ประมงไฮเทค (1)

ประมงไฮเทค (1)

โลกดิจิทัลได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมานานหลายปีแล้ว

ระหว่างที่เมืองไทยกำลังตื่นตัวเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น การจับคู่ของภาคธุรกิจกับอุตสาหกรรมไฮเทคจึงดูเป็นเรื่องปกติของบ้านเราในเวลานี้ เพราะในความเป็นจริงโลกดิจิทัลได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมานานหลายปีแล้ว

แต่สำหรับอุตสาหกรรมในระดับรากหญ้า การนำเอากระแสดิจิทัลมาใช้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ชาวสวน ชาวประมง ฯลฯ ดูจะเป็นเรื่องไกลเกินความเป็นจริง เพราะช่องว่างทางเทคโนโลยีที่มีอยู่ทำให้หาช่องทางในการนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยมาช่วยคนกลุ่มนี้ได้ยากเหลือเกิน

เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่นที่หมู่บ้านประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในอำเภอยามะกุจิ จังหวัดฮากิที่มีประชากรเพียง 700 ร้อยคนอาศัยอยู่ในบ้านราว ๆ 300 หลังคาเรือน ที่เคยมองไม่เห็นเช่นกันว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะมาช่วยแก้ปัญหารายได้น้อยของชาวประมงในอำเภอนี้ได้อย่างไร ความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มจากผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ชื่อว่า "ชิกะ ซึโบจิ" ที่ชีวิตไปได้ดีในฐานะนักเรียนญี่ปุ่นที่ไปร่ำเรียนไกลถึงออสเตรเลีย เพื่อเดินตามความฝันในการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ชิกะจึงร่ำเรียนจนใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว

แต่ความฝันของเธอก็ดูจะเป็นจริงไปไม่ได้เพราะชิกะตั้งครรภ์ระหว่างเรียนหนังสือที่นั่น จึงจำใจต้องกลับมาแต่งงานที่บ้านเกิด และหย่าร้างจนต้องกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หลังจากนั้นไม่นาน แม้ความฝันจะพังทะลายลง แต่เพื่อการอยู่รอดให้ได้ในชีวิตความจริง ชิกะจึงยอมทำงานทุกประเภทที่มีคนเปิดโอกาสให้ ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษา ชิกะจึงลงเอยด้วยการเป็นล่ามให้กับสำนักงานท่องเที่ยวในท้องถิ่นเพื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดตัวเอง

ชิกะเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัด มีหน้าที่แปลภาษาให้กับโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวในจังหวัด งานนี้ทำให้เธอได้พบปะพูดคุยกับคนท้องถิ่นมากมายหลากหลายอาชีพ ได้เห็นวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวเมืองยามะกุจิ ซิกะจึงรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ของชาวบ้านโดยเฉพาะชาวประมงเป็นอย่างดี เพราะปัญหารายได้ไม่พอกินนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จึงพากันทิ้งบ้านเกิดไปหางานทำในเมืองใหญ่ ทิ้งให้พ่อแม่กลายเป็นชาวประมงรุ่นเก่าที่มีอายุมากขึ้นทุกที ยิ่งไม่มีคนหนุ่มสาวมาทำงาน ชาวประมงที่มีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มชาชินกับปัญหา แม้ว่าชาวญี่ปุ่นจะนิยมบริโภคปลา ซึ่งคนไทยที่นิยมไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่นก็คงทราบกันดีว่า ซาซิมิหรือปลาดิบในญี่ปุ่นนั้นราคาแพงมาก เพราะราคาปลาที่ภัตตาคารแต่ละแห่งได้รับจากตัวแทนขายปลาที่เป็นยี่ปั้ว ซาปั้ว นั้นแพงต่อ ๆ กันมาเป็นทอด ๆ

แต่เงินที่ตกมาถึงชาวประมงจริง ๆ ที่ต้องใช้แรงงานในการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยนั้น กลับกลายเป็นเพียงเศษเงินน้อยนิดเมื่อเทียบกับปลาดิบราคาแพงที่ขายให้กับผู้บริโภคในภัตตาคารหรู ซึ่งชาวประมงต่างรู้ปัญหานี้ แต่ไม่มีคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มคนสาวที่จะมาช่วยปกป้องรักษาผลประโยชน์ จึงไม่มีใครคิดจะแก้ไข ได้แต่ก้มหน้ารับสภาพและทำงานไปอย่างไม่มีจุดหมาย

จนกระทั่งชิกะมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวประมงเหล่านี้ และต้องตกใจกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่มีใครแก้ไข แม้จะมีหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งกรมประมงและหน่วยงานส่งเสริมกิจการประมง แต่ทุกคนก็ได้แต่ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นนั่นคือปลาจากชาวประมงที่ต้องขายถูก ๆ ให้กับคนกลางหลายทอด มีการขนส่งต่อ ๆ กันไป พร้อม ๆ กับการบวกกำไรต่อกันไปเรื่อย ๆ จนถึงภัตตาคารและลูกค้า โดยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นระหว่างทางนี้ไม่เคยตกถึงชาวประมงที่เป็นต้นทางของอุตสาหกรรมประมงเลย 

แล้วเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทได้อย่างไร คงต้องติดตามต่อในฉบับหน้านะครับ