สวรส.เสนอนวัตกรรมงานวิจัยแพทย์ ลดนำเข้า-ค่าใช้จ่ายในระบบสุข

สวรส.เสนอนวัตกรรมงานวิจัยแพทย์  ลดนำเข้า-ค่าใช้จ่ายในระบบสุข

ภารกิจของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในอีกบทบาทหนึ่งนอกเหนือไปจากการบริหารจัดการงานวิจัยแล้ว การผลักดันให้งานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์

ทางการแพทย์สาธารณสุข ยังมีความสำคัญ ทั้งการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบาย โดยส่งเสริมให้เกิดเป็นกฎหมาย มาตรการหรือแนวทางสำคัญของระบบสุขภาพ การผลักดันสู่เชิงพาณิชย์เพื่อลดการนำเข้าและค่าใช้จ่ายของประเทศ ตลอดจนการสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนหรือนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่นำมาเสนอในครั้งนี้ เช่น เครื่องมือช่วยวินิจฉัยและติดตามรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน การประเมินผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุเด็กเล็ก และเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มแรกสำหรับเด็กไทย ที่จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการปฏิรูปด้านสุขภาพของประเทศในอนาคต 

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาเครื่องมือช่วยวินิจฉัย คัดกรองและติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน อธิบายถึงที่มางานวิจัยชิ้นว่า “พาร์กินสัน” เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้มากกว่า 50% ในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ตรวจรักษา โดยมีการตรวจประเมินทางคลินิกร่วมกับการใช้แบบประเมินอาการที่เรียกว่า Unified Parkinson’s Disease Rating Scale (UPDRS) ที่ใช้ได้กับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น ทำให้ UPDRS ถูกจำกัดใช้อยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ทั้งยังพบว่ามีความคลาดเคลื่อนจากการให้คะแนนที่ไม่ตรงกันของผู้ประเมินอีกด้วย

โรคพาร์กินสัน นั้นมีอาการสั่นที่จำเพาะ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือในการตรวจวัดและวิเคราะห์อาการสั่นของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันขึ้น ประกอบด้วยชุดสัญญาณการเคลื่อนไหวที่สามารถบันทึก วิเคราะห์ แสดงผลสัญญาณในเชิงเวลา ความถี่การสั่น และค่าการสั่นในแกนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะที่ใช้งานง่าย ทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์โดยทั่วไปที่อาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ และใช้เวลาการตรวจที่สั้น ภายใน 10 นาที มีความปลอดภัยกับผู้ใช้ สามารถถ่ายโอนผลข้อมูลจากการวัดไปยังระบบจัดเก็บได้ง่าย 

สำหรับผลจากการทดสอบเครื่องมือฯ พบว่า สามารถใช้ประเมินลักษณะอาการสั่นได้อย่างแม่นยำ ช่วยแพทย์ผู้ทำการรักษาประเมินว่าอาการสั่นของผู้ป่วยนั้นมีความเป็นไปได้ของโรคพาร์กินสันนั้นมากน้อยเพียงใด และยังใช้ประเมินอาการทางการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆร่วมกับแบบประเมินมาตรฐาน UPDRS ได้อีกด้วย ลดความคลาดเคลื่อน โดยการตรวจวัดที่ให้ผลถูกต้อง รวดเร็ว การวินิจฉัยมีความแม่นยำขึ้น และไม่ทำให้หลงทางในการรักษา ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวได้มีการจดสิทธิบัตรในชื่อ ระบบคัดแยกโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติจากอาการสั่น

ส่วนโครงการวิจัยประเมินผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุเด็กเล็ก ที่มีศ.ดร.รวี เถียรไพศาล เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เผยว่า ปัญหาการมีฟันผุตั้งแต่วัยเด็กทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุและมีผลต่อเนื่องถึงฟันแท้ กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวเป็นการต่อยอดการศึกษา ติดตามผลของนมผงโพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 ป้องกันฟันผุในกลุ่มเด็กเล็กที่ยังไม่มีฟันผุหรือมีฟันผุเริ่มแรก โดยหาความถี่และระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับนมผสมโพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผลการศึกษาพบว่า การได้รับนมผง โพรไบโอติกมีผลในการป้องกันฟันผุเริ่มแรก คือ กลุ่มที่ได้นมโพรไบโอติกแบบต่อเนื่อง และกลุ่มที่ได้รับ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มีอัตราในการเกิดฟันผุใหม่และฟันผุลุกลามที่เคลือบฟันน้อยกว่ากลุ่มที่ได้นมไม่มีโพรไบโอติก ซึ่งการชะลอการเกิดฟันผุใหม่และการยับยั้งฟันผุลุกลาม ทำให้ฟันผุเริ่มแรกเปลี่ยนไปเป็นฟันปกติได้ ดังนั้นการได้รับนมโพรไบโอติกเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ มีความเพียงพอในการป้องกันฟันผุได้ ปัจจุบันโพรไบโอติกชนิด Lactobacillus paracasei SD1 ได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถป้องกันฟันผุได้ และมีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี โพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 แก่ บริษัท เกร็ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด และอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี Lactobacillus rhamnosus SD11 แก่ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด เพื่อผลิตขายภายในประเทศ”

ขณะที่โครงการพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มแรกสำหรับเด็กไทย ที่มี นพ.สมัย ศิริทองถาวร นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าโครง ชี้ว่า ภาวะออทิสซึม เป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ ในประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีเด็กประมาณ 3.7 แสนคนที่มีภาวะดังกล่าว แต่เข้าถึงการรักษาอยู่เพียง 15% หากเด็กได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยภาวะออทิสซึม ต้องวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลานานในการตรวจวินิจฉัย โดยการสังเกตอาการ พฤติกรรมที่ผิดปกติ ส่งผลให้เด็กเข้าสู่ระบบการรักษาช้า และบางส่วนหายไปจากระบบการติดตามประเมินจึงขาดความต่อเนื่องในการรักษา

งานวิจัยชิ้นนี้ จึงได้พัฒนาเครื่องมือประเมินเพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มต้นของเด็กไทย โดยนำผลในการประเมินทางพฤติกรรมด้านการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเล่น และพฤติกรรมซ้ำๆ กับผลการสังเกตุของผู้ปกครองด้านพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก มาใช้ร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งทำให้การวินิจฉัยแม่นยำ และรวดเร็วขึ้น ส่งผลดีเพื่อการบำบัดรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ปัจจุบันเครื่องมือนี้สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องมือในระบบคัดกรองพัฒนาการเด็กของกระทรวงสาธารณสุข และผ่านการทดสอบประสิทธิผลในการนำไปใช้ในพื้นที่จริง เทียบเคียงได้กับเครื่องมือในระดับนานาชาติ โดยมีราคาถูกกว่าเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญเป็นลิขสิทธิ์ของประเทศไทยจึงสามารถขยายผล และบุคลากรทางด้านจิตเวชเด็กสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ติดเงื่อนไขลิขสิทธิ์ทางปัญญา