หลังจากสองปีควรมีการหาคำตอบ

หลังจากสองปีควรมีการหาคำตอบ

พรุ่งนี้จะครบ 2 ปีที่คนไทยร่ำให้กันอย่างทั่วถึง เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า แม้พ่อหลวงจะทรงจากเราไป หลักวิชาที่พระองค์ทรงพระเมตตา

ชี้แนะให้คนไทยนำมาใช้จะอยู่กับเราต่อไปตลอดกาล อย่างไรก็ดี มีบางส่วนของหลักวิชาที่เราควรจะนำมาศึกษาและวิจัยเพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับภาวะอันหลากหลายในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ย้อนไปเมื่อเดือน พ.ค.2559 ผมพิมพ์หนังสือชื่อ ฝากภูมิปัญญาชาติไทยไว้กับครู (สัปดาห์หน้าจะนำมาขึ้นเว็บไซต์ให้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.bannareader.com) เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ ศาสตร์พระราชา ผมนำเสนอเนื้อหาสำหรับครูโดยเฉพาะ เพราะมองว่าครูน่าจะเป็นผู้ทำความเข้าใจให้แตกฉานได้ง่ายและเผยแพร่แนวคิดได้ดีที่สุดเนื่องจากครูมีพื้นการศึกษาดี มีคนเชื่อถือ หรือมีทุนทางสังคมสูง มีจำนวนมาก กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในทุกท้องถิ่นและมีโอกาสทำปฏิสัมพันธ์กับคนไทยทุกเพศทุกวัยอย่างต่อเนื่อง

ก่อนการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมมีโอกาสศึกษางานพร้อมกับเยี่ยมชมโครงการต่างๆ รวมทั้งของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ผมพบว่าหลากหลายองค์กรจัดการเรียนการสอน หรือไม่ก็พยายามศึกษาหาทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมตามแนวทฤษฏีใหม่ไม่ว่าจะเป็นการทดลองทำจำพวก หนึ่งไร่หนึ่งแสน หรือ โคกหนองนาโมเดล การทำกิจกรรมเหล่านี้ดีกว่าไม่ทำแน่นอน แต่ผมมองว่าน่าจะเน้นย้ำว่า การทำเกษตรกรรมตามแนวทฤษฏีใหม่เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีหลายมิติ หากมิเน้นย้ำเช่นนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดกันว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการทำเกษรกรรมตามแนวดังกล่าวเท่านั้น

นอกจากนั้น ควรจจะศึกษาและวิจัยต่อไปให้ได้คำตอบแบบครบถ้วนสำหรับแต่ละท้องถิ่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งแปลว่าคนของพระราชาก่อตั้งขึ้นมาให้เป็นสถาบันการศึกษาสำหรับสนองความต้องการของท้องถิ่นและกระจัดกระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นของประเทศ ผมจึงมองว่ามหาวิทยาลัยเหล่านี้สมควรที่จะเป็นผู้นำในการค้นหาคำตอบ เท่าที่เห็นทดลองทำกันอยู่ทั่วไปดูจะยังไม่มีใครให้คำตอบเรื่องที่ดินว่าจะมาจากไหนและจะลงทุนเท่าไรจึงจะได้ที่ดินนั้นมาไม่ว่าจะสำหรับทำหนึ่งไร่หนึ่งแสน หรือโคกหนองนาโมเดล หากคู่สามีภรรยาเพิ่งแต่งงานใหม่ปรารถนาจะยึดอาชีพนี้เป็นหลัก เขาจะต้องมีทุนเท่าไรในแต่ละท้องถิ่นจึงจะได้ที่ดินมาใช้ทำตามหลักคิด

อีกหนึ่งปัจจัยในการทำเกษตรกรรมได้แก่ น้ำซึ่งจะต้องมีใช้ตลอดปี พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ของไทยไม่มีการชลประทาน จึงมีการเสนอให้ขุดสระน้ำไว้ตามสัดส่วนของที่ดิน แต่สระดังกล่าวมักจะเหือดแห้งไปในหน้าแล้งทำให้มีน้ำไม่พอใช้ ทั้งนี้เพราะน้ำจะทั้งระเหยอย่างรวดเร็วในภาวะอากาศร้อนจัดและไหลซึมไปในพื้นดินที่แห้งผากหากไม่ขุดสระไว้ใกล้ๆ กันจำนวนมาก การขุดสระจำนวนมากไว้ใกล้ ๆ กันบางทีเรียกว่าระบบ สระพวง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ในอินเดีย ในปัจจุบัน มีการนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในแอฟริกาและละตินอเมริกา ส่วนในเมืองไทยยังไม่มีการนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นเรื่องเป็นราวจริง ๆ

เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มักมองว่าการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ทำให้เสียที่ดินสำหรับปลูกพืช จึงมีการเสนอให้ทำ ธนาคารน้ำใต้ดิน ในบางพื้นที่ อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ยังมิได้นำไปทดลองใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบว่าได้ผลจริงเพียงใด ในพื้นที่เท่าไร ต้องใช้จำนวนเท่าไร ลึกขนาดไหนและจะต้องใช้ทุนเท่าไร

ส่วนเรื่องสามีภรรยาแต่งงานใหม่ที่หวังจะยึดอาชีพเกษตรกรรมยังมีคำถามอีกมากหากเขามีลูกที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เขาจะต้องสะสมรายได้ไว้เท่าไร หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไรเพื่อเลี้ยงลูกให้เติบโตจนเลี้ยงตัวเองได้ ในกรณีที่เขาป่วยไข้ใครจะเป็นแรงงานทำแทนและจะต้องมีค่ารักษาพยาบาลประมาณเท่าไร และในยามแก่เฒ่าเขาจะได้ใครดูแล

คำถามต่าง ๆ ซึ่งมิได้จำกัดอยู่แค่ที่เอ่ยถึงนี้ควรจะต้องมีการค้นหาคำตอบนำโดยคนของพระราชา หากยังมิได้ทำ พรุ่งนี้เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มลงมือ