้วยสมาร์ทดีไวซ์และหุ่นยนต์ ความเชื่อของมาซาเมื่อแปดปีที่แล้วดูจะเป็นความจริงมากขึ้น เมื่อนวัตกรรม Big Data, IoT, Robotics และ AI มีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นเป้าหมายหลักในการลงทุนของวิชั่นฟันด์กองทุนบันลือโลกของซอฟท์แบงค์เวลานี้

 

กองทุนแห่งวิสัยทัศน์ (Vision Fund)

กองทุนวิชั่นฟันด์เปิดตัวขึ้นในปี 2016 โดยการร่วมทุนของซอฟท์แบงค์และพันธมิตร เช่น กองทุนจากซาอุดิอาระเบีย Foxconn, Qualcomm, Sharp และแอปเปิ้ล ในเงินกองทุน 100,000 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ลงทุนกับหุ้นด้านเทคโนโลยีในระยะเวลา 5 ปี นับเป็นการเริ่มยุคใหม่ของการลงทุนที่มีกองทุนขนาดใหญ่นี้สามารถเข้าลงทุนจำนวนมากในบริษัทดิจิทัลได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พร้อมทั้งได้กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำสุดที่ 100 ล้านดอลลาร์เพื่อโอกาสการลงทุนกับสตาร์ทอัพขนาดเล็กอีกด้วย

ซอฟท์แบงค์ได้เปิดฉากการเข้าซื้อหุ้นกับกลุ่มบริษัทที่อาจมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (Unicorn) และเริ่มขยายบทบาทเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร (Ride-Hailing) อย่างเช่น การเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของอูเบอร์ (Uber) ด้วยเงินลงทุนถึง 9,300 ล้านดอลลาร์เมื่อต้นปี 2018 ตลอดจนได้เข้าลงทุนกับ Didi Chuxing ด้วยเงินลงทุนกว่า 9,500 ล้านดอลลาร์ และยังร่วมลงทุนกับ Grab และ Ola ซึ่งต่างเป็นคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนี้ซอฟท์แบงค์ยังได้ร่วมลงทุนใน GM Cruise, Slack, WeWork, FlipKart, Fanatics, OneWeb, Doordash และ Nvidia อีกด้วย 

เส้นทางการลงทุนของกองทุนวิชั่นฟันด์ยังรวมถึง โครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ก่อสร้างขึ้นที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ราว 7.2 กิกะวัตต์ในปี 2019 และเพิ่มขึ้นเป็น 200 กิกะวัตต์ในปี 2030 โดยวิชั่นฟันด์จะเริ่มลงทุนที่ 1,000 ล้านดอลลาร์ในเฟสที่หนึ่ง โดยทั้งโครงการจะใช้เงินลงทุนประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งซอฟท์แบงค์คาดว่ารายได้จากแต่ละเฟสของการผลิตพลังงานไฟฟ้าจะเพียงพอต่อการสร้างเฟสต่อไป

 

อีโคซีสเต็มใต้ฟองคลื่น

การเข้าซื้อหุ้นในสตาร์ทอัพและอุตสาหกรรมดิจิทัลช่วยให้ซอฟท์แบงค์สามารถให้คำแนะนำและเชื่อมบริษัทเหล่านี้เข้าด้วยกัน รวมถึงการร่วมศึกษากับบริษัทถึงโอกาสใหม่ทางธุรกิจและร่วมวางแผนการดำเนินธุรกิจก่อนที่จะเริ่มใช้เงินลงทุนที่ได้รับ ซึ่งช่วยให้บริษัทเหล่านี้สามารถตัดสินใจการลงทุน ขยายขอบเขตงานไปยังภูมิภาคอื่นของโลก และสามารถจ้างพนักงานที่มีความสามารถเข้าร่วมงานได้ก่อน

การลงทุนที่เริ่มจากวิสัยทัศน์ของมาซาโยชิ ซัน อาจเกิดเป็นอีโคซีสเต็มใหม่ของซอฟท์แบงค์ที่สามารถโน้มน้าวทิศทางนวัตกรรมและกระแสดิจิทัลได้เกินคาด ด้วยเงินลงทุนหลายแสนล้านดอลลาร์ที่ซอฟท์แบงค์อัดฉีดสู่สตาร์ทอัพและอุตสาหกรรม ตลอดจนวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของซีอีโอผู้เจนสนามก่อเกิดกลุ่มพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่อาจเชื่อมความสัมพันธ์ สานความร่วมมือหรือข้อตกลงภายในอีโคซีสเต็มจนอาจเปลี่ยนเส้นทางการใช้ดิจิทัล หรือการพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคตไปจนสุดคาดเดา