เปิดดินแดนภารตะ ผ่านนักศึกษาแลกเปลี่ยน วัฒนธรรม

เปิดดินแดนภารตะ ผ่านนักศึกษาแลกเปลี่ยน วัฒนธรรม

ในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย เชื่อว่าหลายคนมีความใฝ่ฝันที่จะไปใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนในต่างแดน เพราะนอกจากความรู้ที่จะได้จากการไปแลกเปลี่ยน

ยังได้ประสบการณ์มากมายที่หาไม่ได้จากการศึกษาเพียงแค่ในประเทศ นอกจากนี้ การตัดสินใจเลือกประเทศที่จะไปแลกเปลี่ยน ย่อมมีปัจจัยหลายข้อที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น ความมีชื่อเสียงของสถาบัน และสาขาที่ต้องการศึกษาต่อ ภาษาที่ใช้ในประเทศนั้นๆ ไปจนถึงความชอบส่วนตัวของแต่ละคน สำหรับประเทศที่คนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจไปแลกเปลี่ยนก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย หรือประเทศในแถบยุโรปอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รวมทั้งประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น 

ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างนักศึกษา ที่อาจเรียกได้ว่า ท้าทายชีวิตตัวเอง เพราะน้องเขาเลือกที่จะเชื่อว่า การไปแลกเปลี่ยนครั้งหนึ่งในชีวิต ก็ควรจะไปประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่เลือกไปกัน หนึ่งในประเทศที่เรียกได้ว่าท้าทาย และยังเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษา อีกทั้งค่าครองชีพก็ไม่สูงมาก นั่นก็คือ“อินเดีย”นั่นเอง

น.ส.พิมพ์พลอย พรมทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(PBIC) เป็นหนึ่งในนักศึกษาแลกเปลี่ยน หลักสูตรอินเดียศึกษาของพีบีไอซี ที่ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ดินแดนภารตะ เป็นเวลา 6 เดือน ตอนอยู่ปี 3 โดยพิมพ์พลอยได้แชร์ประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนที่อินเดียตลอดหนึ่งภาคการศึกษา ทั้งแง่มุมการเรียนที่มหาวิทยาลัยอินเดีย การใช้ชีวิต เรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวแบบUnseen รวมถึงเปิดเผยเรื่องราวที่คนไทยทั่วๆ ไป อาจไม่เคยรับรู้มาก่อน 

น้องพิมพ์พลอยได้ไปศึกษา ด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน(Journalism and Mass Communication) ที่มหาวิทยาลัยChandigarh รัฐปัญจาบ อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย มหาวิทยาลัยChandigarh เป็นสถาบันเอกชนอันดับต้นๆ ของอินเดีย การเรียนในสาขาวารสารศาสตร์ฯ ถือว่าเป็นสาขาวิชาที่ชาวอินเดียนิยม อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็มีความพร้อมในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ทั้งเครื่องมือ การเทียบโอนหน่วยกิต จากประเทศไทย ทั้งนี้ นักศึกษาต้องศึกษาเงื่อนไขวิชาและหลักสูตรต่างๆ ด้วย

ส่วนบรรยากาศของการเรียน ถือว่ามีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศอื่นมีจำนวนมากพอสมควร เช่น นักศึกษาจากจีน อินโดนีเซีย เนปาล ภูฏาน อัฟกานิสถาน แอฟริกาใต้ รวมถึงนักศึกษาไทยด้วย ทำให้ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านต่างๆ กับเพื่อนๆ จากหลากหลายวัฒนธรรม ส่วนการเรียนการสอนที่นี่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ก็มีเรียนวิชาภาษาฮินดี ซึ่งเป็นภาษาที่คนอินเดียส่วนใหญ่ใช้ในการศึกษา บางครั้งอาจารย์จะพูดทั้ง อังกฤษ-ฮินดี ผสมกัน...   ปัญหานี้ก็ต้องอาศัยเพื่อนๆ อินเเดียช่วยแปลให้ฟังบ้าง แต่โดยรวมแล้ว ถือว่าตื่นตัวมากกว่าบ้านเรา อย่างที่ทราบกันว่าเด็กอินเดียเป็นเด็กฉลาด หัวคิดดี เพราะทุกคนขยันค้นคว้า ซึ่งมาจากการที่เด็กอินเดียเลือกเรียนจาก Passion หรือที่่ตัวเองสนใจจริงๆ ทุกคนจึงกระตือรือร้นมาก เราต้องปรับตัวและขยันทำการบ้านมากกว่าเรียนที่ไทยหลายเท่าตัว 

 แต่สิ่งที่นักศึกษาอินเดียประทับใจในตัวของนักศึกษาไทยก็คือ ความมีอารมณ์ขัน อาจจะด้วยเรามีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ทำให้เวลาพูดคุยเรื่องต่างๆ เข้าใจกันได้ง่าย อีกทั้งเพื่อนๆ อินเดียยังชอบในความกล้าแสดงออก ความกล้าถกเถียงเมื่อมีความคิดที่แตกต่างจากอาจารย์หรือเพื่อนๆ ทำให้ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ซึ่งถือว่าเรื่องนี้ถือเป็นข้อดีติดตัวของเด็กธรรมศาสตร์แทบทุกคน

ส่วนการใช้ชีวิตที่อินเดียนั้น ถือว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด ยิ่งใน เมือง Chandigarh ที่ถือเป็นเมืองสะอาดที่สุดในอินเดีย แตกต่างจากภาพที่คิดไว้อย่างสิ้นเชิง เรื่องความปลอดภัยก็ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าจะเป็นผู้หญิงก็สามารถเดินทางคนเดียวได้อย่างปลอดภัย มีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการจนถึงประมาณตีหนึ่ง ถือเป็นตัวเลือกเมืองที่น่าสนใจ สำหรับคนที่อยากไปแลกเปลี่ยนหรือศึกษาต่อที่อินเดีย ที่สำคัญคือ คนอินเดียเป็นคนใจดีมาก และมีทัศนคติที่ดีต่อคนไทย ตอนแรกๆ เขาอาจจะยังไม่กล้าเข้ามาคุยกับเรา แต่ถ้าเราเข้าไปทำความรู้จักกับพวกเขาก่อน หลังจากนั้นเขาก็จะเข้ามาพูดคุยทักทายเราตลอด จนเรียกได้ว่ากลายเป็นเพื่อนสนิทกันเลยทีเดียว

ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ ขอเริ่มที่อาหารการกิน หลายคนคิดว่าถ้าไปอยู่อินเดียจะได้กินแต่อาหารที่มีแต่เครื่องเทศซึ่งก็ถือว่าอร่อย แต่ถ้าใครที่ไม่ชอบก็สามารถหาอาหารต่างชาติ อย่างพาสตา พิซซ่า ทานได้ทั่วไป อีกทั้งวัตถุดิบอาหารของอินเดียก็มีหลากหลาย ราคาไม่แพง อาหารไทยก็สามารถซื้อวัตถุดิบมาทำเองได้  ส่วนเรื่องการเดินทางที่ขึ้นชื่อว่าหฤโหด โดยเฉพาะรถไฟอินเดีย ก็ต้องขอให้ไปลอง เรียกได้ว่ามาถึงอินเดียจริงๆ ถือเป็นประสบการณ์ลุยๆ ที่จะเก็บเอาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะมีแต่รถไฟเท่านั้น ที่สำคัญคือราคาไม่แพง มีตั้งแต่รถเมล์ ไปจนถึงอูเบอร์ แต่ที่เป็นขนส่งสาธารณะที่ดูเป็นแบบท้องถิ่นอินเดียที่สุด ก็ต้องยกให้ Rickshaw ที่เหมือนกับรถตุ๊กตุ๊กบ้านเรา เป็นอีกยานพาหนะหนึ่งที่คนไปอินเดียต้องลอง

สถานที่ท่องเที่ยวที่มีหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ไปจนถึงแหล่งชอปปิง โดยขอเริ่มที่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีโอกาสได้ไปมา และคิดว่าคนทั่วไปน่าจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คือ เมือง Rishikesh รัฐUttarakhand ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ความน่าสนใจคือ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำคงคา ที่หลายคนรู้จักกันในฐานะของแลนด์มาร์คอินเดีย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความสกปรก เพราะรวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางน้ำของคนอินเดียทุกอย่างไว้ในแม่น้ำคงคา แต่แม่น้ำคงคาที่อยู่ใน เมืองRishikesh เป็นส่วนของตอนต้นแม่น้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลายา น้ำจึงใส สะอาด  

อีกทั้งเมืองนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งโยคะ เพราะกิจกรรมการเล่นโยคะถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมในเมืองนี้ การมาเที่ยวเมืองนี้เหมาะอย่างยิ่งกับคนชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบRafting Hiking สถานที่ท่องเที่ยวสุดคูลอีกแห่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้ในเมืองนี้ก็คือ The Beatles Ashram โดยมีเรื่องเล่าว่า ศิลปินชื่อดังระดับโลกอย่างThe Beatles เคยเดินทางมาแสวงหาความสงบที่เมืองนี้ จนมาเจอกับอาศรมที่หนึ่ง หลังจากนั้นหลายคนที่ชื่นชอบ The Beatles จึงเดินทางตามรอยมาที่อาศรมแห่งนี้ และฝากงานศิลปะบนผนังทิ้งไว้เป็นสัญลักษณ์เท่ๆ ที่นี้อีกด้วย

 " จริงๆ แล้วการใช้ชีวิตที่อินเดียมีความคล้ายกับการใช้ชีวิตที่ไทยมาก สิ่งหนึ่งที่มองว่าอินเดียดีกว่าไทยคือเรื่องการศึกษาที่เข้มข้น และเน้นปฏิบัติมากกว่า การมาแลกเปลี่ยนที่อินเดียจึงถือว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า ที่ได้มาเรียนในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษา และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างอินเดีย" พิมพ์พลอย กล่าวทิ้งทาย

 โดย... วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(PBIC)