'เงินบาท' ผู้ชนะของค่าเงินประเทศเกิดใหม่

'เงินบาท' ผู้ชนะของค่าเงินประเทศเกิดใหม่

ท่ามกลางแรงเทขายของสกุลเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Countries, EM) ที่ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดหุ้นเกิดใหม่ไหลลงอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นมา ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกสูงขึ้น จุดประกายโดยข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ตามมาด้วยการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่อ่อนลง รวมถึงเงินบาทของไทยก็โดนผลกระทบไปด้วย โดยอ่อนค่าลงไปแล้ว 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม) แต่ยังถือว่าการอ่อนค่ายังน้อยกว่าสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่ต่างๆ ที่โดยรวมอ่อนค่าลงกว่า 10%

เหตุผลที่ทำให้ค่าเงินบาทสามารถยืนหยัดได้ดีในสภาวะตลาดที่สั่นคลอน มาจากสถานะทางการเงินของไทยที่แข็งแกร่งมาก อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงบนสภาพเจ็บตัวที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่สะท้อนให้รัฐบาลไทยสะสมเงินทุนสำรองต่างประเทศเป็นเกราะป้องกันตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ซึ่งหมายถึง มูลค่าการส่งออก (ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของสินค้าหรือบริการ อย่างภาคท่องเที่ยว) ที่สูงกว่าการนำเข้า โดยภาครัฐฯ นำเงินที่เกินดุลไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ต่อ และได้เปลี่ยนฐานะประเทศไทยจากลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้ของโลก

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีหนี้ที่กู้จากต่างประเทศที่ระดับ 44% ของ GDP ลดลงจาก 73% ในปี 1999 จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงมีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ที่สูงกว่าจะได้รับแรงกระแทกบนค่าเงินหนักกว่าในครั้งนี้

คำถาม คือ มุมมองในอนาคตเกี่ยวกับสถานะการเงินของไทยจะยังคงแข็งแกร่งระดับนี้ได้อีกนานหรือไม่ ในด้านดุลการค้า การส่งออกของไทยเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากข้อพิพาททางการค้าที่กดดันการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป โอกาสชะลอตัวของส่งออกไทยในระยะสั้นยังมี ในทางกลับกัน การนำเข้าของไทยในเดือนสิงหาคมขยายตัวมากกว่าคาด ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทางด้านการผลิต ผ่านทางการลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศ ในอนาคตก็มีโอกาสที่อัตราการขยายตัวของการนำเข้าจะสูงขึ้นเพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี หากข้อพิพาททางการค้าเริ่มหาทางเจรจากันได้ ด้วยระดับเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง การกลับมาของความต้องการบริโภคซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยย่อมกลับมาได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

คำถามถัดมา คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะเลือกขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใด เพราะว่าเริ่มเห็นสัญญาณจากการประชุม กนง. ในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ที่แม้ว่ามติจะออกมาว่าคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% แต่เสียงโหวตเริ่มที่จะแตกต่างมากขึ้นที่  5 ต่อ 2 เสียง อันเนื่องมาจากปัจจัยพื้นฐานของไทยที่แข็งแกร่ง เศรษฐกิจขยายตัวชัดเจน และล่าสุดองค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับประมาณการณ์ GDP ไทย ปี 2018 ขึ้นจาก 3.9% เป็น 4.6%

นอกจากนี้ ไทยอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน ทำให้ภาครัฐฯ เกรงว่าภาคธุรกิจและประชาชนจะประเมินภาระทางด้านการเงิน (หนี้) ต่ำเกินไป สั่นคลอนต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคตได้ รวมถึงส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ที่ติดลบมาตั้งแต่ปลายปี 2017 โดยตลาดเริ่มพูดถึงโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม กนง. ครั้งถัดไป ทั้งนี้ กนง.น่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยจริงในช่วงต้นปี 2019 เนื่องจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาจส่งผลลบต่อภาคส่งออกของไทยที่เริ่มชะลอลง ดังนั้นการประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการของ กนง. จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งมีการส่งออกเป็นแรงหนุนสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

สำหรับตลาดหุ้นไทยที่ยังสดใสกว่าตลาดในประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ที่ยังมีปัญหาจากเงินที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออก ทั้งนี้ ไทม์ไลน์ในการเลือกตั้งที่เริ่มชัดเจนขึ้นน่าจะเป็นแรงหนุนสำคัญของตลาดหุ้น นอกจากนี้ กำไรสุทธิของเหล่าบริษัทจดทะเบียนก็ได้รับการปรับคาดการณ์ขึ้น หุ้นขนาดใหญ่น่าสนใจกว่าหุ้นขนาดกลางและเล็กในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์โลกและตลาดทุนยังได้รับอิทธิพลหลักจาก Fund Flow