เวลาการทำงานที่สั้นลง ชีวิตจะสุขมากขึ้น

เวลาการทำงานที่สั้นลง ชีวิตจะสุขมากขึ้น

ในยุคที่บุคลากรที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยที่องค์กรแต่ละแห่ง ต้องแย่งกัน แสวงหา และพยายามรักษาให้อยู่กับองค์กร นานๆ หลายๆ องค์กร

จึงเริ่มที่จะนำแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ มาใช้ เพื่อทำให้บุคลากรของตนเองมีความสุขในการทำงาน และอยากทำงานให้องค์กรนานยิ่งขึ้น วิธีการหนึ่งที่เริ่มกลับมาเป็นที่กล่าวขวัญกันมากขึ้น คือเรื่องของ Compressed Workweek หรือการลดวันทำงานในแต่ละสัปดาห์ลง เรื่องของ Compressed Workweek ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในระยะหลังเริ่มมีบริษัทต่างๆ ที่ทดลองนำระบบนี้มาใช้และพบว่าผลผลิต / ผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงานของพนักงานไม่ได้ลดลง แต่พนักงานกลับมีความสุขมากขึ้น

ที่มีข่าวออกมามากในระยะหลังจะเป็นกรณีการทดลองที่บริษัท Perpetual Guadian ประเทศนิวซีแลนด์ ที่ใช้เวลา 8 สัปดาห์ในการทดลอง ให้พนักงานทั้งบริษัทหยุดเพิ่มสัปดาห์ละวัน โดยที่เงินเดือนและผลตอบแทนต่างๆ เท่าเดิม จากนั้นก็ให้มหาวิทยาลัยของนิวซีแลนด์ทำการสำรวจถึงผลที่ได้รับจากการทดลองดังกล่าว ซึ่งพบว่าผลผลิตการทำงานเปรียบเทียบระหว่างก่อนและระหว่างการทดลองไม่ได้มีการลดลงแต่อย่างใด แต่ความเครียดของพนักงานลดน้อยลง ขณะที่ปัจจัยเรื่อง work-life balance ดีขึ้น นอกจากนี้ระดับความผูกพัน (Satisfaction) และความพอใจในการทำงานของพนักงานก็สูงขึ้นไปด้วย

ขณะเดียวกันมีการสำรวจในอเมริกา พบว่าพนักงานในปัจจุบันจะรู้สึกถูกจูงใจได้ด้วยปัจจัยที่ไม่ใช่เงินเพียงอย่างเดียว แต่ที่อยากได้คือความสามารถที่จะควบคุมเวลาในการทำงานของตนเอง จากการสำรวจดังกล่าวยังพบด้วยว่า ถ้าลดจำนวนวันในการทำงานให้น้อยลง โดยเพิ่มจำนวนเวลาในการทำงานในวันที่เหลือแทน (ทำงานสัปดาห์ละ 4 วันๆ ละ 10 ชั่วโมง) จะนำไปสู่ผลผลิตในการทำงานที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในเชิงมหภาคระดับประเทศ ที่แสดงให้เห็นว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ไม่ได้นำไปสู่ผลผลิตที่ดีขึ้นแต่อย่างใด มีรายงานว่าประเทศอย่างเกาหลี หรือ ญี่ปุ่น ซึ่งมีวัฒนธรรมของชั่วโมงในการทำงานที่ยาวนาน แต่ผลผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งวัดโดย GDP ต่อชั่วโมงการทำงาน กลับอยู่ในระดับล่างๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานที่สั้นกว่า

มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายว่าทำไม การลดชั่วโมงการทำงานกลับเป็นไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตที่เกิดขึ้น ตั้งแต่กฎของ Parkinson ที่ระบุไว้ว่างานจะขยายจนครบตามเวลาที่มีอยู่ (work expands to fill the time available for its completion) ดังนั้นยิ่งมีเวลาในการทำงานมากเท่าไร ก็สามารถที่จะยืดงานที่ต้องทำให้เต็มตามเวลาที่มี ขณะเดียวกันถ้ามีชั่วโมงหรือเวลาในการทำงานที่น้อยลง พนักงานก็จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งใจ และ รวดเร็วขึ้น เพื่อให้งานเสร็จตามเวลาที่มี โดยไม่เอ้อ ระเหย ลอยชาย เหมือนกรณีที่มีเวลาเยอะๆ

บางทฤษฎีก็พยายามอธิบายว่าเมื่อพนักงานสามารถที่จะควบคุมเวลาของตนเองได้ พนักงานก็จะมีความสุขมากขึ้น ความสุขของพนักงานจะนำไปสู่ผลผลิตที่ดีขึ้น และความภักดีต่อองค์กรที่มากขึ้น ลองสังเกตดูผู้บริหารจำนวนมากที่เวลาในชีวิตอยู่ภายใต้การจัดการของเลขาหรือผู้ช่วยผู้บริหารดูซิครับ จะพบว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่สามารถบริหารจัดการเวลาของตนเองได้ คนแบบไหนจะมีความสุขมากกว่ากัน?

นอกเหนือจาก Compressed Workweek แล้ว ก็มีบริษัทในอเมริกาที่เริ่มนำเรื่องของ Compressed Workday มาใช้ นั้นคือ แทนที่จะทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกวัน พนักงานทุกคนจะทำงานเพียง 8.00 - 13.00 เป็นเวลา 4 เดือน ในฤดูที่อากาศดี เพื่อให้พนักงานสามารถใช้เวลาที่เหลือของวันไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ตนเองต้องการได้

อย่างไรก็ดี ใช่ว่า Compressed Workweek / Workday จะใช้ได้ในทุกกรณี เพราะจะต้องพิจารณาเลือกลักษณะของงาน และ ขององค์กรที่เหมาะสมด้วย อีกทั้งยังจะต้องปรับให้เหมาะกับลักษณะของงานด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแบบใด สิ่งหนึ่งที่แน่นอนและแน่ใจได้คือ ชั่วโมงการทำงานที่สั้นนั้นย่อมดีกว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวแน่ๆ