ดอกเบี้ยข้น คนกู้(ทรัพย์)จาง

ดอกเบี้ยข้น คนกู้(ทรัพย์)จาง

“ใครฆ่าประเสริฐ” อาจไม่สำคัญเท่า “ทำไมต้องขึ้นดอกเบี้ย” ในโลกการเงิน

สืบเนื่องจากล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มส่งเสียงสนับสนุนให้ “ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น” จนทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการโอดครวญขึ้นทันทีว่า “อะไร” กำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงินและ “ทำไม” ผู้กำหนดนโยบายการเงินไทยจำเป็นต้องส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้ด้วย

 ที่ครั้งนี้ดูซับซ้อนและชวนติดตามมากที่สุด ก็เพราะว่า “เงินเฟ้อ” ที่เคยเป็นประเด็นหลักในการตัดสินชะตาดอกเบี้ยดูจะไม่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเลย

 ล่าสุดเงินเฟ้อไทยเดือนก.ย.อยู่ที่ระดับ 1.33% และเงินเฟ้อพื้นฐานก็อยู่ต่ำเพียง 0.80% สองตัวเลขนี้ชี้ว่า มีแต่ราคาสินค้าพลังงาน (ที่เราควบคุมไม่ได้) ปรับตัวขึ้นมาได้ อีกทั้งกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ดีขึ้น และเศรษฐกิจก็ไม่ได้ฟื้นตัวดีจนสามารถตอบได้ว่า “พร้อม” กับดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว

 จึงตกมาที่เรื่อง “นโยบายการเงินสหรัฐที่เข้มงวด” กลับมาเป็นผู้ต้องสงสัยรายที่สอง แต่ทิศทางของค่าเงินบาท กลับไม่ได้ชี้ว่า ดอกเบี้ยมีความจำเป็นมากสำหรับประเทศไทย

 ในตลาดการเงิน คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ กระทบตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ค่าเงินอาร์เจนตินา ตุรกี แอฟริกาใต้ หรือในอาเซียน อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ต่างอ่อนค่าลง 10-50% ส่งผลให้ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเหล่านี้ “กดดัน” จนต้องขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ 1.5-20% เพื่อสกัดการอ่อนค่าของค่าเงิน

 แต่บ้านเราไม่เจอปัญหานี้ ด้วยเงินบาทที่อ่อนค่าลงเพียง 0.5% ตั้งแต่ต้นปี กลายเป็นสิ่งชี้ว่าไม่มีแรงกดดันจากแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐเหมือนประเทศอื่นในตลาดเกิดใหม่เลย

 เสถียรภาพทางการเงินดูจะเป็นผู้ต้องสงสัยที่มีความเป็นได้มากที่สุด

 เนื่องจากปัญหาการก่อหนี้ของครัวเรือน หรือพฤติกรรมการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไปเป็นปัญหาในสังคมไทยมาช้านาน ในที่สุดอาจต้องใช้การปรับสมดุลดอกเบี้ยเป็นตัวแก้ไข ติดอยู่เพียงเงื่อนไขเวลา เพราะเศรษฐกิจในประเทศพึ่งจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา ยิ่งถ้ามองจากมุมของธนาคารพาณิชย์ แปดเดือนแรกของปีนี้มีการขยายตัวของสินเชื่อเพียง 2.8% หนี้เสียก็มีทิศทางเพิ่มขึ้นตามการโตเศรษฐกิจ การขึ้นดอกเบี้ยดูไม่ส่งผลดีกับทั้งผู้กู้หรือผู้ปล่อยกู้

 การที่ประเด็นนี้จะเป็นผู้ร้ายได้ เราอาจต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ทำไมการขึ้นดอกเบี้ยควรเกิดทันที ทำไมไม่สามารถรอต่อไปได้แล้ว

 แต่สุดท้าย ผู้ต้องสงสัยที่ขาดไม่ได้ในละครสืบสวนเรื่องนี้ก็คือตัว กนง. เอง เพราะ “ความน่าเชื่อถือ” ก็มีความจำเป็นมากในปัจจุบัน

 เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ตั้งแต่ปี 2015 แล้ว แต่กนง.ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเลยตั้งแต่ปี 2011 เมื่อต้องทำอะไรที่ไม่ได้ทำบ่อย ความมั่นใจก็มักเป็นปัญหา ถ้าตัวผู้กำหนดนโยบายเองไม่มั่นใจ ตลาดก็จะสับสนและไม่เชื่อถือ

 กลับกัน เมื่อ กนง.ใช้ท่าทีแข็งขันมั่นใจ ก็ไม่ควรให้จบด้วยการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายถ้ามีแต่คำพูด แต่ขาดการกระทำ ก็ยากที่จะมีใครในตลาดการเงินเชื่อถือในระยะยาว

 ส่วนตัวผมเอง เมื่อมองในมุมตลาดการเงิน ก็เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ย และการปล่อยให้เงินบาทแข็งค่า แค่จังหวะอาจดูไม่เหมาะสม

 เพราะในที่สุด เราก็ต้องปรับสมดุลของเศรษฐกิจไทยให้พึ่งพาการส่งออกให้น้อยลง และส่งเสริมกำลังซื้อในประเทศให้เพิ่มขึ้น ติดเพียงว่าตอนนี้การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อาจไม่สำคัญเท่ากับการสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้เสียก่อน

 อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในตลาดการเงินและทิศทางของดอกเบี้ยไทย ก็อาจไม่ได้ต่างอะไรกับละคร เพราะแม้ว่าเราเฝ้าดูการไขคดีจากฝั่งไหนก็ตาม บทสรุปอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิดก็ได้ และคนดูอย่างเราก็ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนบทหรือไปกำกับละครเรื่องนี้แทนได้

 ทางที่ดีที่สุดจึงควรเตรียมรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ไว้ให้ดี เพราะเรื่องดราม่า หักมุม หรือสิ่งที่ไม่ควรเกิดก็เกิดขึ้นได้เสมอทั้งในละครและชีวิตจริง